top of page
379208.jpg

ไทยจัดหนัก สมาร์ทวีซ่า...ดึงต่างชาติลงทุนในไทย


ไทยทุ่มสู้สุดตัวให้ “สมาร์ทวีซ่า” ต่างชาตินักลงทุน, ผู้บริหาร, ธุรกิจสตาร์ทอัพ รวม 3 กลุ่มมาเมืองไทยพร้อมครอบครัว เปิดโอกาสให้คนไทยได้ทำงานร่วมกับคนเก่ง/คนมีชื่อเสียง ยิ่งมากันมากๆ ยิ่งช่วยกันพัฒนา/สร้างสินค้าใหม่ๆ เกิดแรงบันดาลใจตามมามากมาย ดร.กอบศักดิ์ เผยความจริงวันนี้ไทยไม่ใช่สาวงามอายุ 18 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จึงต้องทำตัวให้ดูน่ารัก ใหม่ ทุ่มแคมเปญ/จัดหนักด้วยหลากหลายนโยบายจูงใจให้มาเมืองไทย

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงเรื่องสมาร์ทวีซ่าว่า จากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา มีการรับทราบมติในการจัดทำสมาร์ทวีซ่า ให้กับกลุ่มนักลงทุน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้บริหาร, กลุ่มนักลงทุน และกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่สนใจจะมาทำงานในไทย ในอดีตคนต่างชาติจะมาลงทุนในไทยจะมีปัญหามากมาย เพราะไทยมีเงื่อนไขในการเข้ามาลงทุนมาก และบางทีนักลงทุนได้วีซ่าแล้วยังต้องมี work permit หรือใบขออนุญาตทำงานอีก คือมีหลายขั้นตอนมาก และยังต้องมีการรายงานตัวทุก 90 วัน ขณะเดียวกัน พอมาทำงานในไทย นักลงทุนต่างชาติอยากจะเอาลูก-ภรรยา หรือเอาสามีเข้ามาในไทยด้วย คือต้องการเอาครอบครัวมาอยู่ในไทย ดังนั้น เมื่อต้องไปหาวีซ่าและ work permit ให้กับทุกคนก็เป็นเรื่องยาก

“ตอนนี้ทางการเลยอนุมัติแบบประเภทที่ว่าเราอยากได้นักลงทุน และหากนักลงทุนอยากจะเอาครอบครัวเข้ามาด้วย เราจึงอยากอนุเคราะห์ให้นักลงทุนอยู่ในไทยได้อย่างสะดวกสบายขึ้น ได้มีการปลดล็อกให้หลายเรื่อง แต่ก็มีเกณฑ์ว่าจะต้องมาลงทุนเท่าไหร่ ต้องทำงานอะไร จากนี้จะมีเกณฑ์ที่ชัดเจนออกมาตามลำดับ แต่ในการอนุมัติในหลักการล่าสุดนี้ จะอนุญาตสำหรับคนที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยกลุ่มผู้บริหาร กลุ่มนักลงทุนจะให้ 4 ปี ส่วนกลุ่มสตาร์ทอัพให้ 2 ปี และต่ออายุได้ ที่สำคัญก็คือเราจะให้ทั้งครอบครัว คือ สามี/ภรรยา และลูก เมื่อเข้ามาแล้วไม่ต้องมีการที่จะมาขออนุมัติรายงานตัวทุก 90 วันอีกด้วย” ดร.กอบศักดิ์กล่าวและว่า คนต่างชาติที่ไทยต้องการอาจจะเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง ได้รับรางวัล หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ต้องผ่านเกณฑ์ไม่ใช่ว่าจะได้สมาร์ทวีซ่าทุกคน หรือเป็นการอนุมัติโดยทั่วไป โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีการตั้งเป้าหมายใน 10 อุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ เกษตร อาหาร การบิน หุ่นยนต์ ดิจิทัล และอื่นๆ ถ้านักลงทุนเข้ากับ 10 อุตสาหกรรมดังกล่าว ถือว่าใช้ได้เพราะถือว่าครอบคลุมทั้งหมดแล้ว

“การผลิตยุคใหม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ไปไกลมากอย่างหุ่นยนต์ วิศวกรรมไฟฟ้า อวกาศ ต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญ ขณะที่คนไทยก็มี แต่ไม่เชี่ยวชาญขนาดต่างชาติ หากเราจะก้าวไปถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ เราจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญจริงๆเป็นคนช่วยคิดให้ จึงได้เชิญคนเหล่านี้มาเพื่อเป็นแก่นตรงกลาง เพื่อคนไทยจะได้ทำงานร่วมกับคนเหล่านี้ ยกตัวอย่าง แจ็คหม่า เป็นคนมีวิสัยทัศน์ และถ้าเขามาทำงานในไทย เราจะได้ดำเนินงานกับคนมีวิสัยทัศน์ ถ้าเราทำได้ดี จะก้าวไปได้เร็วขึ้น นับเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องของการพัฒนาประเทศที่ไทยต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ที่นำโดยเทคโนโลยี”

ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีว่า ต้องใช้เวลาบ้าง เพราะกระบวนการขั้นตอนในการลงทุนของไทย จะมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาและเราตั้งใจว่าในอีอีซีหลายส่วนจะเป็นการลงทุนโดยให้เอกชนทำ จากงบประมาณการลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลจะลงทุนประมาณ 20% ส่วนที่เหลือจะลงทุนโดยเอกชน ส่วนนี้จะทำได้ต้องมีขั้นตอนในการอนุมัติ เริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ กำไร การขาดทุนทางธุรกิจ หลังจากนั้นจะต้องอนุมัติเข้ามาให้ครม.เห็นชอบ และดำเนินการในการที่จะประกวด ประมูล หาผู้ที่ได้รับชัยชนะในการเอาพื้นที่ไปพัฒนา อีอีซีมีหลายโครงการมาก อาทิ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน, โรงเรียนพัฒนาช่างอากาศยาน, สนามบิน-นักบิน เรื่องของรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ โครงการเหล่านี้ต้องทำการศึกษา ต้องใช้เวลา 4 เดือนเป็นอย่างน้อย และต้องใช้เวลาแจ้งที่ปรึกษาอีก 2 เดือน รวมแล้วก็ 6 เดือน

“เราก็เลยเตรียมการ แจ้งที่ปรึกษาเสร็จแล้วดำเนินการศึกษาต่างๆ ขณะเดียวกัน ยังจัดทำเอกสารเรื่องการประมูล คิดว่าเอกสารเหล่านี้จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี โดยตอนนี้ดูว่ามันเงียบๆ แต่ในความจริงโครงการต่างๆกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถูกเราเชิญมาหารือกันเป็นประจำ ซึ่งก็เข้าใจได้โดยเฉพาะในเรื่องเอกสารต้องใช้เวลา หากทำเร็วไปอีก ก็มีคนหาว่าไม่โปร่งใสอีก เลือกคนไม่ดีมาลงทุนหรือไม่ เราพยายามทำให้เกิดความเหมาะสมโดยช่วงปลายปีก็จะมีเอกสารประมูลเหล่านี้ประกาศออกไปเพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยในโครงการที่เราคิดว่าสำคัญ โดยคาดว่าเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมปี 2561 น่าจะได้ผู้ชนะการประมูล และดำเนินการในโครงการหลักเช่น โครงการสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

“ขณะที่เรื่องอื่นๆ ได้มีการคุยกับนักลงทุนต่างชาติว่าสนใจหรือไม่ก็มีบริษัทอย่างแอร์บัสให้ความสนใจ มีโบอิ้ง ก็ติดตรงที่เราต้องร่วมทุนกับเขา และการร่วมทุนจะต้องใช้ระยะเวลา 4-6 เดือนในการเตรียมการช่วงแรก ดังนั้นโครงการนี้ไม่ใช้ราคาคุย นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาก โดยมีการจัดสรรงบประมาณมาให้กับโครงการอีอีซี ถ้าขออะไรกับนายกรัฐมนตรี ท่านก็จะช่วยทั้งหมดเลย และอีกเรื่องที่เราทำไปคือการลดภาษีบุคคลธรรมดา ในปัจจุบันคนไทยจ่ายภาษีสูงสุด 30% บางคน 35% เสร็จแล้วในอนาคตผู้บริหารที่มาทำงานในอีอีซีจะเหลือ 17% ต่างชาติก็มีทางเลือกคือหากไปสิงคโปร์ก็เสีย 20% ฮ่องกง 15-20% เราเลยเลือกเฉลี่ยที่ 17% เราไม่เคยทำแบบนี้เลยสรรพากรไม่เคยให้ใครมาก่อน ส่วนอีกเรื่องที่ไม่เคยให้คือกระทรวงศึกษาในอนาคตจะอนุญาตให้สถานการศึกษาต่างประเทศมาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยได้ในพื้นที่อีอีซี คือเราจะเปิดทางพิเศษให้ ตอนนี้เริ่มมีคนสนใจหลายรายแล้วที่จะมาตั้งสาขา ก็กำลังคุยกันอยู่ เหล่านี้ถ้าเราไม่ลดภาษีไม่เอาจริง เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นแน่”

ดร.กอบศักดิ์ เปรียบประเทศไทยเป็นสาวงามอายุ 18 ปี เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ใครๆ ก็รัก ใครๆก็มาจีบ เพราะตอนนั้นใครๆก็อยากมาหาเราจากที่ประเทศมีการเติบโตในระดับ 10% และดูว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 แต่พอมายุคนี้เขาพูดกันว่าประเทศไทย 60 ล้านคนเอง แต่จีนตั้ง 1,400 ล้านคน ขณะที่อินเดีย 1,200 ล้านคน ถ้าให้เลือก เขาก็จะไม่เลือกไทย “ตอนนี้เราเหมือนสาวอายุ 38 ปีแล้ว ก็ไม่สวยเหมือนเดิม ดังนั้น เราต้องทำตัวให้ดูน่ารักใหม่ มีการพัฒนาต่างๆ เพื่อดึงดูด การเข้ามาไทย นักลงทุนจะได้รอบข้างด้วย จากที่เรามีการเชื่อมโยงต่างๆ ดังนั้น ไทยต้องแต่งตัวใหม่ด้วยหลากหลายนโยบาย ถือว่าตอนนี้กำลังมาถูกทาง จากนโยบายหลากหลายที่สอดรับกัน ก่อนหน้านี้ได้ยินนักลงทุนจากเยอรมันพูดว่า ถ้ามาลงทุนในเอเชีย จะเลือกจีน ส่วนถ้าขยายต่อก็จะมาลงทุนในไทยจากที่เรามีหลากหลายโครงการที่กำลังจะคลอดออกมาตามลำดับ ตรงนี้เรายอมรับได้ เพราะเราไม่ได้แข่งกับจีน ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีมากๆ แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา”

 

Image: PIXABAY

68 views
bottom of page