top of page
312345.jpg

การันตี “เช็ครัฐบาล” ไม่มีวันติดสปริง....ใช้จ่ายตามกรอบวินัยการเงิน


ผอ.สมศักดิ์ แจงตัวเลขรายจ่าย 4 เดือนของงบประมาณปี 60 สูงกว่าเป้า 3.69% รายจ่ายด้านการลงทุนต่ำกว่าเป้า 1.89% แต่การทำสัญญาว่าจ้างสูงกว่าปีก่อน 2 - 4% ย้ำ! เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังต้องบริหารเงินคงคลังให้สอดคล้องกับงบรายจ่ายที่สำนักงบฯ สั่งจ่าย-ทำสัญญาไปแล้ว ด้านงบฯกลางปี 1.9 แสนล้าน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเชื่อมโยงกับแนวทางประชารัฐ ส่วนการตั้งงบฯขาดดุลในช่วง 3 ปีของรัฐบาลคสช.ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยและอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการใช้งบประมาณปี 2560 ที่ผ่านมาแล้ว ประมาณ 4 เดือนกว่า ณ วันที่ 31 มกราคม 2560 การใช้จ่ายคิดเป็น 40.6% จากที่ประเมิณไว้ 36.77% ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.69%

“ในส่วนของรายจ่ายลงทุนกำหนดไว้ที่ 25.7% ตอนนี้จ่ายไปโดยไม่รวมกับงบกลางก็อยู่ที่ประมาณ 23.88% ต่ำกว่าเป้าหมายนิดหน่อย 1.89% แต่ว่าการทำสัญญาได้ทำถึง 55.33% ถือว่ารายจ่ายสูงกว่าปีที่แล้ว 2-4% และสูงกว่าปี 2558 ที่ 13% ...

ในระบบของสำนักงบประมาณเมื่อมีการสั่งจ่ายไปหรือการทำสัญญาไปแล้ว ก็จะมีงบประมาณที่ไปจ่ายตามงวดงานในสัญญา เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะต้องบริหารเงินคงคลังที่ใช้จ่ายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของปี 2560”

สำหรับงบประมาณกลางปี 2560 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาและเป็นงบประมาณรายจ่ายถึง 190,000 กว่าล้านบาทนั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่ามาจากงบประมาณรายได้ประมาณ 27,078 ล้านบาท และมาจากการกู้เงินของกระทรวงการคลังที่มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลประมาณ 162,900 กว่าล้านบาท รวมแล้วเป็นวงเงินเพิ่มเติม 190,000 ล้านบาทถ้วน ในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องการชดใช้เงินคงคลัง 27,078 ล้านบาท และเป็นเรื่องของแผนงานการบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของเศรษฐกิจในประเทศ อีก 115,000 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการผ่านงบประมาณกลางปี 2560 ก็จะใช้จ่ายเป็นแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของเศรษฐกิจในประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน 1.เรื่องโครงการที่มาจากแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ประมาณ 74,000 ล้านบาท 2.เป็นงบกลางเรื่องค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ ประมาณ 19,000 ล้านบาท และ 3. เป็นเรื่องของกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้าน รวมแล้วเป็นยอดเงินเพื่อใช้สำหรับแผนการบูรณาการ 115,000 ล้านบาท...

ในจำนวน 74,000 ล้านบาทก็จะเป็นการใช้จ่ายในเรื่องของค่าแนวทาง 18 กลุ่มจังหวัด โดยแนวทางที่ 1 เป็นเรื่องของการพัฒนาศักยภาพภาคการลงทุน การค้า และ อุตสาหกรรม แนวทางที่ 2 เป็นเรื่องของการพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตร แนวทางที่ 3 เป็นเรื่องของการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยว แนวทางที่ 4 เป็นเรื่องของการพัฒนาศักยภาพด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม และแนวทางที่ 5 เป็นเรื่องของโครงการพิเศษขนาดใหญ่ ในส่วนของงบประมาณ 4 แนวทางแรกกับกลุ่มจังหวัดจะมียอดเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท มีทั้งหมด 18 กลุ่ม ยอดเงินก็จะลดลงไปตั้งแต่ 37,000 – 49,000 ล้านบาทโดยประมาณ”

