top of page
312345.jpg

คุมเข้ม E-Commerce...หวั่นเป็นการขัดขวางมากกว่าส่งเสริม เมื่อถูกเหมารวมกับธุรกิจการตลาดแบบตรง


ผู้ค้า E-Commerce เมืองไทยผวากติกา/กฎกระทรวงใหม่ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อ/ขายสินค้าหรือบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ หวั่นเป็นการทำลาย ขัดขวางมากกว่าส่งเสริมเมื่อถูกเหมารวมกับธุรกิจการตลาดแบบตรง แตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ ไม่ทำแบบเหมาเข่ง ตีแผ่ธุรกิจ E-Commerce ในเมืองไทยมีเป็นล้านรายแต่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์แค่ 4-5 หมื่นราย เพราะกลัวเรื่องภาษี/ต้องแจงที่มารายได้กับทางการ และการจดทะเบียนมีขั้นตอนยุ่งยาก แตกต่างจากหลายประเทศ ยกเว้นจีนชาติเดียว ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติธุรกิจ E-Commerce ต้องสะดวก รวดเร็ว ง่ายดาย เปิดอินเทอร์เน็ตปุ๊บ ต้องซื้อ/ขายกันเลย ถึงใช่!

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า จากกรณีมติครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถือว่าเป็นการตลาดแบบตรงนั้น โดยที่การค้าขายผ่านออนไลน์ในปัจจุบันมี 2 แบบ ได้แก่ การออกพระราชบัญญัติการขายตรง และ การตลาดแบบตรง ทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันตรงที่การตลาดขายตรงมีตัวแทนขาย มีเจ้าของสินค้านำสินค้ามาขายผ่านตัวแทน หากเป็นธุรกิจเครือข่ายถือว่าเป็นธุรกิจขายตรง แต่การทำตลาดแบบตรงมีลักษณะคล้ายกันแบบทีวีชอปปิ้ง สามารถซื้อสินค้าผ่านทีวี ซึ่งเป็นการขายแบบตรงสู่ผู้บริโภค ไม่มีตัวแทนขายผ่านตามห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะฉะนั้นการขายตรงกับการขายตลาดแบบตรงก็จะมีความเสี่ยงเหมือนกัน ในแง่ของสินค้าและบริการสามารถทำตรงไปที่ผู้บริโภคได้เลย ที่ผ่านมามีปัญหาบ้างแต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีอินเทอร์เน็ตเพราะคนเริ่มให้นิยามการขายของผ่านอี-คอมเมิร์ซหรือการขายผ่านอินเทอร์เน็ตว่าเป็นการขายตลาดแบบตรง

ทั้งนี้การขายสินค้าออนไลน์เริ่มมีการขายโกงกันหรือขายของแบบไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลทำให้ภาครัฐเริ่มกังวลจึงได้ออกกฎหมายมาเพื่อมารองรับแบบนี้โดยตรง โดยกฎหมายที่ออกมาในตอนนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ซึ่งกฎหมายที่ออกมามีเกณฑ์ที่ชัดเจน ขณะที่กฎหมายออกมามีผลดีและมีผลกระทบกับคนบางกลุ่ม อย่างกฎหมายที่เขียนไว้ว่าการขายของมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีก็ไม่ต้องจดทะเบียนธุรกิจ แต่ถ้าเป็นธุรกิจขายตรงมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี ต้องมีการวางหลักประกัน 25,000 บาท แต่ถ้ามีรายได้เกิน 100 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ต้องมีเงินวางหลักประกัน 200,000 บาท แบบนี้คือธุรกิจการขายตรง อย่างสมัยก่อนเมื่อมีการจดทะเบียนพาณิชย์ก็จะสามารถขายได้ทันทีแต่ปัจจุบันไม่สามารถทำได้แล้วเพราะต้องมีเงินหลักประกันมาวางก่อน

ส่วนถ้าเป็นธุรกิจการตลาดแบบตรงซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการขายผ่านอินเทอร์เน็ต หากเป็นบุคคลธรรมดามีรายได้ไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี ต้องมีหลักประกัน 5,000 บาท ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนบริษัทหากมีรายได้ไม่กิน 25 ล้านบาทต่อปี ต้องมีหลักประกัน 5,000 บาทเช่นกัน แต่ถ้าเป็นบริษัทมีรายได้เกิน 100 ล้านบาทต่อปี ต้องมีหลักประกัน 200,000 บาท คือ กฎหมายตัวนี้จะเข้ามาช่วย SME ขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีจะไม่นำเรื่องการเสียภาษีมาใช้ แต่ถ้าหากขายของแล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อเสียภาษีตามปกติ แต่ถ้าธุรกิจมีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทก็ไม่ต้องมาจดการเสียภาษีทั้งขายตรงหรือการตลาดขายตรง หากรายได้เกินข้อกำหนดต้องเริ่มมีขั้นตอนอย่างการวางเงินมัดจำ

