top of page
327304.jpg

แบงก์ปี 60 ยังดิ้นรนหนัก..หวังเศรษฐกิจโตปลุกรายได้


มองธุรกิจแบงก์ปี 60 ยังต้องกระเสือกระสนหาทางสร้างรายได้เพิ่มกำไร เหตุสภาพแวดล้อมธุรกิจท้าทายมากขึ้น ทั้งเรื่องกฎกติกา ต้นทุนการเงิน เทคโนโลยี เชื่อแบงก์เตรียมรับมือไว้แล้ว หากการลดต้นทุนไม่ง่าย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ส่งผลค่าใช้จ่ายต่อรายได้ยังทรงตัวที่ 43-44% หวังเศรษฐกิจโตปลุกรายได้สินเชื่อช่วยเสริมการบริหารต้นทุนอย่างเข้มข้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานคาดการณ์สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 ว่า ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ปี 2559 ที่ผ่านพ้นไปด้วยตัวเลขกำไรสุทธิรวมจำนวน 1.97 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากปีก่อนนั้น แม้ว่าจะดีขึ้นกว่าปี 2558 ที่หดตัว 7.0% แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการบริหารจัดการต้นทุนในเชิงรุก ทั้งฝั่งที่เป็นรายจ่ายดอกเบี้ย และฝั่งรายจ่ายจากดำเนินงานอื่นๆ เพื่อให้สามารถลดทอนผลกระทบจากอัตราการเติบโตของรายได้ที่ชะลอลง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยของธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

สำหรับในปี 2560 คาดว่า สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่มีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าปีที่ผ่านมา น่าจะทำให้ธนาคารหลายแห่งให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่น่าจะช่วยหนุนได้ดีกว่าปีก่อนๆ ก็คือ สินเชื่อที่มีโอกาสเติบโตดีขึ้น และสถานการณ์คุณภาพหนี้ที่น่าจะเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ในช่วงครึ่งหลังของปี

ความท้าทายสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 คงจะมาจากโจทย์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ โจทย์ทางด้านกติกา ทิศทางต้นทุนทางการเงิน และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ภาพในปีนี้แตกต่างไปจากโจทย์ในช่วง 2-3 ปีก่อน ที่ความกังวลหลักจะอยู่ที่ประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

โจทย์แรก รายได้ค่าธรรมเนียมอาจเติบโตชะลอลงในระยะสั้น จากการเปลี่ยนผ่านของกฎเกณฑ์ กติกาการกำกับดูแล และโครงการของรัฐ ที่เริ่มต้นปีด้วยการเดินหน้าโครงการ National e-Payment ในส่วนของ “โครงการพร้อมเพย์” (PromptPay) ที่เปิดตัวไปแล้วในส่วนของการโอนเงินระหว่างบุคคล-บุคคล เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา และตามมาด้วยการเตรียมให้บริการพร้อมเพย์นิติบุคคลในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2560 โดยคาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 อาจได้รับผลกระทบราว 3.1-3.6 พันล้านบาทจากโครงการพร้อมเพย์ (ภายใต้สมมติฐานว่า 60% ของผู้ลงทะเบียนเปลี่ยนมาใช้ระบบพร้อมเพย์เป็นช่องทางหลักในการทำธุรกรรมโอนเงิน)

ขณะที่ การดำเนินการในส่วนของ “การขยายเครือข่ายร้านค้ารับบัตร” หรือเครื่อง EDC/MPOS ก็น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ ความเข้มงวดของ “เกณฑ์ดูแลการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” อาทิ ผลิตภัณฑ์ประกัน ผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา ก็อาจทำให้การเติบโตของรายได้ค่านายหน้าจากการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินในปีนี้ มีความท้าทายเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

โจทย์ที่สอง การเปลี่ยนผ่านไปสู่จังหวะการทยอยปรับตัวสูงขึ้นของ “อัตราดอกเบี้ยในตลาด” ซึ่งคงกดดันต้นทุนทางการเงิน และทำให้ยังคงต้องเฝ้าระวังคุณภาพของหนี้อย่างใกล้ชิด โดยทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่มีโอกาสกลับมาไต่ระดับขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณคุมเข้มดอกเบี้ยที่ชัดเจนขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของไทย ซึ่งท้ายที่สุดอาจมีผลต่อเนื่องให้ต้นทุนการระดมเงินฝากก้อนใหม่บางส่วนของธนาคารพาณิชย์ต้องเริ่มขยับขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (LTD+B/E) ไต่ระดับขึ้นเข้าใกล้ 98% อันบ่งชี้ถึงสภาพคล่องที่ค่อนข้างตึงตัว และเป็นสัญญาณว่าการแข่งขันระดมเงินฝากจะเริ่มกลับมาเข้มข้นขึ้นในปีนี้

ขณะเดียวกัน ทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทำให้ยังต้องจับตาดูประเด็นด้านความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า (โดยเฉพาะลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ลูกค้าบุคคลรายย่อย และลูกค้าที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ยังคงนโยบายตั้งสำรองในระดับสูง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อเตรียมการล่วงหน้ารองรับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารและมาตรฐานบัญชี (IFRS9) ในอนาคตด้วย

