เครือดอกเบี้ย ประกาศยกย่อง “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ Banker of the year 2017 ถือเป็นการได้รับรางวัล 2 ปีติดต่อกัน หลังจากพิจารณาว่าเป็นผู้บริหารที่มีผลงานโดดเด่นกว่าใคร ด้วยวิสัยทัศน์นำนวัตกรรมการเงินทันสมัยล้ำหน้ากว่าธนาคารพาณิชย์มาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า มีความกระตือรือร้นคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นทั้งยังเป็นการตอบแทนสังคมไปในตัว ตลอดจนสามารถทำงานสนองนโยบายรัฐบาลได้อย่างเข้มแข็ง โปร่งใส ไร้ข้อบกพร่อง
กองบรรณาธิการนิตยสาร “ดอกเบี้ย” และหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ”หรือ “เครือดอกเบี้ย” ประกาศยกย่องให้ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (Government Savings Bank: GSB) ได้รับรางวัลเกียรติยศ Banker of the year 2017 หรือ นักการธนาคารแห่งปี 2560 ซึ่งทำให้ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ได้รับรางวัล Banker of the year ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลมีมติเป็นเอกฉันท์ หลังจากพิจารณาว่า ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้บริหารที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดตลอดปี 2560
ผลคะแนนการตัดสินมากที่สุดเกิดจากวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำของ ชาติชาย ด้วยการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด และลงมือปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ในการนำเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology : FinTech) ที่กำลังเปลี่ยนโลก มาใช้อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมของลูกค้าประชาชน จนทำให้ธนาคารออมสินกลายเป็นธนาคารของรัฐที่มีเครื่องมือ (Tools) ล้ำหน้ากว่าธนาคารพาณิชย์ และก้าวเข้าสู่ New Century หรือ ธนาคารออมสินศตวรรษใหม่อย่างที่เขาวางเป้าหมาย
สำหรับผลงานที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดแอปพลิเคชั่น MyMo (My Money, My Mobile) โมบาย แบงกิ้งที่ตอบโจทย์ธุรกรรมของลูกค้าได้อย่างหลากหลาย ซึ่งในปี 2560 ได้เริ่มให้ลูกค้าสามารถถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มผ่าน MyMo ได้โดยไม่ต้องใช้บัตร ออกบริการ “Chill Chill Finance” ให้ลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อธนาคารประชาชน และการเลือกฝากเงินแบบไม่ต้องมีสมุดบัญชี หรือ No Book ที่ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาฝากได้
ขณะที่ ล่าสุดได้ออกแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่น GSB Pay เพื่อการชำระผ่านเงิน QR Code มาตรฐาน โดยออมสินเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวในปัจจุบันที่สามารถใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตทั้งของออมสินเองและธนาคารอื่นชำระผ่าน QR Code ในขณะที่สถาบันการเงินเอกชนยังไม่สามารถทำได้
ขณะเดียวกันในพันธกิจการเป็นธนาคารเพื่อประชาชนในระดับฐานราก ชาติชายมีความสนใจและกระตือรือร้นอย่างยิ่ง เพื่อดำเนินการตามพันธกิจของธนาคารให้สมบูรณ์แบบ มีการคิดค้นโครงการและผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และธุรกิจหลักธนาคาร หากยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิต เช่น การคิดค้นและดำเนินการโครงการ “ธนาคารผู้สูงวัย”เพื่อรองรับการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ในฐานะสถาบันการเงินที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบพัฒนาผู้ประกอบการระดับฐานราก หรือ SMEs รายย่อยที่รัฐบาลยกเป็นวาระแห่งชาติ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินถึงกับแยกและตั้งสายงานใหม่ขึ้นมารับผิดชอบ SMEs โดยตรง มีการออกโครงการฝึกอบรบ ให้ความรู้ ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ พร้อมออกโครงการสินเชื่อพิเศษ และการร่วมลงทุน (Venture Capital) ที่เป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างครบวงจรเพื่อผู้ประกอบการSMEs และกลุ่ม Startup เช่น โครงการ “Thailand Street Food By GSB”โครงการ “สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์”ตลอดจนมีการจัดงาน “Smart SMEs Smart START UP”ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโชว์ผลงาน ซึ่งก่อให้เกิดทั้งการจับคู่ธุรกิจ การมีไอเดียทำและต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ และการขอใช้สินเชื่อและเงินทุนเพื่อไปลงทุนในธุรกิจโดยเหล่านี้นับเป็นผลงานการตอบแทนสังคมอย่างโดดเด่นไปในตัวอยู่แล้ว แทบไม่ต้องนับโครงการตอบแทนสังคมที่ธนาคารออมสินดำเนินการอยู่อีกมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น ภายหลังโครงการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือที่สื่อมวลชนใช้คำว่า “ลงทะเบียนคนจน” และมีการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า “บัตรคนจน”ชาติชายมีแนวคิดช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยไปไกลยิ่งกว่าการได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ด้วยการเตรียมออกสินเชื่อพิเศษเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีทุนเพียงพอนำไปประกอบอาชีพ เพื่อให้หลุดพ้นจากความยากจน
และในส่วนที่ธนาคารออมสินเป็นสถาบันเพื่อการออม ชาติชาย เตรียมออกโครงการ “ออมก่อนกู้และกู้ก่อนออม” ซึ่งจะอยู่ในลักษณะผู้ที่ต้องการกู้เงินต้องออมเงินส่วนหนึ่งเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อน จากนั้นธนาคารจะให้กู้เงินในวงเงินสูงกว่าเงินที่ออมและคิดอัตราดอกเบี้ยถูกพิเศษสำหรับผู้ที่กู้ก่อนออม เมื่อกู้ไปแล้ว หากสามารถออมเงินได้ตามที่ธนาคารกำหนด จะได้รับการคืนเงินค่างวดบางส่วน เป็นต้น โดยโครงการนี้นอกจากลดความเสี่ยงของธนาคาร ยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นผลดีของการออมเงินมากขึ้นด้วย
ส่วนเมื่อพิจารณาด้านเป้าหมายทิศทางการดำเนินการของธนาคารผู้อำนวยการธนาคารออมสินได้กำหนดเป็นแผนการดำเนินงานสำหรับปี 2560 ด้วยการเดินหน้าภารกิจ 6 ด้าน ซึ่งเป็นทั้งทิศทางเพื่อการดำเนินงานในธุรกิจปกติของธนาคารและเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ อันประกอบด้วย 1. การบริหารแบบเศรษฐกิจพอเพียง 2. ส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน 3. แก้ไขหนี้นอกระบบ 4. ธนาคารผู้สูงวัย 5. SMEs Start up และ 6. Digi-Thai Banking ดำเนินภายใต้กลยุทธ์ตามกลุ่มลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มลูกค้าฐานราก 2. กลุ่มลูกค้าบุคคล และ 3. กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ ทั้งหมดสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย
ทางด้านการสนองนโยบายภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการแก้หนี้นอกระบบเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งเมื่อต้นปี 2560 ได้มีการออกโครงการวงเงินสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่เข้าเป็นลูกหนี้ในระบบกับธนาคารแล้วไม่ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบอีก โดยในส่วนของธนาคารออมสิน ชาติชาย ได้คิดค้นการออกบัตรกดเงินฉุกเฉินให้กับลูกหนี้นอกระบบ เพื่อเวลาเข้าตาจนจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ขณะที่วงเงินให้กู้ฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาทภายใต้ความรับผิดชอบของธนาคารออมสิน คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2560 โดยมีลูกหนี้นอกระบบได้รับสินเชื่อกว่า 1 แสนราย
สำหรับโครงการสนองภาครัฐที่สำคัญในปี 2560 อย่างการลงทะเบียนคนจน ชาติชาย สามารถสั่งการให้พนักงานรับผิดชอบรับลงทะเบียนได้อย่างสมบูรณ์ ครบถ้วน และไร้ปัญหา ทั้งยังสามารถทยอยจ่ายบัตรสวัสดิการ และโอนเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนกับธนาคารออมสินกว่า 3.5 ล้านคนได้อย่างรวดเร็ว ไร้ข้อบกพร่อง สังเกตได้จากไม่มีเสียงติติงธนาคารออมสินจากผู้มีรายได้น้อยเกิดขึ้นเลย
จากผลงานที่โดดเด่นอย่างมากมายตลอดปี 2560 ทำให้ ชาติชาย พยุหนาวีชัยเหมาะสมที่สุดแล้วกับรางวัลเกียรติยศ Banker of the year 2017 หรือนักการธนาคารแห่งปี 2560
สำหรับการประกาศรางวัล Banker of the year 2017 และผลงานที่โดดเด่นทั้งหมดของ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน โดยละเอียด สามารถติดตามได้จาก นิตยสาร “ดอกเบี้ย” ที่จะออกสู่สายตาประชาชนในเร็วๆ นี้