top of page
347550.jpg

ห้วงเวลาอันตราย ตลาดหุ้น '61...แนะลดพอร์ต-ประเมินสถานการณ์ใหม่


เตือนสถานการณ์หุ้นมะกัน, หุ้นไทย, หุ้นโลก อยู่ในห้วงเวลาผันผวน มีความเสี่ยงสูงมากถึงเดือนเมษายน 2561 เผยดัชนี DOW หุ้นมะกันอาจตกต่ำสุด 18,000-20,000 จุด ขณะที่ SET ดัชนีหุ้นไทยตกต่ำระหว่าง 1,600-1,700 จุด แนะลดพอร์ตรักษากำไรกับประคองตัวเองให้ปลอดภัยก่อน ระบุปี 2561 เป็นปีลดความเสี่ยงกับประเมินสถานการณ์ให้ถูกต้องก่อนตัดสินใจ ต้องไม่คาดหวังเชิงบวกมากเกินไป แนะลดพอร์ตเพื่อประเมินสถานการณ์กันใหม่ เนื่องเพราะมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากมาย

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ หรือ Mr.Messenger กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นดาวโจนส์และตลาดหุ้นโลกตกในช่วงที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณการปรับฐานเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาน่าจะเป็นเดือนที่บวกแรงที่สุดในรอบประมาณ 20 ปี คือ บวกได้ประมาณ 5% หากดูกราฟหลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 - 31 มกราคม 2561 จะเห็นการปรับขึ้นของตลาดดาวโจนส์มีอัตราการขึ้นที่ชันและไม่มีการปรับฐานที่รุนแรง หากอยู่ในตลาดหุ้นมานานก็พอจะรู้ว่าตลาดหุ้นมีการเกิดหรือดับนับว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นการปรับขึ้นแรงก็ต้องลงแรงถ้าปัจจัยพื้นฐานวิ่งไม่ทันกัน นับว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยากให้ทุกคนทราบไว้ว่าการปรับฐานครั้งนี้เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ที่รุนแรงขึ้นเพราะตอนที่ปรับขึ้นไปค่อนข้างเร็วและเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากพอ

เหตุผลของตลาดหุ้นที่ปรับลงสามารถมองได้ คือ ตลาดหุ้นพยายามหาเหตุผลในการลงแต่หาไม่ได้ เพราะมีการเตือนทุกคนมาตลอดว่าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่มีมูลค่าปัจจัยพื้นฐานแพงที่สุดในโลกแล้วในตอนนี้ อีกทั้งยังแพงกว่าตอนที่เกิดวิกฤตซับไพรม์แต่ตลาดยังวิ่งขึ้นต่อ แต่การปรับลงครั้งนี้เป็นการลงโดยที่ตลาดหาเหตุผลว่าเกิดจากการที่การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของเดือนมกราคมที่ผ่านมาออกมาประมาณ 200,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่ตลาดคาดและมากกว่าในเดือนก่อนหน้า พอสหรัฐอเมริกามีการวัดตัวเฟดที่ตัวเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญมาก คือ ตัวการจ้างงาน และ Core PCE เหตุที่เฟดใช้ตัวนี้เพราะว่าสหรัฐอเมริกามีการบริโภคหรือ Consumption คิดเป็น 2 ใน 3 ของ GDP ซึ่งไม่เหมือนไทยที่มาจาก Investment , Government หรือ Export เป็นหลัก แต่ของสหรัฐอเมริการมาจากการบริโภคถึงได้ดูจาก 2 ตัวนี้เท่านั้น