นายสมศักดิ์กล่าวด้วยว่า งบประมาณกลางปี 2560 นี้ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนฐานรากทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มจังหวัดและจังหวัด เป็นภาคของการบูรณาการในระดับพื้นที่ เพื่อยกระดับจากจังหวัดขึ้นมาเป็นระดับกลุ่ม และในปี 2561 ก็จะยกระดับขึ้นมาเป็นการวางแผนพัฒนาภาคทั้ง 6 ภาคด้วยกัน

“จะค่อยๆยกระดับขึ้นมาเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่าง 3 มิติ มิติ Agenda คือยุทธศาสตร์และงบประมาณ , มิติของ Function เป็นเรื่องของอำนาจและหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม ที่ไปลงในพื้นที่กลุ่มจังหวัดต่างๆ และ มิติของ Area สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการเชื่อมโยงทั้งหมด 3 มิติ รวมถึงในปี 2561 จะมีเรื่องของการวางแผนพัฒนาแนวทางประชารัฐมาร่วมด้วยเป็นมิติที่ 4 เพื่อให้การพัฒนาเกิดความรอบคอบและยั่งยืน เพราะทางประชารัฐจะมีโมเดลในการพัฒนาให้ครบวงจรตั้งแต่ภาคการผลิต ภาควิจัยการผลิต ภาคการจัดจำหน่ายและการตลาด เพื่อที่จะให้การพัฒนาครบวงจรและมีความยั่งยืน การวางพื้นฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคจังหวัดและชุมชนต่างๆ

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์กล่าวด้วยว่าในปี 2561 มีเป้าหมายในการเบิกใช้จ่ายงบประมาณที่ 88% สูงกว่าปี 2559 ที่กำหนดไว้ 87% ขณะที่ปี 2560 คาดว่าการใช้จ่ายงบลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเป้าหมายการใช้จ่ายงบลงทุนจะเป็นในแนวทางที่ท้าทายยิ่งขึ้นในปี 2561 ซึ่งเป้าหมายรวมอยู่ที่ประมาณ 96.5%

ส่วนที่มีความกังวลกันว่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมามีการตั้งงบประมาณขาดดุลและหลายแสนล้านบาทนั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า งบประมาณขาดดุลของรัฐบาลคสช.ยังไม่ถึง 2 ล้านล้านบาท และถ้าพูดในแง่ของการขาดดุล หรือการกู้เงินเพิ่ม ก็ถือว่ายังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

“ในปี 2560 อยู่ที่กว่า 42% ของ GDP คิดว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้ก็น่าจะไม่เกิน 44% ปีหน้าก็คงจะไม่เกิน 50% ก็คงอยู่ในระดับ 45% โดยประมาณในอดีตก่อนที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ตามหลักกระทรวงการคลัง, IMF หรือตามหลักสากลกำหนดไว้จะไม่ให้เกิน 60% ของ GDP แต่ว่าตอนนี้เรายังกำหนดให้ต่ำกว่า 50%ของ GDP ไว้เพื่อที่จะให้เกิดสัดส่วนที่ปลอดภัยมากกว่ามาตรฐานสากล เพราะเรื่องของการกู้เงินชดเชยการขาดดุลจะมีเครื่องมือและกลไกที่จะไม่ให้ขาดดุลเกินสมควร ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุวิกฤตเศรษฐกิจก็ต้องมีระยะเวลาในการตั้งงบประมาณขาดดุล ก็อยู่ในระยะเวลาประมาณ 7-8 ปีขึ้นไปและคงไม่ให้เกินไปกว่านี้”

0 views
bottom of page