top of page
312345.jpg

สรรพากรลั่น! หายตัวได้ก็ไม่รอด...ผู้มีรายได้/ร้านออนไลน์ ถึงเวลายื่นเสียภาษี


นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า การเสียภาษีของผู้มีเงินได้ ถือเป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้ในการประกอบธุรกิจหรือทำงานในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีจากเงินได้ของตนเอง โดยช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนมากเริ่มจะทำเรื่องยื่นภาษีเข้ามา กรมสรรพากรอำนวยความสะดวกด้วยการขยายเวลาเสียภาษี โดยในวันธรรมดามีการขยายเวลาให้ยื่นภาษีตามกรมสรรพากรในพื้นที่กรุงเทพฯเปิดให้บริการถึงเวลา 19.00 น. ส่วนวันเสาร์เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 16.30 น.

“ขณะที่สัดส่วนผู้มีรายได้ที่ใช้บริการโดยยื่นเสียภาษีผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตนั้น ขณะนี้มีสัดส่วนถึง 90% แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่มีการทำภาษีที่บ้านแล้วยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตเลย ไม่ต้องกลัวเรื่องตัวเลขจะผิด เพราะเครื่องจะมีการอำนวยความสะดวกโดยมีการคำนวณให้พร้อม” นายประสงค์กล่าวและแนะนำเรื่องที่ต้องระวังในการคำนวณภาษี คือสิทธิของเราไม่ว่าจะหักเรื่องค่าใช้จ่าย หากยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต เราก็มีการคำนวณให้พร้อม อย่างค่าใช้จ่ายช็อปช่วยชาติก็สามารถกรอกได้เลย แล้วเก็บหลักฐานไว้ ใช้สิทธิตามกฎหมายได้ครบ ตรงนี้คือภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดา ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ตอนนี้ก็เริ่มยื่นได้จนถึงเดือนพฤษภาคมนี้

“สำหรับผู้ที่มีเงินได้ การยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตดังกล่าว สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากทางด้านไอทีที่มีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้สามารถตรวจสอบได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การยื่นภาษีโดยผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตนั้น หากในรายที่มีการกรอกข้อมูลผิดพลาด ก็สามารถยื่นแบบปรับปรุงเพิ่มเติมได้ ซึ่งการยื่นลักษณะนี้ จะไม่มียอดปรับ แต่ถ้าพ้นเดือนมีนาคมนี้ไปแล้วก็ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยที่ปัจจุบันจะมีเรื่องที่จะนำมาหักลดหย่อนภาษี อาทิ ประกันชีวิต หรือลงทุนในกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุน RMF และ LTF ก็ต้องระวังว่าใช้สิทธิอยู่ในกรอบของกรมสรรพากร คือกรมสรรพากรให้ 15% คือไม่เกิน 5 แสนบาท และบางคนยังไม่ครบอย่ารีบไปถอน ต้องใช้สิทธิ์ให้ครบ คือต้องถือไว้ 5 ปี ก็จะเสียสิทธิ์ย้อนหลังไปเลยต้องระวัง ในสูตรคำนวณทางอินเทอร์เน็ต จะมีให้อยู่แล้ว เรามีการอำนวยความสะดวกให้แม้กระทั่งว่าถ้าได้รับเงินปันผล หรือได้รับอะไรต่างๆ ก็จะมีการคิดคำนวณให้ตามที่เรารวบรวมลิงก์มา หรือเงินประกันบางส่วน หรือบางแห่งที่เขาให้ความร่วมมือในการยื่นหนังสือแล้วก็สามารถลิงก์มาได้”

อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่าในปีที่แล้วมีการยื่นขอคืนเงินภาษี โดยยื่นผ่านพร้อมเพย์ในสัดส่วน 60% สำหรับปีนี้มีการยื่นผ่านพร้อมเพย์แล้วถึง 80% และในการคืนเงินภาษีปีนี้ก็จะสูงกว่าปีที่แล้ว แต่ปัญหามันจะเกิดขึ้นอยู่ที่ถ้าเรายื่นตั้งแต่ต้นปีคือตั้งแต่เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์จะได้รับเงินคืนเร็ว แต่พอมาแออัดในช่วงหลังจากนั้นจะทำให้ความสะดวกของผู้ยื่นลดลงบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรก็จะคืนเงินภาษีภายในเวลาที่กำหนดคือเดือนมิถุนายน

“การจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2561 เราจัดเก็บภาษีได้มากกว่าปีที่ผ่านมา ถึงตอนนี้เราเก็บได้แล้วประมาณ 7 แสนล้านบาท ยอดขาดไปประมาณกว่า 2 พันล้านบาทเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ตัวที่กระทบคือเรื่องเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้เราเสียหายไปประมาณ 8 พันล้านบาท ถือว่ารายได้ภาพรวมของประเทศไม่มีปัญหา ซึ่งเราจัดเก็บได้ทั้งจากรัฐวิสาหกิจ ทั้งจากกรมชลประทานต่างๆ และรายได้จากทางอื่นๆ” นายประสงค์กล่าวและเปิดเผยการเก็บภาษีการค้าออนไลน์ว่า การค้าออนไลน์ ก็เหมือนการค้าที่เป็นร้านค้า โดยไม่ต้องไปเช่าร้านค้าขายสินค้า สมมุติว่าขายหนังสือ และเสื้อผ้า ถ้าเป็นร้านค้าขายเสื้อผ้า จะต้องมีเสื้อผ้าอยู่ในร้านแล้วคนมาซื้อ แต่กรณีนี้ผู้ค้ามีข้อมูลสินค้าอยู่บนเว็บไซต์ คนก็จะมาเลือกซื้อ เป็นการทำธุรกิจซื้อ/ขายที่บ้านเพียงแต่เอารูปสินค้าลงเว็บไซต์เท่านั้น ส่วนอีกรายโชว์สินค้าที่ร้าน หลักการเสียภาษีก็จะเหมือนกันเนื่องจากอีกคนเปิดร้านบนเว็บไซต์ ขณะที่อีกคนเปิดร้านอยู่ในร้านค้า ดังนั้นหน้าที่เสียภาษีจึงเหมือนกันและเท่ากัน

“สิ่งที่เป็นห่วงทุกวันนี้ก็คือ ร้านค้าออนไลน์ที่ทำอยู่ในประเทศไทยส่วนมากบอกว่ากลัวการเสียภาษี ทั้งๆ ที่เขาคิดว่าตรงนี้ไม่น่าจะเสียภาษี นึกว่าจะไม่มีข้อมูลที่สรรพากรตามมาเก็บได้ ซึ่งจริงๆ มีข้อมูลสามารถตามมาเก็บได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือพอสรรพากรตามเก็บ ผู้ค้าพยายามปิดหน้าจอเว็บไซต์ แล้วไปเปิดหน้าจอใหม่ เปิดบัญชีใหม่ เปลี่ยนชื่อร้านใหม่ ตรงนี้ถือว่าทำร้ายตัวเอง เขาจะไม่มีโอกาสโต เหมือนร้านค้าที่เปิดอยู่แล้วจากที่ลูกค้าติด พอสรรพากรมาแล้วปิดร้าน แล้วไปหาเช่าเปิดที่ใหม่ ตรงนี้ถือว่าทำลายโอกาสตัวเอง ซึ่งภาษีจะเก็บต่อเมื่อมีกำไร และหากไม่มีกำไรแล้ว อัตราที่เก็บจะไม่สูง และโดยทั่วไปร้านค้าออนไลน์ ยอดขายไม่ได้สูงมากมาย เมื่อหักต้นทุนแล้ว เสียอัตราภาษีถ้าเป็นนิติบุคคล เอสเอ็มอี มีกำไร 1.5 แสนบาทแรกไม่ต้องเสีย ส่วนที่เกินไปเสีย 10% ก่อน และ 15% แล้วค่อยถึงสูงสุดที่กำไร 3 ล้านบาท ค่อยเสียที่ 20% ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องปิดร้านเพื่อกลัวการเสียภาษี เพราะถ้าสินค้าดี ลูกค้าก็จะมาซื้อ ทำให้เราโตได้ไม่ต้องหนีไปหนีมา และอาจจะเสี่ยงคดีอาญาตามมาด้วย”

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดจากการที่รัฐบาลพยายามผลักดัน ดังนั้นการจ่ายเงินก็ผ่านหลายช่องทาง ตรงนี้อาจจะมีการหลีกเลี่ยงภาษีได้ง่ายหรือไม่นั้น นายประสงค์กล่าวว่าโดยทั่วไปหลักการทุกอย่างต้องผ่านระบบแบงก์หรือนอนแบงก์ ทุกอย่างจะมีที่มาที่ไป ซึ่งอย่างไรก็หลบไม่พ้น และมีความเสี่ยงจากที่ต้องหลบไปหลบมา ขณะเดียวกัน การเสียภาษีเป็นเรื่องที่ทุกคนทำด้วยกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและตัวเองในการที่จะให้ประเทศพัฒนาไป ดังนั้นอย่าหลบเลี่ยงการเสียภาษีเพราะสุดท้ายอาจจะไม่ได้ทำการค้า และเสียโอกาสไป

ส่วนกรณีคริปโตเคอเรนซี หรือเงินสกุลดิจิทัล ที่จะมีการจัดเก็บภาษีด้วยนั้น นายประสงค์กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องอยู่กฤษฎีกาที่กำลังร่างกฎหมายอยู่ ก่อนผ่านครม.ออกเป็นพ.ร.ก. ซึ่งหากแก้ไขเรียบร้อย คงนำเสนอกราบทูล และเมื่อโปรดเกล้าแล้ว ก็จะออกเป็นพระราชกำหนด

“ตามหลักการในภาพรวมเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเปิดบริษัทแล้วขายเป็นคริปโตเคอเรนซีไป เวลาขายก็เหมือนกับขายสินค้า เมื่อได้รับไป เจ้าของบริษัทที่เดินเข้ามาเมื่อให้คริปโตเคอเรนซีไปแล้วคือไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คือไม่ต้องรับผิดชอบว่าต้องจ่ายคืน ไม่ใช่หนี้สิน ขณะเดียวกัน เขาไม่ได้มาร่วมทุนด้วย ก็ไม่ใช่ทุน ดังนั้น มันคือรายได้ก็ต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน”

85 views
bottom of page