top of page
312345.jpg

เตือนต่างชาติชะลอลงทุน..'Trump' ช็อกโลก คน Wait & See


นโยบายทรัมป์ทำให้ทั่วโลกอยู่ในสภาพ Wait & See ปีนี้เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ราคาน้ำมันยังแกว่งตัวในช่วงขาลงมากกว่าขาขึ้น นโยบายกีดดันทางการค้าของอเมริกาจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ดังนั้น ส่งออกของไทยจะไม่ถูกกระทบมากนัก เผลอๆ ส่งออกของไทยปีนี้จะเป็นบวก ส่วนการลงทุนจากต่างชาติในไทยจะชะลอตัวหรือเลื่อนออกไป ตลาดหุ้นจะเทรดกันแบบสั้นๆ เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งการอัดฉีดจากภาครัฐและธุรกิจท่องเที่ยวที่ยังพอขยายตัวได้

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ว่า น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะมีแรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวยังขยายตัว แม้จะมีผลกระทบจากทัวร์ศูนย์เหรียญบ้าง แต่ผลกระทบนั้นก็ค่อยๆลดทอนน้ำหนักลงไปและจะกลับมาเป็นปกติ แต่มีปัจจัยที่อาจมากระทบไทยคือความไม่แน่นอนในเรื่องต่างประเทศจากนโยบายของสหรัฐอเมริกา

“นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ที่ผ่านมา เขาทำตามประเด็นทางการเมืองในสิ่งที่ได้หาเสียงไว้ และมีคำสั่งจากฝ่ายบริหารออกไป 10 กว่าคำสั่ง แต่คำสั่งเหล่านั้นที่ออกไป คงจะไม่ได้มีผลกระทบกับสภาคองเกรสเท่าไหร่ คือเป็นท่าทีร่วมกันของพรรครีพับรีกัน แต่ประเด็นที่ต้องติดตามคือเรื่องภาษีที่จะจัดเก็บจาดสินค้าผ่านชายแดน และการปฏิรูปโครงสร้างภาษีต่างๆ ตรงนี้คงต้องเข้าสภาคองเกรส เพราะมีความเห็นที่หลากหลายพอสมควรในพรรครีพับริกันเอง ดังนั้น กระบวนการเรื่องภาษี เรื่องการต่อรองทางการค้าต่างๆคิดว่าจะนานและช้า”

ดร.เชาว์กล่าวถึงเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาด้วยว่า ตัวเลขจีดีพีของสหรัฐอเมริกาไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อยคือ 1.9% ส่วนดีจีพีทั้งปีอยู่ที่ 1.6% ตามที่ประเมินไว้ ส่วนปี 2560 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาน่าจะมีแนวโน้มในเชิงบวกจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขความมั่นใจของผู้บริโภคที่ขยับขึ้นและทุกคนรอดูมาตรการภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ การลดภาษีรายได้ต่างๆ และรายจ่ายด้านการคลัง ซึ่งถ้าออกมาจริงก็คงมีผลกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งไอเอ็มเอฟเองก็ประเมินเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาว่าจะดีขึ้น โดยประมาณการล่าสุดให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขยายตัว 2.3% ซึ่งสูงกว่าประมาณการรอบที่แล้ว

“คาดว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกาน่าจะใช้นโยบายการคลัง ส่วนนโยบายการเงินทางเฟดน่าจะจ่อจังหวะที่จะขึ้นดอกเบี้ย รอดูว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจมั่นคงแข็งแรงพอ แล้วเงินเฟ้อมีโมเมนตัมต่อเนื่องอย่างที่คาดไว้จริง เขาคงจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่เคยกล่าวไว้ ขณะที่เราเองมองว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ฉะนั้นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่การบริโภค และอยู่ที่มาตรการทางด้านการคลังของโดนัลด์ ทรัมป์...

ส่วนที่คาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ตรงนี้ถือเป็นการประมาณเบื้องต้น ถ้ามองตรงนี้ ก็น่าจะช่วงกลางปี 1 ครั้ง และปลายปีอีก 1 ครั้ง คิดว่าเฟดอาจจะรอวิเคราะห์ตัวเลข รอประเมินสถานการณ์จากการดำเนินมาตรการของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากตัวเลขตลาดแรงงานต่างๆ จากราคาน้ำมัน ซึ่งก็เหมือนกับว่าราคาน้ำมันจะขึ้นมากไม่ได้เพราะหลุมขุดเจาะของสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเหมือนกัน ดังนั้น เฟดก็ต้องชั่งน้ำหนักหลายตัว และอาจต้องใช้เวลา ซึ่งมองไว้ที่กลางปีที่จะขึ้นดอกเบี้ย...