โจทย์ที่สาม การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มแต้มต่อ ท่ามกลางความเข้มข้นของสนามการแข่งขันของบริการด้านการเงิน กระบวนการ Disruptive Innovation ในธุรกิจการเงินไทยในปัจจุบันที่คืบหน้าอย่างรวดเร็ว และยังมีแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้นอีก หลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางแผนจะให้ใบอนุญาตธุรกิจใหม่ๆ และเริ่มทดสอบ Regulatory Sandbox ในปี 2560 คงทำให้สุดท้ายแล้ว จะมีผู้เล่นทั้ง FinTech และผู้ประกอบการในธุรกิจอื่น อาทิ e-Commerce โทรคมนาคม และค้าปลีก ก้าวเข้าสู่สนามแข่งขันกับบริการด้านการเงินของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง น่าจะเตรียมแผนธุรกิจ/วางกลยุทธ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโจทย์ท้าทายทั้ง 3 ด้านดังกล่าวไว้ล่วงหน้า แต่การประหยัดต้นทุนส่วนเพิ่มในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ อาจทำได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า การรับมือกับโจทย์ท้าทายของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 ด้านดังกล่าวข้างต้น บางส่วนอาจทำได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการด้านต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนจากการดำเนินงาน อาทิ การรับมือกับการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคมาสู่การเงินออนไลน์ ด้วยการปรับช่องทางการให้บริการมาเน้นช่องทางดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น พร้อมๆ กับการปรับโมเดลสาขาของธนาคารพาณิชย์ ทั้งรูปแบบการควบรวมสาขา/การปิดสาขาที่ในพื้นที่ที่ซ้ำซ้อนและมีธุรกรรมไม่หนาแน่น แต่บางส่วนก็อาจจะกลายมาเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หรือรายจ่ายต่อเนื่องสำหรับธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ด้วยเช่นกัน เช่น การยกระดับประสิทธิภาพของพนักงานสาขา (Upskill) ตลอดจน การจัดสรรเม็ดเงินลงทุนในระบบเทคโนโลยีและธุรกิจฟินเทคที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมความเข้มแข็งและต่อยอดบริการอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นจุดเด่น เพื่อแสวงหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจจะกลายมาเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมในอนาคต ดังนั้น จึงประเมินว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost-to-Income Ratio) ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 จะยังคงอยู่ในกรอบที่ไม่หนีไปจากปีก่อนที่ราว 43-44%

ส่วนประเด็นเรื่องการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการวางกลยุทธ์บรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เตรียมปรับขึ้นไว้แล้วล่วงหน้า ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การรักษาสัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA) ให้อยู่ในระดับสูง ตลอดจนการเน้นออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษเท่าที่จำเป็น โดยเลื่อนการใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดหรือดึงเงินใหม่ออกไปก่อน เป็นต้น ซึ่งคงช่วยทัดทานผลกระทบจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยตลาดได้ระยะหนึ่ง

ขณะที่ด้วยการบริหารจัดการต้นทุน ทั้งต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายและต้นทุนดำเนินงาน ถูกขึงให้ตึงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงที่เศรษฐกิจเผชิญปัญหาการฟื้นตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร อีกทั้งการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมส่วนอื่นๆ ก็เผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง จากภาวะที่ความต้องการของตลาดลูกค้าเดิมค่อนข้างอิ่มตัว และเผชิญการแข่งขันด้านราคาจากคู่แข่งเพื่อแย่งชิงเค้กเดียวกันมากขึ้น ดังนั้น แรงขับเคลื่อนการเติบโตฝั่งรายได้ในปี 2560 จึงต้องหวังพึ่งการกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นของสินเชื่อ ตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และการควบคุมคุณภาพหนี้

ทั้งนี้ คาดว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 4.0% กรอบคาดการณ์ที่ 3.0-5.0% หรือเพิ่มขึ้นราว 3.4-5.6 แสนล้านบาท (จากที่เติบโตประมาณ 2.5% ในปี 2559) ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวของจีดีพีในปี 2560 ที่กรอบ 3.0-3.6% โดยคาดว่า จะเห็นธนาคารพาณิชย์รุกสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง (Yield) อาทิ สินเชื่อรายย่อย และเอสเอ็มอี เพื่อช่วยเสริมความเข้มแข็งของรายได้ดอกเบี้ย ขณะที่ มองว่า หากเศรษฐกิจสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะช่วยทำให้สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL) มีโอกาสแตะระดับสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/2560 ที่ 3.01% ก่อนที่จะปรับลดลงมาที่ 2.95% ในไตรมาส 4/2560 ซึ่งจากภาพทั้งหมด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2560 ยังมีโอกาสทรงตัวในกรอบประมาณ 3.00-3.15% ใกล้เคียงกับปี 2559 แม้ว่าต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจะทยอยไล่ระดับขึ้นในระยะที่เหลือของปีนี้ก็ตาม

0 views
bottom of page