top of page

ประกันชีวิตทรงตัว..รับยังไร้ปัจจัยบวก


ภาวะดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำต่อเนื่องในรอบ 10 ปี ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตไทยติดต่อกัน 2-3 ปีแล้ว เห็นได้จากทิศทางการเติบโตยังค่อนข้างชะลอตัว บวกกับปัจจัยลบด้านกำลังซื้อของประชาชนแทบจะทุกระดับ ภาคการเกษตรยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงตามฤดูกาล ที่สำคัญหนี้ครัวเรือนยังท่วมท้นทั้งประเทศ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งไม่ราบรื่น หนักไปทางขาลง แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มขยับเป็นขาขึ้นบ้างแล้วก็ตาม นับจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทว่า ยังไม่มีผลต่อยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ เว้นแต่จะเป็นเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตร

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่าแม้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มเป็นขาขึ้นก็ตาม แต่คิดว่ายังไม่น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในภาพรวม เพราะต้องประเมินจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆมาประกอบด้วย ซึ่งองค์ประกอบที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบันมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ช่องทางจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ เทรนด์ดิจิทัลและสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สมาคมจึงกำหนดเป้าหมายการเติบโตในปีนี้เพียง 6% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ท้าทายและมีความเป็นไปได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าธุรกิจประกันชีวิตเติบโตต่อเนื่องติดๆกันไม่ต่ำกว่า 2-3 เท่าของจีดีพีทางเศรษฐกิจมาหลายปีแล้ว ดังนั้น คาดการณ์ที่ 6% แม้อาจไม่ถึง 2 เท่าของจีดีพีปีนี้ อาจดูว่าน้อย แต่เชื่อว่าไม่น่าเกินเลย ซึ่งเหมาะกับภาวะตลาดที่ยังมีอัตราการเข้าถึงการซื้อประกันชีวิตทั้งประเทศเฉลี่ยเพียง 38% ของประชากร

เมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับขึ้น ทิศทางผลิตภัณฑ์หลักๆสำหรับปีนี้ จะมุ่งไปที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทคุ้มครองระยะยาว หรือตลอดชีพ ซึ่งเป็นพื้นฐานของธุรกิจประกันชีวิต คู่ขนานไปกับประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันการชดเชยรายได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน (ยุนิตลิ้งก์) ยังต้องพัฒนากันต่อไป เพราะมีความซับซ้อน ผู้เอาประกันต้องได้รับคำอธิบายรายละเอียดของเงื่อนไขกรมธรรม์

นอกจากนี้ การตลาดดิจิทัลต่างๆที่เป็นเมกะเทรนด์ จะเป็นส่วนขับเคลื่อนการเติบโตในธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้รับกับกระแสเหล่านี้ให้ได้ ขณะที่ผู้บริโภคไปไกลแล้วตามภาวะสังคมในยุคสตรีมมิ่ง จำนวนประชากรบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย ทำให้เกิดกระแสฟินเทค อินชัวร์เทค บิ๊กดาต้า ออมนิแชลนอนและโซเชียลเน็ทเวิร์คต่างๆเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทย

“ผู้บริโภคปัจจุบันรับรู้ข้อมูลต่างๆอย่างรวดเร็ว แค่เข้าไปอ่านคอมเมนต์ในสื่อออนไลน์ หรืออ่านกระทู้ในเว็บไซต์ต่างๆก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อประกัน ทำให้ช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นต้องปรับตัว เพราะสินค้าประกันชีวิตยังมีความซับซ้อนอยู่ จำเป็นต้องมีคำอธิบายรายละเอียด ขณะที่ตัวแทนก็ต้องปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลต่อการทำตลาด ซึ่งช่องทางผ่านดิจิทัลต่างๆ ทำให้เกิดโอกาสในการขายกรมธรรม์ขนาดเล็กเพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ดี แม้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตาม Customer Service Portal แต่เทคโนโลยียังไม่ถึงกับจะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการตลาดประกันชีวิตอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะการจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนและกระบวนการทำงานต่างๆของธุรกิจ ยังเหมาะกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบง่ายๆ มีรายละเอียดไม่ซับซ้อนเท่านั้น เฉพาะอย่างยิ่งการประกันสุขภาพ ซึ่งการเคลมสินไหมออนไลน์ การพิจารณารับประกันภัยออนไลน์และกรมธรรม์ออนไลน์ (e-policy) รวมทั้งกฎหมายลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของบุคคล (KYC) และระบบจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย ยังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาระบบ

สมาคมระบุว่าในปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันรับรวม 5.68 แสนล้านบาท เติบโต 5.7% แยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตใหม่ 1.61 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเบี้ยประกันปีแรก 1.1 แสนล้านบาท เบี้ยประกันแบบจ่ายครั้งเดียว 5.13 หมื่นล้านบาทและเบี้ยปีต่อไป 4.06 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์เฉลี่ย 84%

สำหรับช่องทางจำหน่ายนั้น ตัวแทนยังเป็นช่องทางหลัก คิดเป็นสัดส่วน 50.5% จากจำนวนเบี้ยรับรวม 2.87 แสนล้านบาท เติบโต 4.5% ขณะที่ช่องทางขายผ่านธนาคาร คิดเป็นสัดส่วน 43.6% จากจำนวนเบี้ยรวม 2.47 แสนล้านบาท เติบโต 8.3% ช่องทางการตลาดแบบตรง 1.49 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.9% คิดเป็นสัดส่วน 2.6% และช่องทางอื่นๆ 1.86 หมื่นล้านบาท เติบโต 0.8% คิดเป็นสัดส่วน 3.3%

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเบี้ยรวมในปีก่อนนั้น มาจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินที่ลดลง ส่งผลให้หลายบริษัทปรับลดนโยบายการขายผลิตภัณฑ์แบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียวลง รวมทั้งผลตอบแทนจากแบบประกันสะสมทรัพย์ที่ลดลง ซึ่งบริษัทประกันชีวิตได้เน้นขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบคุ้มครองมากขึ้น จึงส่งผลให้ทั้งธุรกิจมีอัตราการเติบโตลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

ส่วนแนวโน้มธุรกิจในปีนี้ สมาคมคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 6% คิดเป็นเบี้ยประกันรวม 6 แสนล้านบาท ซึ่งค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน

0 views
bottom of page