top of page
312345.jpg

ผุด 5 โครงการ 2560..EEC ผงาด! เมือง-อุตฯ


EEC ฉลุย ม.44 เปิดทาง ทุ่มงบพิเศษ จัดตั้งคณะทำงานและนโยบายแบบเร่งด่วน นายกฯสั่ง...ต้องเป็นรูปเป็นร่างอย่างน้อย 5 โครงการภายในปีนี้ อาทิ ยกระดับอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางการบิน โครงการศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาคแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการจูงใจอุตฯใหม่ ๆ และโครงการพัฒนาเมืองใหม่ เน้นพัฒนาอุตฯ พัฒนาเมือง โดยก่อประโยชน์ ความสะดวกสบายสูงสุดของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ว่า เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นการยกระดับอีสเทิร์นซีบอร์ดขึ้นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งตั้งแต่เตรียมการเรื่องนี้มา 1 ปี มีการหารือ ตลอดจนการนำเสนอรายละเอียดโครงการกับนักลงทุนต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่านักลงทุนสนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

“ทั้งนี้ เพราะ

1. พื้นที่นี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เป็นประตูสำหรับบริษัทที่อยากจะเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย จุดนี้เป็นจุดที่มาเมืองไทยได้ ขณะเดียวกันสามารถต่อเชื่อมโยงไปที่ CLMB หรือ ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้มีประชากรอยู่ประมาณ 160 ล้านคน มีอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ 7-8% ถือว่าเติบโตสูงสุดของโลกก็ว่าได้ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงจีนและอินเดียได้ เวลาที่คุยกับนักธุรกิจหากถามว่าจะตั้งร้านตรงไหน เคล็ดลับคืออะไร นักธุรกิจจะบอกว่าเคล็ดลับคือที่ตั้ง เพราะถ้าตั้งถูกที่ก็จะขายดีมากเพราะทำเลสำคัญมาก ซึ่งพื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่สำคัญและสามารถเชื่อมโยงไปทุกที่จากตรงนี้ได้ ...

2. นอกจากที่ตั้งดีแล้ว ยังไม่ใช่โครงการในความฝันอีกด้วย เป็นสิ่งที่ทำมาแล้วตั้งนาน มีท่าเรือน้ำลึก มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่อันดับ 5 ของเอเชียที่มาบตาพุด ซึ่งตรงนั้นมีนัยยะอย่างยิ่งเพราะเวลาที่จะทำอุตสาหกรรมชั้นสูงต้องวัตถุดิบ คือมีปิโตรเคมี เมื่อไทยมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ทันสมัย พื้นที่รอบๆก็สามารถดำเนินการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้โดยอาศัยวัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว นอกจากนั้น ยังมีความพร้อมเรื่องของถนนหนทาง โครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา พร้อมทุกอย่าง และที่สำคัญโครงการนี้เป็นครั้งแรกที่กองทัพเรืออนุญาตให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ คือสมัยก่อนกองทัพเรือจะกังวลใจเรื่องอู่ตะเภามาก แต่ตอนนี้จากการที่คุยกองทัพเรือบอกว่ารูปแบบของสนามบินดอนเมืองก็น่าสนใจ คือข้างหนึ่งเป็นกองทัพอากาศ อีกข้างเป็นสนามบินดอนเมืองที่เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ อู่ตะเภาก็จะทำเช่นเดียวกันคือข้างหนึ่งเป็นกองทัพเรือ และอีกข้างหนึ่งเป็นสนามบิน …

ถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็จะมีพื้นที่ทั้งสิ้นทันที 8,000 ไร่ โดย 1,000 ไร่จะมีรันเวย์ที่ 2 เกิดขึ้น และจะมีท่าอากาศยานใหญ่ซึ่งในอนาคตจะสามารถรองรับผู้ที่เดินทางได้ 30-40 ล้านคน ก็จะเป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 3 ของประเทศไทย คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา และจุดนี้ที่สำคัญคือ จะเป็นศูนย์ป้อมอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ใหญ่ยิ่งกว่าสิงคโปร์ และถ้ามีศูนย์ป้อมอากาศยานก็จะหมายถึงการเทรนช่างหรือการเทรนวิศวกร การวิจัย รวมไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือชิ้นส่วนการบิน พอทำตรงนี้เสร็จแล้วนอกจากจะมีท่าเรือน้ำลึก ปิโตรเคมี ยังจะมี Aviation Center ที่สำคัญอยู่ตรงนี้”

