top of page
312345.jpg

FED ขึ้นดอกเบี้ยแน่...เตือนนักลงทุน ระวังกระแสเงินทุนโลกเปลี่ยนทิศ


ผ่าตลาดเงิน-ตลาดทุน-ตลาดหุ้นมะกันหลังผ่านพายุวิกฤตหุ้นตกหนัก Correction เดือนกุมภาพันธ์ 2018 “ดร.ตีรณ” ฟันธง 20-21 มีนาคม FED ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง มองทั้งปี FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยแค่ 2-3 ครั้งเท่านั้น เตือนนักลงทุน-นักธุรกิจระวังกระแสเงินทุนโลกเปลี่ยนทิศทางตามการรีบาวด์แข็งค่าเงินดอลลาร์ภายใน 1-2 ปี มีความเป็นไปได้สูง ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยปรับขึ้นยากมาก เพราะสูงอยู่แล้วตลอดทั้งปี 2561 ธปท.ไม่กล้าปรับ ให้ระวังกระแสเงินทุนโลกเปลี่ยนทิศทางไม่เข้าตลาดเงิน-ตลาดพันธบัตรไทยให้ผลตอบแทนน้อยกว่า น่าสนใจน้อยกว่าตลาดโลก-สหรัฐอเมริกา ขณะที่ตลาดหุ้นไม่มีบริษัทไทยน่าสน

ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้น ตลาดแรงงานค่อนข้างตึงตัวและเมื่อเกิดภาวะตึงตัวการคาดคะเนเรื่องเงินเฟ้อก็จะตามมา เพราะมองว่าถ้าต้นทุนแรงงานสูงขึ้นราคาสินค้าน่าจะสูงขึ้นตาม อีกเรื่อง Fed เริ่มลด QE ทำให้สภาพคล่องลดลงจะเป็นแรงกดดันตลาดพันธบัตรเริ่มให้ผลตอบแทนสูงขึ้น คาดว่าจะช่วยให้มาเร็วกว่าที่คาดการณ์หรือไม่ซึ่งตลาดเริ่มมีความกังวล แต่เฟดยังคงยืนยันแนวทางเดิม คือ ถ้าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ต้องปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คงไม่ได้มีการปรับขึ้นแบบล้ำหน้าโดยยังคงมีการปรับขึ้นแบบตามหลังซักระยะหนึ่ง

“ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า Fed จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ แต่คิดว่าเป็นการประเมินสูงไปนิดหน่อย เพราะอัตราเงินเฟ้อไม่จำเป็นต้องตามอัตราค่าจ้าง ถ้ามีการปรับตามอัตราค่าจ้างไปแต่ราคาสินค้ายังมีปัญหาเรื่องกำลังการผลิตเกินอยู่การจะไปปรับขึ้นราคาสินค้าคงทำไม่ง่าย ส่วนปัญหาหนี้สินยังไม่ลดลงมากเท่าที่ควรทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะไม่เร็วอย่างที่กังวล แต่ในเดือนมีนาคมค่อนข้างชัดเจนที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะสถานการณ์ต่างๆเป็นใจว่าควรปรับขึ้นดีกว่าจะไม่ทำการปรับขึ้น โดยการปรับขึ้นเผื่อไว้ก็ยังเป็นการดีเพราะหากไม่ปรับขึ้นเลยแล้วสถานการณ์ไม่เป็นไปตามคาดก็จะทำให้การปรับอัตราดอกเบี้ยไม่ทัน และคิดว่าตลาดน่าจะมองแบบนั้นว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงวันที่20-21 มีนาคม ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง” ศ.ดร.ตีรณกล่าวและพูดถึงผลการประชุม Red Minutes ของ Rome ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา จะมีผลต่อนโยบายการเงินของไทยในการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นนั้น

“ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยค่อนข้างสูงอยู่แล้วถ้าเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมาก ถือว่าค่อนข้างสมดุลกัน เพราะฉะนั้นการจะปรับขึ้นถือว่ามีโอกาสน้อยและปัญหาภาระหนี้สินของ OEM ยังมีสูง โอกาสที่จะปรับขึ้นตามสหรัฐอเมริกาคงทำได้ยาก ที่น่าเป็นห่วง คือ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ถ้ามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยตามสหรัฐอเมริกาก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหา โอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงยาก ตลอดทั้งปีนี้คงจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลย อย่างมากหากสถานการณ์พลิกผันจริงก็อาจจะเป็นช่วงปลายปีแต่โอกาสของความพลิกผันยังมีน้อย”