ในเรื่องของน้ำมัน ตอนนี้อยู่ที่ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีการแกว่งตัวได้สูง ถ้าเชลล์ออยล์ (Shale Oil) เชลล์แก๊ส (Shale Gas) ของสหรัฐอเมริกาออกมาเรื่อยๆ และเศรษฐกิจโลกไม่ดีเท่าไหร่ น้ำมันก็อาจจะยืนระดับได้ไม่มากนัก ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องตามเรื่อยๆและดูโมเมนตัมของเงินเฟ้อซึ่งจะถูกกำหนดจากราคาน้ำมันส่วนหนึ่ง ถูกกำหนดจากสถานการณ์ตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกาอีกส่วนหนึ่ง”

สำหรับท่าทีและนโยบายของประเทศใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น ในการตอบรับกระแสของสหรัฐอเมริกานั้น ดร.เชาว์กล่าวว่า ต้องจับตาดูภาษีที่สหรัฐอเมริกาจะจัดเก็บจากการค้าชายแดน ซึ่งเม็กซิโกจะเป็นประเทศแรกที่จะได้รับผลกระทบ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดเก็บภาษีการค้าชายแดนต้องใช้เวลาและไม่ง่ายเหมือนนโยบายที่ออกมา 10 ฉบับก่อนหน้านี้ เพราะผลกระทบไม่ชัดเจนจะเป็นผลบวกต่อสหรัฐอเมริกาทั้งหมดหรือไม่ อีกทั้ง การขึ้นภาษีจากสินค้าที่ผ่านแดนเข้ามา จะทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และอาหาร นอกจากนั้นเม็กซิโกก็คงไม่ยอมสหรัฐอเมริกาง่ายๆ ขณะที่สภาคองเกรสก็มีมุมมองของตัวเองในเรื่องปฏิรูปภาษี ดังนั้น กระบวนการภาษียังต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะลงตัวตกผลึกถึงขั้นดำเนินการได้

“ส่วนเรื่องการไม่เข้าร่วม TPP ของสหรัฐอเมริกานั้น ในแง่ของสัญลักษณ์ หน้าตาอะไรต่างๆจีนก็คงจะดูดีกว่าสหรัฐอเมริกาในแง่ของบทบาทเวทีโลกที่ดูจะเปิดกว้างกว่าสหรัฐอเมริกา ขณะที่ TPP เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่เอาแล้ว 11 ประเทศที่เหลือจะผลักดันต่อก็ต้องผ่านกระบวนการอีกเหมือนกัน เพราะมีเงื่อนไขกติกาหรือสัญญาที่ทำกันไว้ ฉะนั้นจะดึงจีนเข้ามาทันทีก็อาจจะไม่ได้ ต้องใช้เวลา แต่ในแง่ของภาพพจน์ จีนจะดูดีกว่าสหรัฐอเมริกาในเวลานี้...

ต่อมาในส่วนอียูจะเป็นอย่างไร จากที่จะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์เลือกตั้งเดือนมีนาคม ฝรั่งเศสเลือกตั้งเดือนเมษายน และเยอรมันเลือกตั้งเดือนกันยายน ก็อาจมีความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ อาจจะทำให้มีการเลียนแบบอังกฤษที่ออกจากสหภาพยุโรป แต่ดูแล้วความเสี่ยงตรงนี้ไม่น่าจะเยอะ เพราะมาตรการปิดกั้นทางการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำไม่ได้ง่าย และไม่ได้ให้ผลชัดเจนในเชิงบวกที่จะทำให้ประชาชนในประเทศอื่นๆจะเดินตาม ดังนั้น ถึงยุโรปจะมีการเลือกตั้ง แต่ก็คงไม่ถึงกับเปลี่ยนขั้ว...

