top of page
312345.jpg

บุคคลเด่นในเหตุการณ์: แวดวงการเงิน-การคลัง 2559 (Part 2)


สุภัค ศิวะรักษ์

60 แล้วขอเกษียณ

บริหารธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มา 7 ปี 6 เดือน โดยเป็นผู้บริหารในสัญญาจ้าง ไม่ได้มีวาระการดำรงตำแหน่งอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด เมื่อถึงคราวจะอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 10 มกราคม 2560 สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จึงแจ้งต่อคณะกรรมการธนาคารว่าจะไม่ขอต่อสัญญาอีก เพื่อที่จะได้เกษียณและไปพักผ่อน ซึ่ง ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป บริษัทแม่ของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยอมรับการตัดสินใจของ สุภัค แม้มีกระแสเบื้องหลังว่า ค่อนข้างเสียดายผู้บริหารที่มีฝีมือคนนี้ และอยากต่อสัญญาจ้าง เพราะนอกจาก สุภัค สามารถนำพาให้ธนาคารมีความเจริญก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง มีผลกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี เขายังเป็นผู้บริหารที่เข้าอกเข้าใจพนักงาน ทำให้พนักงานทุกคนรักและยินดีที่จะทำงานด้วย

อย่างไรก็ดี สุภัค ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง มีผลในวันที่ 18 ตุลาคม ก่อนถึงวันเกษียณหลายเดือน เพื่อให้มีช่องว่างของเวลาส่งมอบงานให้กับผู้บริหารคนใหม่ที่จะเข้าไปแทนที่เขา โดยทางซีไอเอ็มบี กรุ๊ป แต่งตั้งให้ สุภัค เป็นประธานที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อให้เขายังมีตำแหน่งในธนาคารเพื่อการส่งมอบงานอย่างราบรื่นก่อนที่จะเกษียณออกไป

ขณะที่ สุภัค ศิวะรักษ์ กล่าวว่า เขามีความภูมิใจที่ได้เข้ามาบริหารธนาคารแห่งนี้จากที่เป็นธนาคารยุ่งเหยิงอีนุงตุงนัง เพราะเกิดจากนำสถาบันการเงินหลายแห่งมาควบรวมกันขึ้นเป็นธนาคารไทยธนาคาร กระทั่งซีไอเอ็มบี กรุ๊ป จากมาเลเซียเข้ามาเทคโอเวอร์ และเขาเข้ามาบริหารให้เข้ารูปเข้ารอยเป็นธนาคารพาณิชย์ที่แม้ว่าจะไม่ใหญ่โต แต่ก็สามารถยืนแลกหมัดกับธนาคารธนาคารใหญ่ได้อย่างไม่น้อยหน้า สามารถทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งขึ้น และมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อเห็นความเจริญก้าวหน้าของธนาคาร ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เขามีส่วนสำคัญที่ได้ช่วยสร้างขึ้นมา ... การอำลาตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในสถาบันการเงินของ สุภัค ศิวะรักษ์ นับได้ว่าระบบสถาบันการเงินของไทยเสียผู้บริหารฝีมือดีไปอีกคน...

กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ

ข้ามค่ายเป็นใหญ่ใน CIMBT

การตัดสินใจเกษียณของ สุภัค ศิวะรักษ์ ทำให้ ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป ต้องควานหาผู้บริหารคนใหม่ ซึ่งมีกติกาว่าต้องเป็นคนไทย เพื่อให้เหมาะสมกับการทำตลาดในประเทศไทย และมีกระแสข่าวว่าสนใจ วรภัค ธันยาวงษ์ ที่ขอไม่ต่อวาระกับธนาคารกรุงไทย หากแต่ทราบว่า วรภัค สนใจงานอื่นอยู่ก่อนแล้วจึงไม่มีการทาบทาม และหันไปทาบทาม กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ที่ร่วมงานกับ วรภัค มาตั้งแต่สมัยอยู่ JPMorgan และธนาคารไทยพาณิชย์