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อด้วยว่า ด้วยศักยภาพและความพร้อมของ EEC ทำให้ธุรกิจใหญ่ข้ามชาติอย่างอาลีบาบาสนใจจะมาร่วมอยู่ใน EEC โดยจะลงทุนและพัฒนาเป็น e-commerce part ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

“การเป็น e-commerce จะต้องมีศูนย์กระจายสินค้า แล้วพื้นที่ตรงนี้อยู่ใกล้ท่าเรือ ตลาด เชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆดีมาก และยังใกล้กับสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งพอเป็นลักษณะนี้อาลีบาบาคิดว่าจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ส่วนของการเป็น Aviation Center นั้น แม้กระทั่งแอร์บัสยังมาติดต่อกับเราตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่จะเปิดเสียที เหมือนกับคนที่จะไปซื้อไอโฟนเข้าไปรอต่อแถวเป็นชั่วโมงเพื่อที่จะเป็นคนแรก ซึ่งแอร์บัสก็สนใจมากเช่นกัน เพราะเครื่องบินจำนวนมากจะไปอยู่ที่เมืองจีน เวลาที่จะต้องซ่อมบำรุงปกติจะต้องบินไปถึงสิงคโปร์ ซึ่งหมายถึงเวลาที่เพิ่มขึ้นถึง 2 ชั่วโมง ขากลับอีก 2 ชั่วโมง หมายความว่าเครื่องบินลำนั้นจะเสียเวลา 4 ชั่วโมงเต็มๆ แต่ถ้าเราตั้งตรงนี้ขึ้นมาได้เครื่องบินหลายลำก็จะมาลงตรงนี้...

แม้กระทั่งแอร์เอเชียก็สนใจใช้ตรงนี้เป็นศูนย์กลางการบิน โดยแอร์เอเชียพร้อมที่จะนำเครื่องบินโลว์คอร์สมาลงตรงนี้ และในอนาคตก็จะมีท่าเรือเฟอร์รี่ที่สัตหีบ คือ เป็นท่าเรือของกองทัพเรือเช่นกัน โดยกองทัพเรือบอกว่าจะให้ครึ่งหนึ่งมาทำท่าเรือเฟอร์รี่และท่าเรือสำราญเพื่อสอดรับกับพัทยา ซึ่งต่อไปคนที่จะไปเที่ยวหัวหินก็ไม่ต้องบินไปสุวรรณภูมิอีกต่อไป สามารถบินลงอู่ตะเภามาขึ้นเฟอร์รี่ เพื่อเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงไปหัวหิน เรือลำนี้จะเป็นเรือลำใหญ่สามารถใส่รถเข้าไปได้ด้วย นี่เป็นเบื้องต้นที่เมื่อได้พูดกับนักลงทุนต่างประเทศเขาก็มีความสนใจมาก เพราะเชื่อว่าตรงนี้จะเป็นศูนย์กลางพิเศษในการดำเนินการ อีกประเด็นที่ได้บอกไปคือ ทำเล สาธารณูปโภคต่างๆ ที่เตรียมไว้ นอกจากสนามบิน และท่าเรือแล้ว เราจะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ใช้เวลาเดินทางเพียง 40 นาที คือ คนขึ้นเครื่องบินสามารถเวียนสนามบินได้อย่างรวดเร็ว...

“นอกจากนี้ ยังได้บอกกับนักลงทุนไปว่า ถ้ามาลงทุนตรงนี้ โดยเฉพาะถ้าย้ายสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคมาตั้งตรงนี้ นอกจากสิทธิประโยชน์ที่จะได้แล้ว ชีวิตความเป็นอยู่จะดีมาก อย่างอยู่ที่สิงคโปร์เที่ยว 4 วันก็เบื่อแล้ว คือวันแรกเดิน Street ที่ขายของ อีกวันไปเที่ยวซานโตซ่า ร้านอาหารไม่กี่ร้านก็หมดแล้ว แต่ถ้ามาอยู่ตรงนี้เบื่อก็ไปพัทยา ถ้าอยากสบายๆก็ไประยองที่มีเกาะต่างๆ พอนักลงทุนได้ยิน 3 เรื่องนี้ ทำเล สาธารณูปโภคต่างๆ และคุณภาพชีวิต ก็ทำให้นักลงทุนตัดสินใจง่ายขึ้น”