ในกรณีเบรกซิท กระบวนการอาจจะช้ากว่าที่คาด เพราะศาลสูงสุดของอังกฤษมีคำสั่งว่าเรื่องนี้ต้องผ่านสภา ดังนั้น แทนที่จะผลักดันให้ใช้มาตรา 50 คือไปบอกสหภาพยุโรปว่าจะไม่อยู่ด้วยในเดือนมีนาคมนั้น ดูแล้วก็ไม่น่าจะทัน ต้องเลื่อนออกไป ดังนั้น กระบวนการจะยืดเยื้อซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของอังกฤษเอง”

ทั้งนี้ ดร.เชาว์กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปของโลกว่ากระแสนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเวทีการค้า การลงทุนโลก ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะรอดูสถานการณ์ต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจลงทุน ดังนั้น FDI หรือการลงทุนโดยตรงของต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทยอาจจะช้าลงบ้างในปีนี้

“แต่มาตรการทางการค้าหรือข้อพิพาททางการค้าไม่น่าจะเกิดขึ้นชัดเจนเพราะมีกระบวนการทางกฎหมาย และสภาต่างๆการต่อรองต่างๆ ดังนั้นในปีนี้ การส่งออกไทยยังไม่น่าได้รับผลกระทบในเชิงลบ อีกทั้งจะเป็นบวกต่อเนื่องจากปีที่แล้วจากด้านราคาที่ดีขึ้น ก็จะผลักดันให้ตัวเลขส่งออกขยับขึ้นมาดีกว่าปีที่แล้วได้ ซึ่งเบื้องต้นมองว่าจะดีขึ้นที่ 0.8% แต่ต้องรอดูอีกสักระยะคือมีความเป็นไปได้ว่าจะดีกว่าที่เคยประเมินไว้…

แต่การลงทุนต่างๆยังไม่เต็มประสิทธิภาพ คือถ้าเป็นการลงทุนโดยตรงจากบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติ จะให้ความสำคัญกับนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เขาต้องรอดูท่าที รอดูสถานการณ์ต่างๆ การตัดสินใจลงทุนต่างๆ อาจจะเลื่อนออกไป เพราะไม่รู้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเดินหน้าอย่างไร รุนแรงแค่ไหน แต่เรื่องการค้าอาจจะยังไม่กระทบปีนี้ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยก็ยังต้องพึ่งตัวผลักดันสำคัญไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของรัฐบาล และการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะยังขยายตัวได้ในปีนี้”

ส่วนงบประมาณกลางที่เพิ่งอนุมัติไปเกือบ 2 แสนล้านบาทนั้น ดร.เชาว์กล่าวว่า จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจไทย โดยมุมมองเชิงบวกตัวนี้อาจจะทำให้จีดีพีขยับขึ้นสูงกว่าที่ประมาณการได้ แต่ต้องรอดูรายละเอียดของโครงการ จังหวะของเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ตัวแปรสำคัญของปีนี้จะมีอยู่ 2-3 ตัว คือ 1.จังหวะการเบิกจ่ายงบกลาง 2.ตัวเลขส่งออก 3.กำลังซื้อในประเทศ

“ตอนนี้เงินเฟ้อในไทยขยับขึ้นมา คิดว่าเงินเฟ้อถ้าเทียบกับปีที่แล้ว คงสูงขึ้นแน่นอน เกิน 1% โดยเรามองไว้ที่ 1.8% คือเฉลี่ยทั้งปีน่าจะเกิน 1.5% ดังนั้น นโยบายทางการเงินยากที่จะผ่อนคลายเพิ่มเติม ก็คือคงดอกเบี้ย หรือไม่ถ้าสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 2 ครั้ง เราอาจจะต้องถูกบีบด้วยกลไกการเคลื่อนย้ายเงินทุน ตรงนี้เรามองว่าโอกาสจะเกิดอย่างนั้นได้ แต่ก็คงจะยังไม่เกิดในปีนี้ ทั้งนี้ สำหรับเงินทุนจากนอกที่จะเข้ามา ตอนนี้บรรยากาศของตลาดก็คือความไม่แน่นอนสูงมาก ถ้าเป็นตลาดหุ้นคงจะเทรดกันระยะค่อนข้างสั้น เพราะรอดูสถานการณ์ความชัดเจนจากเฟดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ซึ่งตรงนี้จะทำให้การลอยตัวของอัตราแลกเปลี่ยนต่างๆของตลาดทุนน่าจะยังสูงในช่วงที่เหลือของปี”

2 views
bottom of page