ส่วนถ้าการจ้างงานเยอะและมีการปรับขึ้นเงินเดือนแสดงว่ามีการซื้อของบริโภคเยอะขึ้นตาม ถ้า Inflation ขึ้นจริงแปลว่าข้าวของเครื่องใช้มีการปรับขึ้นแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจดีจริง หากเศรษฐกิจดีเกินคาดทำให้เฟดได้ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และการเปลี่ยนผู้นำเฟดในครั้งนี้อาจทำให้คนไม่แน่ใจว่านายเจอโรม พาวเวลล์ มีแนวคิดพอกันกับนางเจเน็ต เยลเลนหรือไม่ เพราะว่าคนที่โดนัลด์ ทรัมป์เห็นด้วยและเซ็นอนุมัติ ไม่มีใครค่อนข้างจะไว้ใจ มุมหนึ่งคือเพราะฟังหรือคุยกันได้หรือไม่ เพราะเป็นพรรครีพับลิกันหรือไม่ ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เลือกให้นายเจอโรม พาวเวลล์เข้ามารับตำแหน่งประธานเฟด ทำให้ตลาดมองว่าทิศทางของการดำเนินนโยบายหลังจากนี้จะเป็นทิศทางที่ไม่แคร์เศรษฐกิจโลกแต่แคร์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามากกว่า ซึ่งในมุมนี้ได้เห็นแล้วอย่างการผ่านร่างงบประมาณเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ที่ไม่ผ่านร่างงบประมาณแล้วเกิดการชัตดาวน์ขึ้นมา

“โดนัลด์ ทรัมป์ได้ทวิตเตอร์ก่อนที่จะผ่านร่างไว้ว่าถ้าร่าง Immigration ที่สอดไส้เข้าไปในร่างงบประมาณไม่ผ่าน เขายินดีจะให้เกิด Government Shut Down ถือว่าเป็นความผิดของเดโมแครต คือ ชี้นำตลาด ชี้นำทางการเมือง คือ ล็อบบี้ก่อนโหวต แต่ว่าพอโหวตออกมาก็ไม่ผ่านอยู่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่คิดว่าสะสมตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดี แต่เริ่มจะโชว์ให้เห็นว่ามีความขัดแย้งในสภาคองเกรสและสภาส.ว.ค่อนข้างเยอะ”

ขณะที่การปรับฐานเกี่ยวอะไรกับประเทศไทยหรือไม่นั้น นายชยนนท์ กล่าวว่า เมื่อมีการปรับฐานแรงโดย Bond ได้ปรับขึ้นตัวสูงขึ้นตาม โดยที่ผ่านมามีเจ้าพ่อ Bond ที่มีฉายาราชาแห่ง Bond บิล กร๊อต เคยออกมาเตือนเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2560 ว่า ตลาดตราสารหนี้หลังจากนี้ไปจะเข้าสู่ Bear Market หรือ Circular Bear Market คือ การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว และการลงทุนหลังจากนี้ไปอาจจะไม่ได้กำไรภายในอีก 5-10 ปีข้างหน้า โดยอัตราดอกเบี้ยอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น สาเหตุเพราะอัตราดอกเบี้ยตอนนี้อยู่ต่ำเกินไป พอเศรษฐกิจโลกฟื้นอัตราดอกเบี้ยก็ปรับขึ้นตาม แต่ Circular Bear Market นับตั้งแต่ปี 1970 ในตอนที่อัตราดอกเบี้ยทยอยปรับขึ้น ปริมาณหนี้ในระบบไม่มากเหมือนขณะนี้ อย่างในช่วงนี้สหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการ QE หรือ เฟดออก ECB หรือ BOJ เมื่อปริมาณหนี้มีจำนวนมาก เมื่อเงินออกจากตลาดตราสารหนี้ QE ของทุกประเทศที่ลงทุนเข้าไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เวลาที่ออกจากตลาดจะออกเยอะกว่าที่ผ่านมา หากคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1-2% ของตลาดทั้งหมด ก็จะส่งผลกระทบกับ Bond Yield ได้จำนวนมาก ส่งผลทำให้เป็นปัญหาเพราะเฟดเป็นผู้ซื้อรายใหญ่มาโดยตลอด เพราะถ้าเฟดขายแล้วใครจะมาซื้อต่อ