ส่วนการที่โครงการเศรษฐกิจพิเศษ EEC เดินตามโมเดลเขตเศรษฐกิจพิเศษ KANSAI นั้น ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า เหตุมาจากนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ไปดูว่ามีที่ไหนที่น่าสนใจในโลกที่ทำโครงการแบบนี้ ซึ่งจากการไปศึกษาในหลายๆ ที่เช่น เซี่ยงไฮ้ที่จีน อินชอนที่เกาหลีใต้ และที่มาเลเซีย พบว่ามีลักษณะคล้ายกัน แต่ที่ KANSAI น่าสนใจที่สุดเพราะญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ มีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 12 แห่งแล้วหนึ่งในนั้นก็คือ KANSAI ซึ่งเป็นพื้นที่ 3 จังหวัดที่อยู่รวมกัน คือ เกียวโต โอซากา และโกเบ โดยภูมิศาสตร์ของพื้นที่เหมือนกับฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี มีอุตสาหกรรมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยาและพลังงานทางเลือกที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ของญี่ปุ่น มีสาธารณูปโภคที่สำคัญ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ มีสนามบิน มีรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีรถไฟรางคู่ ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายกับที่ไทยจะมี

“ที่สำคัญคือเขตเศรษฐกิจพิเศษ KANSAI มีส่วนประกอบ 2 อย่างด้วยกัน คือมีทั้งอุตสาหกรรมและท่องเที่ยว ของไทยก็จะมีเขตอุตสาหกรรมที่ระยอง ฉะเชิงเทรา และมีพื้นที่พัทยาเป็นหัวใจอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกัน โดยได้ไปศึกษาว่าถ้าจะทำแล้วจะได้ประโยชน์ที่สุดจะทำอย่างไรได้บ้าง พบว่า KANSAI ประสบความสำเร็จเพราะมีกฎหมายพิเศษ เป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับที่นี่เลย ก็เลยตัดสินใจว่าจะมีกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมาเป็นกฎหมายพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจกับสำนักงานที่ดูแลตรงนี้ดูแล 3 จังหวัดในด้านเอกสาร เช่น แต่ก่อนนักลงทุนมาต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน แต่ทำไม่ได้เพราะตัวโรงงานต้องไปกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำเรื่องขอวีซ่าก็ต้องไปกระทรวงการต่างประเทศ จะไปทำเรื่องสุขภาพต่างๆก็ต้องไปทำที่อื่น แต่ที่นี่ตอบโจทย์ One Stop Service อย่างแท้จริง ...

ที่ KANSAI ยังมีคณะกรรมการ 3 ระดับ ซึ่งเราก็มีตามนั้นคือ ระดับ 1. จะเป็นระดับประเทศดูแลด้านนโยบาย ซึ่งเราได้ตั้งกรรมการนโยบายไปแล้ว ระดับ 2. คณะกรรมการบริหารก็เป็นอีกหนึ่งคณะกรรมการที่คอยจัดการการบริหารที่มีลักษณะเดียวกับ KANSAI และ ระดับ 3.คณะกรรมการระดับพื้นที่ ซึ่งก็ได้ไอเดียมาและตั้งใจว่าคนที่มาลงทุนที่นี่ต้องบริจาคเงินบางส่วนเพื่อพัฒนาพื้นที่ และจำนวนเงินนี้ก็จะนำมาบริหารจัดการพร้อมกับคนในพื้นที่ซึ่งก็ได้เห็นตัวอย่างใน KANSAI ก็เป็นที่น่าสนใจมาก และยังมีอีกหลายอย่างใน KANSAI ที่พบว่านอกจากจะมีเรื่องกฎหมายใหม่ เรื่องกลไกพื้นที่ และยังจะมีศูนย์ R&D เมืองวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำนักวิจัยจากต่างประเทศเข้ามา ก็จะมีลักษณะเดียวกันกับ KANSAI…

