top of page
379208.jpg

สะพานบก...เชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน


สัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวที่น่าสนใจข่าวหนึ่งคือข่าวที่เรือรบสหรัฐชื่อ ยูเอสเอส แมคเคน ซึ่งเป็นเรือพิฆาตติดอาวุธนำวิถีที่ทันสมัย ชนกับเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติไลบีเรีย จนได้รับความเสียหาย ลูกเรือบาดเจ็บสูญหายไป 15 คน ไม่มีข่าวความเสียหายของเรือบรรทุกน้ำมันซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 3 เท่า เพราะน่าจะได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย

ผลของการที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ทำให้ผู้บัญชาการกองทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐที่ควบคุมน่านน้ำในภูมิภาคถูกปลดจากตำแหน่งไปตามระเบียบ ไม่มีการลูบหน้าปะจมูก แม้จะเป็นนายพลเรือระดับ 3 ดาวที่มีอำนาจบัญชาการกองเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดกองเรือหนึ่งของโลกก็ตาม

แต่ที่ผมว่าน่าสนใจ ไม่ใช่ข่าวการปลดผู้บัญชาการกองเรือ หรือความเสียหายของเรือพิฆาตที่ว่าทันสมัยมากลำหนึ่งของกองทัพเรือสหรัฐ เพราะว่าไปแล้วถึงกองทัพสหรัฐจะมีนายพลไม่มาก แต่คงหาผู้บัญชาการคนใหม่ไม่ยาก เพราะมีระบบตัวตายตัวแทน ส่วนเรือรบถึงจะเสียหายก็ซ่อมเอง สร้างเองได้ เงินทองไม่รั่วไหลไปไหน ส่วนที่น่าสนใจจริงๆ น่าจะเป็นสถานที่เกิดเหตุครับ

อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นในช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นช่องแคบระหว่างแหลมมลายูกับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย คืออยู่ใต้ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย และอยู่ด้านเหนือของเกาะสุมาตรา ยาว 600 ไมล์

อย่างที่ทราบครับว่า ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมที่ใช้ขนส่งสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันจากตะวันออกกลางผ่านมหาสมุทรอินเดียข้ามไปทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องใช้น้ำมันอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน อินเดีย หรือแม้แต่ไทย ประมาณว่ามีเรือสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกาเกือบพันลำต่อวัน มากกว่าคลองสุเอซหรือคลองปานามา 3 เท่า และประมาณว่าหนึ่งในสามของการค้าโลกขนส่งผ่านช่องแคบแห่งนี้

แต่ช่องแคบนี้มีจุดอ่อนคือเป็นช่องทางการเดินเรือที่แคบจริงสมชื่อ โดยส่วนที่แคบที่สุดกว้างเพียง 3.2 ไมล์ ประกอบกับช่องแคบมีระดับความลึกของท้องทะเลแตกต่างกันหลายระดับ มีหินโสโครกและสันดอนในบางพื้นที่ ทำให้การเดินเรือผ่านช่องแคบยากลำบาก ค่อนข้างเสี่ยงอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุ จนทำให้เกิดแนวความคิดที่จะตัดคลองลัดทางด้ามขวานของไทยเพื่อร่นระยะทางการเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย โดยไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา เรื่องของการขุดคลองนี้มีข้อถกเถียงกันนานมากจนถึงทุกวันนี้ว่าสมควรหรือไม่สมควรที่จะให้มีการขุดคลองให้เรือผ่าน ทั้งเหตุผลด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือของเรือเดินสมุทรและเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ผ่านช่องแคบมะละกา ที่มีสิ่งอำนาจความสะดวกที่พร้อมจะให้บริการเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ครบถ้วนในประเทศสิงคโปร์ที่มีประสบการณ์ในการให้บริการมานานหลายสิบปีแล้ว ให้มาผ่านคลองที่จะขุดขึ้นใหม่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ถ้าประเทศไทยสามารถเปิดด้ามขวานทองให้เป็นทางผ่านเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยได้ ย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล เพราะจะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักหลายชนิดทางภาคใต้ของประเทศไทย และทำให้การขนส่งสินค้าจากประเทศพม่าเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสะดวกรวดเร็วขึ้น ลดต้นทุนวัตถุดิบลง เช่น การนำเข้าสินค้าประมงจากตอนใต้ของพม่าเข้าโรงงานแปรรูปสินค้าอาหารทะเลแถวจังหวัดสมุทรสาครในประเทศไทย เป็นต้น