เมื่อ Bond Yield มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น สมมุติอัตราผลตอบแทนหรือเงินปันผลของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกามีประมาณ 2.5% หากตอนนี้ Bond Yield ระยะเวลา 10 ปีได้ 2.8% ก็เริ่มจะมีคนคิดแล้วว่าระหว่างรับเงินปันผลในหุ้นตอนที่ดัชนีราคาแพงกับขายออกมาแล้วถือ 2.8% ที่ได้แน่ทุกปีใน 10 ปีข้างหน้านักลงทุนจะเลือกเอาแบบไหนดี และเมื่อเป็นแบบนี้แสดงให้เห็นถึงการโยกย้ายสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ เพราะตลาดตราสารหนี้เริ่มได้ดอกเบี้ยบ้างแล้ว อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาต่ำที่สุดในโลกหรือเป็นลูกหนี้ที่มีความปลอดภัยมากที่สุดเพราะเครดิตเรตติ้ง AAA พอ Bond Yield ปรับตัวขึ้นจึงหนีไม่พ้นว่า Bond Yield ทุกประเทศปรับตัวขึ้นตาม ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาดีประเทศเดียวส่วนประเทศอื่นดีบ้างหรือไม่ดีบ้างแต่ Bond Yield ปรับตัวขึ้นไปแล้ว ทำให้กดดันให้มีความเสี่ยงง่ายมาก หากเศรษฐกิจตอนนี้ถ้าต้นทุนการเงินของระบบเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจจะทนทานได้หรือไม่ นับเป็นปัญหาที่ว่าถ้าไม่ถือหุ้น 100% แล้วทบทวนเมื่อตลาดหุ้นปรับฐานแล้วเริ่มไม่แน่ใจว่าถ้าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับขึ้นเร็วแบบขณะนี้อย่างที่ตลาดคาดหวังหากสมมุติว่าจะปรับขึ้น 4 ครั้ง หรือปรับขึ้นเกิน 5 ครั้ง ต้นทุนทางการเงินที่ปรับขึ้นมาจะรับไหวหรือไม่

“บางคนบอกว่าปรับขึ้น 4 ครั้งเท่ากับ 1% ต้องบอกว่าอัตราดอกเบี้ย 1.25% ถ้าขึ้น 1% คือปรับขึ้นเกือบ 100% แสดงว่าใครจ่ายดอกเบี้ยตอนนี้อยู่เท่านี้แต่ปลายปีต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็น 2 เท่า เพราะฉะนั้นจะดูที่อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ต้องดูที่ค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง บางคนบอกว่าถึงโดนัลด์ ทรัมป์จะออกกฎหมายลดภาษีนิติบุคคล 20% แต่ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะคุ้มหรือไม่ จึงเกิดกระบวนการกลับมาคิดทบทวนกัน ซึ่งวิธีทบทวนจะไม่ถือหุ้น 100% แล้วทบทวน จะลดพอร์ตแล้วประเมินสถานการณ์กันใหม่ ในมุมมองส่วนตัวตลาดหุ้นดาวโจนส์น่าจะยังลงต่อและยังจะลงหนัก เพราะว่าในเดือนมกราคมขึ้นมาแรงแต่จะลงไปถึงจุดไหนต้องรอดูเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 ถ้าดาวโจนส์ลงก็จะกดดันตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ให้ปรับตัวขึ้นได้ยาก ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาดีจริง เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงฟื้นตัว การปรับฐานครั้งนี้น่าจะเรียกว่า Healthy Collection หรือปรับเพื่อขึ้นต่อ เพียงแต่ว่าในช่วงที่ผ่านมาคนคาดหวังเชิงบวกมากเกินไป”

สำหรับความผันผวนในครั้งนี้ นายชยนนท์เปิดเผยว่ามีความรุนแรงขึ้น 2 อย่าง คือ 1.ปริมาณ Bond ในระบบเวลาโดนเทขายจะนานกว่าเพราะสภาพคล่องมีสูงมากกว่า และ 2.ในตลาดหุ้นช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติย้ายไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ ETF ค่อนข้างมาก แล้ว ETF ส่วนใหญ่ในระบบเป็นกองทุนที่ไปซื้อ Index แล้ววิ่งตาม ปรากฏว่า ETF ในระบบไม่มี Fund Major ที่ให้ระบบดู เมื่อมาใช้ระบบโปรแกรมดูส่งผลให้โปรแกรมทำการ Cut Lose สมมุติว่าการปรับฐานมีระยะเวลานานกว่าที่โปรแกรมตั้งไว้ พอหลุดระยะเวลาที่กำหนดก็จะมีแรงเทขายเพิ่ม สาเหตุจึงมากจาก ETF ที่บอกให้ระวังความผันผวน การปรับฐานอาจจะรุนแรงในเวลาปกติ เพราะ ETF เหล่านี้จะผลต่อตลาดมากขึ้น