สุดท้ายยังต้องมีแผนพัฒนาเมือง พอพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอุตสาหกรรม คนก็จะเข้ามาอยู่ตรงนี้มากขึ้น ก็ต้องมีการพัฒนาเมืองและสาธารณูปโภคต่างๆ เพราะสมัยก่อนคนจะบ่นเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ดมาก จะบ่นเรื่องมีคนงานเข้ามารวมกัน 3 ล้านคน จำนวนโรงเรียนเท่าเดิม แต่จำนวนโรงพยาบาลเท่าเดิม ทำให้ภาครัฐตั้งใจว่าจะพัฒนาเมืองไปพร้อมๆกัน และก็ตั้งใจว่าบางเมืองจะทำให้เป็นตัวอย่างของประเทศไทย ก็เป็นความตั้งใจที่ได้เห็นตัวอย่างจาก KANSAI แล้วท่านนายกรัฐมนตรียังสั่งว่าอะไรที่ไทยยังสามารถเลียนแบบได้บ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบ KANSAI 100% แต่จะตามหลังเขาไม่ต้องคิดเองทั้งหมดก็ได้ และนำสิ่งดีมาประยุกต์ใช้ บางอย่างอาจมาจากจีน บางอย่างมาจากเกาหลีก็ได้ ซึ่งทั้งหมดถ้านำมารวมกันแล้วก็จะทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญที่สุดในอาเซียนและเอเชียต่อไป”

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีกำชับว่า ในปี 2560 นี้จะต้องพัฒนา EEC ให้สำเร็จ 5 โครงการเป็นอย่างน้อย เพราะโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลที่ต้องขับเคลื่อนให้ได้

“เมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการออกม.44 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระดับประเทศเรื่อง EEC รวมถึงคณะกรรมการบริหาร และสำนักงานจัดการ ความจริงรอกฎหมายก็ได้ แต่กฎหมายต้องใช้เวลาอีก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ท่านนายกรัฐมนตรีจึงได้ออกม.44ทันทีเพื่อเดินหน้าก่อน และหลังจากนั้นก็จัดตั้งคณะกรรมให้เรียบร้อย พร้อมอำนาจ และมีงบประมาณให้ โดยต้องทำให้ได้ 5 โครงการเป็นอย่างน้อย คือ โครงการที่ 1 การทำอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบิน โครงการที่ 2 คือ การทำโครงการแหลมฉบังเฟสที่ 3 ให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าในภูมิภาค โครงการที่ 3 โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการที่ 4 คือ โครงการดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่าง Aviation และโครงการที่ 5 คือเรื่องของการพัฒนาเมืองใหม่ คิดว่าโครงการต่างๆนี้จะเริ่มใน 2-3 เดือนข้างหน้า และในช่วงปลายปีโครงการต่างๆน่าจะเริ่มเดินหน้าอย่างเต็มตัว…

“คำสั่งแรกที่ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งเมื่อเริ่มต้นโครงการนี้คือ ต้องดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นเวลาทำเรื่องนี้จะเห็นเลยว่างบประมาณประจำปีที่เตรียมไว้ จะเรียกว่างบ EEC ซึ่งเป็นงบพิเศษเพื่อพัฒนาพื้นที่ เช่น การเตรียมงบเพื่อยกระดับโรงพยาบาล การยกระดับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงการไฟฟ้าหรือประปา และได้คุยกับสำนักงบประมาณว่าควรจะใช้พื้นที่นี้เป็นตัวอย่างของการจัดการแรงงานแฝง เพราะปกติจะมีงบประมาณการจัดสรรคนลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวต่อไปต้องคิดแล้วว่าแรงงานที่เพิ่มเข้ามาจะต้องคิดเพิ่มเติมในเรื่องการรองรับอย่างไร อย่างเรื่องของน้ำ การจราจร สาธารณูปโภคต่างๆ ประชาชนในพื้นที่จะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ สุดท้ายพอสร้างนิคมอุตสาหกรรมต่างๆขึ้นมาได้ ก็จะหาทางให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับโอกาสในการทำงานก่อน คือต้องได้อะไรด้วยในการสร้างโรงงานต่างๆ เหล่านี้”

1 view
bottom of page