top of page
327304.jpg

KTB ลุยเก็บญี่ปุ่นลงทุนไทย - ตั้งเป้าดูแล 20% ภายใน 3 ปี


กรุงไทยจับมือบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนญี่ปุ่น ให้บริการทางการเงินธุรกิจแดนปลาดิบที่เข้ามาลงทุนในไทย เล็งฮุบ 920 บริษัทที่เข้ามาลงทุนแล้ว พร้อมขยายส่วนแบ่งตลาดเป็น 20% ของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนไทยกว่า 5,000 บริษัทภายใน 3 ปี ด้านสินเชื่อแฟคตอริ่งคาดปีนี้โตต่อเนื่อง ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 20% ในปี 61

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับ บมจ.โตโย บิซิเนส เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาลูกค้าญี่ปุ่นด้านการตลาด กฎหมาย การเงิน การลงทุน เปิดตลาดการให้บริการทางการเงินแก่นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนสูงกว่า 5,000 บริษัท ซึ่งมีความต้องการบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบ ขณะที่ก่อนหน้านี้ บมจ.โตโยฯ เป็นที่ปรึกษาบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยแล้วประมาณ 920 บริษัท

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชำระเงินอย่างครบวงจรให้กับลูกค้าที่เป็นสมาชิกของ บมจ.โตโยฯ ซึ่งมีหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารทะเลแปรรูป ผู้จำหน่ายเครื่องมือและเครื่องจักร ผู้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ และธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยในระยะแรกธนาคารให้บริการรับ-จ่ายเงิน และบริการทางการเงินต่างประเทศ ผ่าน Internet Banking และ Mobile Banking

สำหรับในระยะต่อไป จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยจะสนับสนุนสินเชื่ออัตราพิเศษ เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้า และต่อยอดสู่การสนับสนุนสินเชื่อทุกขั้นตอนการทำธุรกิจ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ทั้งผู้ผลิต และตัวแทนจัดจำหน่าย โดยจะเน้นให้บริการกับสมาชิกของ บมจ.ก่อน เป็นหลัก และตั้งเป้าหมายเป้าหมายภายใน 3 ปีขยายฐานลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยให้มีส่วนแบ่งตลาด 20% ของจำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทย

นอกจากนี้ ธนาคารได้เตรียมจัดสัมมนา Business Matching ด้านเทคโนโลยีการเงิน ทิศทางการดำเนินงาน และการบริหารจัดการองค์กร ให้กับลูกค้าของธนาคารและลูกค้าที่เป็นสมาชิกของ บมจ.โตโยฯ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางธุรกิจ และเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยต่อยอดให้ธุรกิจไทยและญี่ปุ่นที่ร่วมมือกันมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

“ภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่เข้าลงทุนในไทย หลายธุรกิจไม่สามารถใช้บริการทางการเงินจากทางญี่ปุ่นได้ เนื่องจากธนาคารที่กิจการเหล่านั้นใช้ในญี่ปุ่นไม่ได้มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมถึงต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น มีธนาคารญี่ปุ่นที่เป็นสากล (เมกะ) ที่ให้บริการได้ทั่วโลก แต่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนเอสเอ็มอีส่วนมากใช้ธนาคารประจำท้องถิ่น (Regional Bank) ที่ไม่ได้มีเครือข่ายสาขาต่างประเทศ หรือใช้บริการธนาคารเฉพาะกิจที่ไม่มีเครือข่ายสาขาต่างประเทศเช่นกัน ทำให้เมื่อธุรกิจเหล่านั้นออกมาลงทุนในไทยหรือประเทศอื่นๆ จึงต้องอาศัยบริการทางการเงินของประเทศนั้นๆ ถือเป็นโอกาสที่ดีของธนาคารกรุงไทยที่ได้ร่วมมือกับ บมจ.โตโยฯ ในครั้งนี้” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวและว่า

ในส่วนของธุรกิจรับซื้อลูกหนี้การค้า หรือสินเชื่อกรุงไทยแฟ็กเตอริง (KTB Factoring) ในปีนี้จะขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่มีอัตราเติบโตสูงถึง 30% คิดเป็นยอดเงินสินเชื่อราว 8,000 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารลงพื้นที่เข้าหาภาคธุรกิจมากขึ้น และจากการร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย เป็นช่องทางรับเอกสารเพื่อขอสินเชื่อ ทำให้มีความสะดวก ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม อาหาร เวชภัณฑ์ยา วัสดุก่อสร้าง และปิโตรเคมี ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อแฟคตอริ่ง 12% และตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 20% ภายในปี 2561

1 view
bottom of page