สำหรับความสนใจในตัว กิตติพันธ์ เพราะเป็นผู้บริหารในสเป็กเดียวกับ สุภัค คือ เชี่ยวชาญในลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ หรือ Wholesale Banking เนื่องจากซีไอเอ็มบี กรุ๊ป มีฐานลูกค้ารายใหญ่ในอาเซียนที่ต้องให้ความสำคัญในการดูแล ขณะที่ ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป จำใจต้องมองข้าม พรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เอง หลังจาก พรชัย ถูกสื่อแห่งหนึ่งของไทยโจมตีอย่างหนัก กลายเป็นการเสียประวัติจนกลัวว่า ธปท.อาจไม่ให้ผ่านคุณสมบัติขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุด

ขณะที่ กิตติพันธ์ ในขณะร่วมงานกับธนาคารกรุงไทย สร้างผลงานกอบกู้ฐานลูกค้ารายใหญ่ให้กับธนาคารจนมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ในเมื่อ วรภัค ที่เป็นคนชักชวนมาไม่อยู่แล้ว เขาจึงต้องตัดสินใจตามออกไป การเข้ารับงานที่ ซีไอเอ็มบี ไทย แม้จะเป็นธนาคารเล็กในประเทศไทย หากเป็นธนาคารที่มีฐานใหญ่ระดับอาเซียน ถือว่าสมศักดิ์ศรีอดีตผู้บริหารระดับสูงของกรุงไทย ส่วนการเริ่มงานตั้งแต่ 19 ตุลาคม และมีการกล่าวเปิดตัวกับพนักงานในสำนักงานใหญ่ของ ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นที่เรียบร้อย มีเสียงจากพนักงานว่าเป็นการเปิดตัวที่น่าประทับใจในระดับกลางๆ ไม่ได้ประทับใจอะไรมากมายนัก ... ห้วงเวลาต่อไปจะเป็นการพิสูจน์ฝีมือของ กิตติพันธ์ ในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุด ซึ่งคงกดดันพอสมควร เพราะผู้บริหารสูงสุดคนก่อนหน้าดันสร้างบรรทัดฐานไว้สูงลิบ...

พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา

ข้ามห้วยบริหาร EXIM Bank

หลังจากเหตุการณ์ไม่ต่อวาระให้ คนิสร์ สุคนธมาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 จากปัญหาถูกร้องเรียน จน EXIM Bank ไร้กรรมการผู้จัดการอยู่ตั้งปีกว่า ที่สุดคณะกรรมการชุดใหม่ของของธนาคารได้เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเมื่อช่วงต้นปี 2559 โดยมีผู้สมัคร 3 คน คือ 1.ภัทรพล วรนิมมาน 2.พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา รองผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มลงทุนและบริหารการเงิน ธนาคารออมสิน และ 3.นิยต มาศะวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท ไม่มีคนในและอดีตผู้บริหารของ EXIM Bank ลงสมัครแม้แต่คนเดียว

สำหรับ พิศิษฐ์ ได้รับการคาดหมายเป็นตัวเต็งรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด หลังจากคณะกรรมการธนาคารประกาศแต่งตั้งเขาให้เป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 5 นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารในปี 2537 โดยให้เริ่มงานในวันที่ 1 มิถุนายน

การให้ พิศิษฐ์ เข้าบริหาร EXIM Bank ถือว่าเป็นการ Put the right man on the right job เพราะที่จริงเขาเชี่ยวชาญทางด้านการค้าเงินตราระหว่างประเทศ และวิเทศธนกิจ ตั้งแต่ทำงานอยู่กับ ธนาคารเชสแมนฮัตตัน (เจพีมอร์แกน เชส) เท่ากับได้งัดประสบการณ์ในอดีตขึ้นมาใช้งานอีกครั้ง ขณะเดียวกันยังมีโอกาสสั่งสมประสบการณ์ในด้านต่างๆ กับธนาคารต่างชาติในประเทศไทยอีกหลายแห่ง และการอยู่กับธนาคารออมสินก็ได้ประสบการณ์ทั้งการเคยบริหารกลุ่มลูกค้ารายย่อย ก่อนที่จะถูกโยกมาดูแลการบริหารการลงทุนและบริหารเงิน เปรียบเสมือนได้ถูกบ่มเพาะเพื่อให้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดที่สามารถดูแลงานได้รอบด้าน