“สถานการณ์ในขณะนี้เหมือน Black Monday ในปี 1987 กับ 1994 หรือไม่นั้น มีคนพยายามพูดถึงเหตุการณ์ Black Monday ที่ตลาดหุ้นตกลงในวันเดียวถึง 30-40% ซึ่งตอนนั้นสหรัฐอเมริกาได้ตั้งโปรแกรมไว้เพราะไม่มีใครคิดถึงความเสี่ยงว่ามี Figure ตัวใดตัวหนึ่งออกมา สมมุติว่าตั้งโปรแกรมไว้ถ้าหุ้น Walt Disney ตกถึง 5% ขอให้ขายหุ้นตัวอื่น เพราะมองว่าหุ้น Walt Disney มีคุณภาพ เมื่อมีการขายหุ้นตัวอื่นแต่อีกโปรแกรมมองว่าหุ้นที่โปรแกรมเก่าขายหุ้นเป็นหุ้นที่มีคุณภาพ ถ้าหุ้นลงต่ำมากกว่านี้ก็จะมีการขายด้วย จึงกลายเป็นโดมิโนตามกันในช่วงเวลานั้น ทำให้การเกิด Black Monday ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีปัญหา ประเด็นเพียงหุ้นวิ่งแรง แต่การปรับฐานครั้งนั้นใช้เวลาไม่นาน เพียง 2 เดือนลบไป 30% กว่าจะกลับไปที่เดิมใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะฉะนั้นครั้งนี้ใครที่ไปซื้อตอน Index ประมาณ 1,850 จุด ก็อาจจะใช้เวลาเป็นปีเหมือนกัน จึงเป็นที่มาว่ากลยุทธ์การลงทุนต้องบริหารความเสี่ยง การทยอยลงทุนเข้าหรือไม่ใช่เป็นเงินก้อนเข้าไปทีเดียว อีกเรื่องที่ระมัดระวัง คือ ในปี 1998 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และ 10 ปีต่อมาเกิดซับไพรม์ และ 10 ปีให้หลัง คือ ปี 2561 นี้ โดยส่วนตัวอยู่ในตลาดหุ้นมาโดยตลอดและได้แนะนำลูกค้าที่อยู่ในพอร์ตที่มีการเก็บกำไรกันมามากนั้น อยากให้ปีนี้ลดพอร์ตประคองตัวเอง สมมุติมีหุ้นอยู่ 100% แล้วเกิดเหตุการณ์แบบตลาดดาวโจนส์เกิดใน 2-3 อาทิตย์ข้างหน้า จะเกิดการ Warp Out คือไม่มีกำไรที่ลงทุนในปีที่แล้ว ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ต้องลดความเสี่ยงและประเมิณสถานการณ์” นายชยนนท์กล่าวและประเมินสถานการณ์ตลาดหุ้นดาวโจนส์จะตกลงมาอยู่ในแนว 20,000 จุด ถ้าหลุดลงมาก็จะอยู่ที่ประมาณ 18,000 เพราะจะลงได้อีก 2,000-3,000 จุด ส่วนบางคนมองว่าตลาดหุ้นดาวโจนส์จะลงอยู่ที่ 14,000 จุด คงต้องเกิดวิกฤต