ศ.ดร.ตีรณมองว่าขณะนี้ค่าเงินบาทไทยยังอิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาค่อนข้างมากแต่ถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกาแบบตัวต่อตัว ถ้าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงค่าเงินบาทก็จะแข็งขึ้นมานิดหน่อย แต่ขณะนี้สหรัฐอเมริกามีปัญหาทางการเมือง ปัญหาความเชื่อมั่นต่างๆยังคงมีอยู่ แต่แรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยพันธบัตรยังมีไม่มากนัก โอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะรีบาวด์คงยังไม่เร็ว หากให้ประเมินค่าเงินบาทคิดว่าคงปรับลงได้อีกเล็กน้อย แต่ช่วงปลายปีก็จะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ต้องรอดูอีกทีเพราะค่าเงินสหรัฐฯทำนายยากมากโดยจะมีการรีบาวด์ได้ในปีนี้หรือไม่ แต่โอกาสที่จะรีบาวด์ภายใน 1-2 ปีนี้มีค่อนข้างสูง ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ คนที่เป็นนักลงทุนก็ต้องระมัดระวังเพราะทุกครั้งที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากโดยเฉพาะมาจากอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลให้กระแสเงินทุนของโลกเปลี่ยนทิศทางได้ก็ต้องติดตามกันให้ดี เพราะการทำนายค่าเงินเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่อัตราดอกเบี้ยทายไม่ยาก คิดว่ากระแสขณะนี้เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งยังเร็วไป เพราะคิดว่าคงไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึง 4 ครั้ง คิดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2-3 ครั้งก็ถือว่าดีแล้ว

“ตลาดหุ้นอเมริกาในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีคอร์เรคชั่น ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพสูงมากไม่เหมือนตลาดหุ้นที่อื่นที่มีความผันผวนสูงมาก ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นต่อเนื่องและคอร์เรคชั่นเกิดขึ้นน้อยมาก สิ่งนี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า P/E เริ่มสูงแล้ว ก็เป็นปัญหาว่านักลงทุนจำนวนหนึ่งไม่กล้าที่จะเข้าและเผื่อที่จะคอร์เรคชั่นไว้ คิดว่าอย่างมากที่ผ่านมาบางบริษัทคอร์เรคชั่นไปแล้วอย่างมากก็จะเกิดอีกรอบและคงไม่แน่ว่าจะเกิดอีกหรือไม่ ถ้าจะเกิดอาจมีเพียง 5-10% แต่คิดว่าโอกาสกลับมามีสูงขึ้นเนื่องจากปัจจัยเอื้ออำนวยของสหรัฐอเมริกาอย่างเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีทิศทางที่แข็งแกร่งขึ้น รายได้ของบริษัทต่างๆในตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาขณะนี้ปรับขึ้นมาพอสมควร ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ถือว่าช่วงนี้นักลงทุนต้องทำการกระจายพอร์ตของตัวเองว่ามีพอร์ตตัวไหนที่มีความเสี่ยงถือว่าเป็นการปรับพอร์ตกระจายความเสี่ยง ก็เป็นช่วงที่ดีสำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินทรัพย์ที่ลงทุน คิดว่าโอกาสที่จะขึ้นมีมากกว่าที่จะลง”

สำหรับเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ไป ศ.ดร.ตีรณมองว่ามีกระแสเงินทุนเข้าไทยในตลาดพันธบัตร แต่เงินก้อนที่จะเข้ามาอีกโอกาสจะมียาก เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาหรือในตลาดโลกเริ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นพรีเมียมที่มีอยู่เริ่มลดลงทำให้เข้ามายากในส่วนนี้ ขณะที่ตลาดทุนเข้ามายากอยู่แล้วเพราะว่าตลาดทุนในไทยไม่มีบริษัทไทยที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติหรือถ้ามีก็มีน้อยมาก อีกเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมคิดว่ายังไม่แข็งแรง หากดูเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแรงน้อยมาก การเติบโตของภาคการลงทุนและการบริโภคอ่อนแอมาก มีการเติบโตเพียง 2-3% ถือว่าแย่มาก ส่วนที่ยังจะดีต่อไป คือ การส่งออก แต่การส่งออกยังดีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เพราะว่าสินค้าไทยมีปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งมากทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะฉะนั้นถ้าดูแล้วตัวที่จะฟื้นในสถานการณ์ที่ดีก็ยังฟื้นเหมือนคนอื่น ส่วนที่เป็นภัยก็เปราะบางมาก คิดว่าเศรษฐกิจไทยไปได้แบบเรื่อยๆ

“เมื่อเทียบหุ้นไทยกับทั่วโลกถือว่าต่ำ แต่ก็ต่ำตามสภาพเหตุผลที่ควรจะปรับ เนื่องจากรายได้บริษัทยังไม่มีและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล้มเหลว ทำให้ไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ แม้ว่าจะเดินหน้าไปได้แต่ก็เป็นแบบระยะสั้นแล้วก็แผ่วลง นับว่าเป็นปัญหากับนักลงทุนที่จะต้องมองการลงทุนในกรอบของโลกไม่ใช่กรอบการลงทุนในไทย”

96 views
bottom of page