กับงานที่ผ่านไป 7 เดือน พิศิษฐ์ ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงการคลังและคณะกรรมการธนาคารได้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคลัสเตอร์ธุรกิจ การหาทางสร้างตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้ส่งออก โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในรูปแบบ ไทยแลนด์ทีม และยังสนับสนุนให้ผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีส่งออกที่ธนาคารมุ่งเป็นเป้าหมายหลักให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ท่ามกลางการค้าโลกที่ทรุดต่ำลง ... ในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ พิศิษฐ์ สามารถพิสูจน์ฝีมือการเป็นผู้บริหารสูงสุดของเขาได้แล้ว...

อภิรมย์ สุขประเสริฐ

ว่าที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่

จากที่ ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะครบวาระประมาณเดือนพฤษภาคม 2560 หลังจากบริหารธนาคารแห่งนี้มา 2 วาระ 8 ปี พร้อมกับที่เขาจะเกษียณอายุในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คณะกรรมการ ธ.ก.ส.จึงมีการเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนใหม่ ตั้งแต่ช่วงปลายตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายน 2559 ซึ่งการสรรหาเป็นไปอย่างเงียบๆ หากมีกระแสข่าวแพลมออกมาว่ามีผู้สมัคร 2 คน หนึ่งในนั้นเป็นคนนอกที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ส่วนอีกคนเป็นคนใน คือ อภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นตัวเต็งที่จะได้รับตำแหน่ง

ก่อนหน้านั้นหลายคนสงสัยว่า ลักษณ์ หายหน้าไปจากงาน ธ.ก.ส. และงานสำคัญส่วนใหญ่มี อภิรมย์ ออกหน้าแทนตลอด โดยคาดการณ์กันไปว่า ลักษณ์ เปิดโอกาสให้ อภิรมย์ เรียนรู้สืบทอดการเป็นผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนต่อไป ซึ่งน่าจะถูกต้องแล้ว เนื่องจากงานของ ธ.ก.ส.ไม่เหมือนธนาคารอื่นๆ คนนอกยากที่จะเข้าใจการทำงานของธนาคารแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งงานธุรกิจปกติ งานสนองนโยบายรัฐ ที่ซับซ้อนไม่เหมือนใคร ต่อให้ผู้บริหารธนาคารเฉพาะของรัฐแห่งอื่นมาบริหาร ธ.ก.ส.ก็คงงงเต๊ก หาทางไปไม่ถูก ถือเป็นการปูทางสร้างคะแนนให้คนในได้รับตำแหน่งสืบทอดต่อไป

และสิ่งที่คาดการณ์ก็เป็นไปตามนั้น คณะกรรมการธนาคารตกลงเลือก อภิรมย์ รับแต่งตั้งผู้จัดการ ธ.ก.ส. โดยในช่วงปลายธันวาคมอยู่ระหว่างการเจรจาค่าตอบแทน คาดว่าจะมีการนำเสนอชื่อสู่คณะรัฐมนตรีและประกาศอย่างเป็นทางการช่วงเดือนมกราคม 2560

ขณะที่การรับงานแทน ลักษณ์ ตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ด้วยนโยบาย โครงการ และมาตรการใหญ่ๆ ของรัฐบาลหลายเรื่อง อภิรมย์ สุขประเสริฐ ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง สามารถพิสูจน์ตัวเองว่าจะขึ้นมาเป็นผู้จัดการ ธ.ก.ส.ที่มีแนวโน้มของผลงานไม่น้อยหน้าไปกว่าผู้จัดการ ธ.ก.ส.คนก่อน

ปกรณ์ พรรธนะแพทย์

ทิ้ง KBANK ร่วมงานเซ็นทรัล

แม้จะไม่ใช่ผู้บริหารสูงสุด แต่ ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย มีบทบาทที่สำคัญกับธนาคารอยู่มากพอสมควร นอกจากเป็น “ลูกหม้อ” ที่ไต่เต้าตั้งแต่พนักงานระดับเล็กๆ ได้ทุนธนาคารไปเรียนต่างประเทศ กระทั่งขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง ปกรณ์ สร้างผลงานให้กับแบงก์มาแล้วทั้งการเข้าไปดูแลบริหารสายงานลูกค้าเอสเอ็มอี ก่อนที่จะถูกโยกมาดูแลสายงานลูกค้ารายย่อย ซึ่งสร้างความพอใจให้กับ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จนแทบเรียกได้ว่าเป็น “ลูกรัก” ที่ บัณฑูร มักกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ

การลาออกจากธนาคารของ ปกรณ์ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเจ้าตัวยังไม่เคยเปิดปากถึงเหตุผลในการลาออก มีเพียงการคาดหมายว่า เพราะการที่ บัณฑูร แต่งตั้ง พิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ที่ดูแลด้านลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่า ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 4 สร้างความน้อยใจให้กับ ปกรณ์ ส่งผลให้เขาลาออก หากอีกด้านหนึ่งคาดว่า ปกรณ์ ที่ถนัดเรื่องการตลาดเริ่มอิ่มตัวกับงานธนาคาร จึงลาออกเพื่อไปหาความท้าทายใหม่ โดยเลือกที่จะร่วมงานกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ในตำแหน่ง Chief Opearting Officer (COO) ซึ่งเป็นธุรกิจทางการตลาดที่ ปกรณ์ ถนัดและชอบที่จะทำมากกว่า โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

พิพิธ เอนกนิธิ

KBANK ตั้งเอ็มดีคนที่ 4

ตั้ง ปรีดี ดาวฉาย กับ ธีรนันท์ ศรีหงส์ เป็นกรรมการผู้จัดการพร้อมกัน 2 คน ว่าแปลกแล้ว ปลายปี 2558 มีผลทางการ 1 มกราคม 2559 ธนาคารกสิกรไทย ตั้ง ขัตติยา อินทรวิชัย ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 3 ให้ยิ่งแปลกหนักเข้าไปอีก และคงกลัวจะไม่แปลกสุดๆ ทิ้งท้ายปี 2559 กสิกรไทยตั้ง พิพิธ เอนกนิธิ เป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ 4 และเป็นกรรมการผู้จัดการลำดับที่ 10 ในสารบบของธนาคารกสิกรไทย ส่วนจะแบ่งการบริหารงานกันอย่างไร บัณฑูร ล่ำซำ ที่เป็นคนตั้งคงให้คำตอบในทำนองว่า แบงก์เดี๋ยวนี้งานเยอะมาก ก็ต้องตั้งหลายๆ คนขึ้นมาช่วยกันทำ...

การได้รับตำแหน่งของ พิพิธ ในช่วงเวลานี้ค่อนข้างอยู่เหนือความคาดหมาย เพราะรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ที่มีอาวุโสมากกว่าอย่าง ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ น่าจะได้รับแต่งตั้งก่อน ขณะเดียวกัน พิพิธ ก็เพิ่งขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส รับผิดชอบดูแลสายงานธุรกิจต่างประเทศได้ไม่นาน เพียงแต่ผลงานการดูแลธุรกิจต่างประเทศของเขาถูกใจ บัณฑูร อย่างมาก โดยเฉพาะการทำธุรกิจในจีน จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอย่างรวดเร็ว..

 

Credit ภาพ: http://www.bangkokbanksme.com/article/5238 http://www.mof.go.th/vayupak/inc_news_detail_popup.php?id=5214

http://www.scb.co.th/board/th/scb-board-yol.html http://www.scb.co.th/board/th/scb-executive-arthid.html http://www.ktb.co.th/ktb/th/news-detail.aspx?nid=ik4Fg5THzYmoqVuf9i5X4A%3D%3D http://www.ktb.co.th/ktb/th/about-board-directors.aspx?ddl_disp=18&cat= http://www.kinibiz.com/story/world-biz/155666/cimb-thai-teams-with-telco-to-unveil-beat-banking.html http://www.cimbthai.com/CIMB/en/about_us/management_committee/ http://www.kasikornbank.com/picture1/BoardofDirecter/Pages/Mr.Pakorn.aspx http://www.kasikornbank.com/picture1/BoardofDirecter/Pages/Mr.Pipit.aspx

77 views
bottom of page