“อย่างเมื่อช่วงที่ผ่านมาสำนักข่าวบลูมเบิร์กออกข่าวว่ามีผลิตตัวหนึ่งที่ในปีที่แล้วเป็นที่นิยมมาก คือ Inverse Vix Index เป็นดัชนีความผันผวนของตลาดของ S&P 500 โดยช่วงที่หุ้นวิ่งขึ้นมาความผันผวนต่ำมาก ต่ำจนทุกคนคิดว่า Vix คงไม่ดีดสูงอีกต่อไป โดย Vix ยิ่งต่ำยิ่งดี ปีที่แล้วเป็นปีที่ Vix ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ลงมาต่ำถึง 7-9 จุด นักลงทุนที่เล่น Inverse Vix Index เชื่อว่า Vix จะลงหรือว่าอยู่ในกรอบแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วนักลงทุนจะได้ปันผลหรือกำไรจากการลงทุนในประเภทนี้ จึงได้ไปลงทุนใน Structure Product ที่ว่า Vix อยู่ในระดับต่ำแบบนี้ แต่เมื่อตลาดหุ้นเทลงมาทำให้ดัชนีแห่งความกลัวดีดขึ้นมา 30-50 จุด จาก 10 จุด สมมุติมูลค่าการลงทุนมี 100 บาท กลายเป็นเหลือ 4 บาท คือ ติดลบทันทีกว่า 90% ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ต้องขายและปิดความเสี่ยงออกไปทั้งหมด จึงเป็นความเสี่ยงอีกมุมหนึ่งที่ข่าวออกมาแล้วมีผลิตภัณฑ์แบบนี้ออกมาด้วย ขณะเดียวกัน สมมุติมีพอร์ตอยู่ 100% ไปลงทุน Inverse Vix Index 10% พอมีข่าวแบบนี้ก็อยากจะขายหุ้นตัวอื่นเพื่อมาปิดความเสี่ยงของตัวเอง คือ ป้องกันไม่ให้ขาดทุน ทำให้เชื่อว่าการปรับฐานครั้งนี้ไม่น่าจะเบาแต่อาจจะแรง แต่ว่าถ้าให้บอกเป็นช่วงเวลาหากเป็นเรื่อง Inverse Vix Index ที่เคยได้เห็นในข่าว ไม่คิดว่าจะมี Position มากขนาดนี้ คำถาม คือ ยังจะมีอะไรแบบนี้อีกหรือไม่ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ออกจาก Investment Banking เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ Ultra Network หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้นักลงทุนที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในการขายของ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่คิดว่ารายย่อยจะไม่เข้าใจและน่าจะรับความเสี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นข่าวออกมา ทำให้เป็นความเสี่ยงที่ทุกคนต้องระวัง”

“ขณะที่ Set Index นั้น นายชยนนท์มองว่าอยู่ที่ประมาณ 1,700 จุด ถ้าหลุดก็น่าจะอยู่ประมาณ 1,680 จุด ไม่น่าต่ำกว่านี้ คิดว่าน่าจะเห็นก่อนสงกรานต์ เพราะถ้าดาวโจนส์จะตกแรงก็คงจะระยะนี้ เพราะการไม่ผ่านร่างงบประมาณแล้วเกิด Government Shut Down อาจจะนำไปสู่การผ่านขยายเพดานหนี้ภายใน 31 มีนาคม เพราะเป็นการะบวนการต่อกัน การร่างงบประมาณครั้งนี้ เป็นการร่างงบประมาณเพื่อให้บริหารได้ แล้วจะได้ไปคุยกับงบประมาณระยะยาวอีก 5 ปี ในการชะลอหนี้ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน การผ่านร่างแบบชั่วคราวยังผ่านยาก เพราะฉะนั้นการขยายเพดานหนี้มีเดดไลน์ คือ สิ้นเดือนมีนาคม ก็จะเป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งถ้าหากขยายเพดานหนี้ไม่ได้ “อย่างตอนนี้ Government Shut Down ที่เกิดขึ้น เกิดจากภาครัฐบาลบางส่วนที่ไม่ได้มีความสำคัญมาก เช่น หากไปเที่ยวเทพีเสรีภาพแล้วเข้าไม่ได้ก็จะมีเพียงเท่านั้น แต่ถ้าการขยายเพดานหนี้ไม่ผ่านแล้วงบประมาณไม่ได้ทั้งระบบ กระทรวงกลาโหมไม่มีงบประมาณ จะมีความเสี่ยงในระดับหนึ่งเหมือนกัน ระหว่างนี้ต้องอวยพรให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์คุยให้รู้เรื่อง ไม่อย่างนั้นจะเป็นความเสี่ยงของตลาดหุ้นที่อื่นนอกสหรัฐอเมริกา”

640 views
bottom of page