เช่นเดียวกัน ไทยสามารถจะส่งสินค้าไปขายในประเทศพม่าและเอเชียใต้ เช่น อินเดียและบังกลาเทศ จากภาคใต้ของไทยหรือจากท่าเรือฝั่งตะวันออกข้ามอ่าวไทยมาขึ้นที่ท่าเรือฝั่งตะวันตกเพื่อส่งต่อไปยังประเทศเหล่านั้นอีกฟากหนึ่งของแหลมทองของไทย

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า LAND BRIDGE หรือสะพานบก เชื่อมอ่าวไทยตอนล่างกับทะเลอันดามันที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามมาบ้างแล้ว สะพานบกนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ต้องการให้มีการพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปการเกษตร รวมทั้งการท่องเที่ยวในภูมิภาค ตามที่ได้มีการศึกษาไว้แล้ว

สะพานบก หรือ LAND BRIDGE ที่ว่าประกอบด้วยถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ รถไฟ และท่อส่งน้ำมัน ข้ามจากฟากอ่าวไทย ผ่านพรมแดนข้ามไปประเทศพม่าเพื่อออกทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย แทนการขุดคลองที่ใช้เงินลงทุนมากกว่าและอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมและความมั่นคงตามมา แต่ได้ผลใกล้เคียงกับการขุดคลอง

ท่านอาจไม่ทราบว่า สะพานบกข้ามภาคใต้ของไทยผ่านประเทศพม่านั้น ปัจจุบันมีเส้นทางที่ใช้งานได้อยู่แล้ว รวมระยะทางทั้งสิ้นไม่ถึง 200 กิโลเมตร และทางด้านอ่าวไทยมีท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรับเรือเดินสมุทรพร้อมใช้งานอยู่แล้ว

ถ้าหากมีการพัฒนาเส้นทางให้ได้มาตรฐาน การขนส่งสินค้าจากอ่าวไทยฝั่งตะวันออกไปขึ้นที่ท่าเรือฝั่งตะวันตกในระบบการขนส่งที่ไม่ต้องมีการถ่ายสินค้าขึ้นลงหลายหน เพื่อผ่านประเทศพม่าตอนใต้ไปลงท่าเรือในประเทศนั้น เพื่อขนถ่ายส่งต่อไปจำหน่ายทั้งในประเทศพม่าและเอเชียใต้ สามารถเป็นจริงได้ทันที ในระหว่างที่มีการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางและทางท่อ รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือและอุตสาหกรรมในประเทศพม่าที่รัฐบาลประเทศนั้นกำลังเร่งดำเนินการอยู่ และต้องการร่วมมือกับไทย เพื่อให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งสองประเทศควบคู่กันไป แบบได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย

ผมเชื่อว่ารัฐบาลมองเห็นประโยชน์ของการพัฒนาสะพานบกที่กล่าวถึง เพราะรัฐมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวฝั่งตะวันออก-ตะวันตก เหนือ-ใต้ และแนวใต้อยู่แล้ว และรัฐบาลกำลังเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว พ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางในอีก 5 ปีข้างหน้า

ก็ขอเอาใจช่วยครับ ถึงสะพานบกจะไม่สามารถแทนที่ช่องแคบมะละกาในฐานะเส้นทางเดินเรือเชื่อม 2 มหาสมุทรได้ แต่อย่างน้อยเป็นทางเลือกสำหรับประเทศไทยและคนไทยอีกทางเลือกหนึ่ง

 

Image: Pixabay

322 views
bottom of page