top of page
379208.jpg

แม้ตลาดจะสดใสแต่ก็ต้องมีจุดถอยด้วย


ภาพใหญ่ยังไปได้ !

ทิศทางของตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากจะได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสนับสนุนหุ้นในกลุ่มพลังงาน หลังจากที่รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ออกมายืนยันอีกครั้งว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) อาจขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ในการประชุมโอเปกซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 30 พ.ย.2560 ที่กรุงเวียนนา โดยที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะมีการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือนจนถึงสิ้นปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำมันราว 830,000 บาร์เรล/วันในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะขาดแคลน 310,000 บาร์เรล/วันแล้ว ยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมาทั้งในส่วนของต่างประเทศ และของไทยเองที่สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะในส่วนของไทยล่าสุดสภาพัฒน์ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 3 ออกมาพบว่าขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 เดือน และถือว่าขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าชัดเจน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักๆมาจากการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้สภาพัฒน์คาดว่า Momentum ในลักษณะดังกล่าวจะต่อเนื่องไปในปี 2561 ด้วย โดยคาด GDP ในปี 2561 จะเติบโตในช่วง 3.6-4.6% และได้มีการปรับคาดการณ์ GDP ของไทยทั้งปี 2560 ให้ขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ในช่วง 3.5-4.0%

ขณะที่ในส่วนของเศรษฐกิจโลกล่าสุด Goldman Sachs ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2561 จะยังคงฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 4% ด้วยปัจจัยหนุนหลายอย่าง รวมทั้งแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งและต่อเนื่อง จากสภาพตลาดการเงิน และนโยบายการเงินส่วนใหญ่ในหลายประเทศก็ยังถือว่าผ่อนคลายมากถ้าเปรียบเทียบย้อนหลังกลับไปยังมาตรฐานในอดีต

ทั้งนี้สิ่งที่ Goldman Sachs ประเมินไว้เป็นสิ่งที่นักลงทุนเริ่มเห็นสัญญาณมาสักพักหนึ่งแล้ว เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจทั่วโลกได้มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นชัดเจน ไม่เฉพาะสหรัฐที่เศรษฐกิจโตอย่างแข็งแกร่งที่ 3% ต่อปีในไตรมาส 3 เท่านั้น แต่เป็นกลุ่มประเทศสำคัญๆทั้งหมด โดยที่ยุโรปชัดเจนที่สุดคือการที่เยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปมี GDP ในไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวมากเกินคาดที่ 0.8% ขณะที่ในเอเชีย พี่ใหญ่อย่างญี่ปุ่นล่าสุดได้ประกาศตัวเลข GDP ขยายตัวเป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกัน รวมทั้งจีนที่รัฐบาลยังคงแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง โดยที่ล่าสุดธนาคารกลางจีนยังคงเดินหน้าอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดติดต่อกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านทางข้อตกลงซื้อคืนธนบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (Reverse Repo) โดยมีเป้าหมายเพื่อผ่อนคลายภาวะสภาพคล่องตึงตัว

ระยะสั้นมี 1,720 จุดเป็นจุดหมุน : แม้ว่าภาพที่เป็นบวกของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นจะยังคงมีอยู่ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่น่าจับตาก็มีอยู่เช่นกัน โดยที่ Goldman Sachs ระบุว่าในปี 2561 ปัจจัยเสี่ยงด้านนโยบายที่สำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนคือ การผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบภาษีของสหรัฐ และนโยบายการค้าของสหรัฐ ซึ่งความเสี่ยงทั้ง 2 ข้อมีความเกี่ยวโยงกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าโอกาสที่ร่างปฏิรูประบบภาษีจะได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสในช่วงต้นปี 2561 จะสูงถึง 80% แต่ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดแพ้ไม่ผ่านในขั้นการลงคะแนนเสียงในสภา นักวิเคราะห์ประเมินกันว่ามันจะเป็นความล้มเหลวครั้งที่ 2 ทางด้านนิติบัญญัติของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และคะแนนความนิยมคงจะตกลงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะบีบบังคับให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หันไปใช้นโยบายการค้า และการต่างประเทศในเชิงรุก ซึ่งเน้นไปที่แนวนโยบายกีดกันทางการค้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างผลงานก่อนฤดูเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ

ดังนั้น ในส่วนของแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิค นายหมูบินมองว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับขึ้นไปปิดเหนือบริเวณ 1,720 จุดได้ ตรงกันข้ามถ้า SET ถอยตัวลงมาปิดต่ำกว่าบริเวณค่าเฉลี่ย EMA25 วันที่ 1,695 จุดอีกครั้ง จะทำให้สัญญาณการพักตัวในระยะสั้นของ SET ยังคงมีอยู่ และมีโอกาสค่อนข้างมากที่บริเวณ 1,650 จุดจะทำหน้าที่เป็นแนวรับถัดไป เพราะเราต้องไม่ลืมว่าสำหรับตลาดหุ้นภูมิภาคนอกจากภาพความเสี่ยงในปี 2561 ที่ Goldman Sachs ระบุไว้แล้ว ในระยะสั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วยคือความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐด้วย หลังจากที่ล่าสุดนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก ได้เน้นย้ำถึงมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2 ปีข้างหน้าสู่ระดับ 2.5% จากระดับปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดยืนอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% และสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ และอีก 3 ครั้งในปีหน้านั้น ซึ่งเป็นความเห็นในทิศทางเดียวกับนายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟดสาขาดัลลัส ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.2560 เช่นกัน

กลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดเหนือกว่า 1,720 (+/-5) จุดได้ ยังคงแนะนำ “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” กลับมา “ถือเงินสด” หรือ “Wait and See” เพื่อรอซื้อกลับในหุ้น PTTGC, KBANK, SCB, STEC, CK, SCC, LH, SIRI, INTUCH และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

37 views
bottom of page