“การร่างกฎกระทรวงฯ นี้ ถือว่าเป็นการขัดขวางการทำ E-Commerce เพราะในประเทศอื่น E-Commerce ไม่ได้ถูกนำเข้าไปรวมกับธุรกิจการตลาดแบบตรง อย่างคนที่ทำตลาด E-Commerce มาเป็น 10 ปี ก็ไม่เคยคิดว่าเป็นการตลาดแบบตรง อยู่มาวันหนึ่งสคบ.มาบอกว่า E-Commerceให้เป็นการตลาดแบบตรงและต้องมาจดทะเบียนพาณิชย์ อย่างบริษัทตลาดดอทคอม ยังไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้เลยตอนนี้ และในหลายธุรกิจ E-Commerceในไทยก็ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์แบบนี้เช่นกัน พอมีการจดทะเบียนพาณิชย์แบบนี้เกิดขึ้นแน่นอนว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการบางกลุ่ม เพราะกลัวว่าเมื่อจดทะเบียนพาณิชย์แล้วต้องไปชี้แจงภาษีกับรัฐและสรรพกรจะเข้ามาตรวจสอบทำให้คนมองว่าไม่จดทะเบียนพาณิชย์น่าจะดีกว่า หรือบางคนมองว่าไทยยุ่งยากไปจดทะเบียนพาณิชย์ในต่างประเทศส่งผลถึงเม็ดเงินที่จะเข้ามาในไทยได้หายไปเช่นกัน ในแง่ของผู้บริโภคอาจจะดูว่าดีเพราะมีตัวตนหรือมีเงินค้ำประกัน แต่ในฝั่งของเจ้าของกิจการอาจดูยุ่งยากมากและอาจจะทำให้ผู้ประกอบการหลายคนกลัวและไม่อยากเข้าสู่ระบบ” นายภาวุธกล่าว

“การค้าออนไลน์มีการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเรามีคนทำ E-Commerce ในเมืองไทยเป็นล้านคน แต่มีคนจดทะเบียนประมาณ 40,000-50,000 คน ไม่ค่อยมีคนอยากจดทะเบียน ส่วนคนที่เป็นเจ้าของกิจการไม่อยากจดทะเบียนพาณิชย์ คือ 1.คนกลัวเรื่องภาษี และ 2.ขั้นตอนการจดทะเบียนยุ่งยากเพราะต้องไปทำที่หน่วยงานราชการและมีขั้นตอนเยอะ ถ้าเป็นออนไลน์น่าจะจดทะเบียนแบบออนไลน์น่าจะดีกว่า ภาครัฐก็รู้ตัวว่าจะมีการวางแผนให้มีการจดทะเบียนออนไลน์ได้ซึ่งจะทำให้ง่าย แต่ถ้าดูจากหลายประเทศทั่วโลกไม่มีประเทศไหนทำแบบนี้ยกเว้นประเทศจีน แต่การซื้อขายใน E-Commerce จะขายกันเลย เช่น เปิดเฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรมก็ลงขายกันเลย บางทีคนเหล่านั้นไม่รู้ว่าการขายแบบนี้มีขั้นตอนการจดทะเบียนด้วย ทุกคนอยากทำถูกต้องเพียงแต่ขั้นตอนที่ทำยุ่งยากและลำบาก การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐยังไม่ดีเท่าที่ควรอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม นายภาวุธกล่าวว่า การจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อเสียภาษีไม่ได้น่ากลัวสำหรับคนที่ตั้งใจจะจดทะเบียน แต่คนที่ไม่ตั้งใจจดทะเบียนพาณิชย์น่ากลัวกว่าเพราะบางคนมียอดขายปีละ 20-50 ล้านบาท แต่ไม่ได้นำการจดทะเบียนพาณิชย์ไปเป็นต้นทุนธุรกิจ ทำให้ขายของแล้วมีราคาถูกกว่าเพราะไม่มีต้นทุน “การจะให้มาเสียภาษีก็เริ่มกลัวซึ่งจะมีคนที่รู้และไม่รู้โดยกลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่ตั้งใจจะไม่เสียภาษี เพราะในเมืองไทยกลุ่มที่ไม่รู้จะมีเยอะมากเพราะบางคนทำงานออฟฟิศแล้วมาขายของออนไลน์จึงไม่รู้เรื่องการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อเสียภาษี”

80 views
bottom of page