top of page
312345.jpg

บุคคลเด่นในเหตุการณ์: แวดวงการเงิน-การคลัง 2559 (Part 1)


ปี 2559 ที่เพิ่งผ่านไป เป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น หากหลายเรื่องราวในแวดวงการเงิน-การคลังยังคงเกิดขึ้น และเดินหน้าไปอย่างมีสีสันชวนติดตาม ขณะเดียวกันยังเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละปี โดยในเรื่องราวเหล่านั้นมีบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะด้วยการเป็นปีที่มีการเปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดของหลายแห่ง ส่วนมีบุคคลใดบ้างเข้าไปเป็นผู้ดำเนินเรื่องราวเหล่านั้น ในที่นี้ขอนำเสนออย่างย่อๆ พอให้รำลึกถึง

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

ไทยสูญเสียปูชนียบุคคล

การถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ในวัย 73 ปี ของ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ไม่ใช่เพียงการสูญเสียผู้บริหารที่เป็นบุคคลสำคัญของธนาคารกรุงเทพเท่านั้น หากยังเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลของไทย เพราะนอกจากท่านได้นำพาธนาคารกรุงเทพให้มีการพัฒนาขึ้นในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความเข้มแข็งในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี โดยเป็นคนริเริ่มให้กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมีการรวมตัวกันตั้งเป็น “ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี” ทำให้ผู้ประกอบการเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจและมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และธนาคารมีบทบาทคอยสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน นอกจากนั้นยังเป็นคนริเริ่ม “โครงการเกษตรก้าวหน้า” ที่ช่วยพัฒนาภาคธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรลูกค้าของธนาคารให้มีการพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน

สำหรับบทบาทต่อสังคมไทย การได้รับเชิญให้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในหลายยุคสมัยหลายกระทรวง คงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความเป็นคนดีมีฝีมือที่เมื่อถึงคราวมี “รัฐบาลพิเศษ” ต้องเรียกไปใช้งานเพื่อวางแผนสร้างระบบในการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งแม้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ท่านไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง มีเพียงการเป็นประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ หากความเป็นบุคคลที่น่านับถือ และผู้รู้เรื่องระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้การฝากความคิดเห็นต่างๆ ผ่านสื่อมวลชน ฝ่ายปกครองประเทศมักตอบสนองและรับฟัง ...ขอสดุดี และแสดงความอาลัยต่อท่านผู้จากไป...

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

งัดสารพัดม.ฟื้นเศรษฐกิจ

นอกจากผลักดันเพื่อให้เกิดระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment จนสุดลิ่มตามกระแสโลกดิจิทัล และร่ำๆ จะประสบความสำเร็จในเฟสแรกด้วยการที่ธนาคารต่างๆ จะเปิดให้ใช้งาน “พร้อมเพย์” (PromptPay) อยู่รอมร่อในวันที่ 31 ตุลาคม หลังจากทุกแบงก์เปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนผ่านช่องทางต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ 1 กรกฎาคม และลงทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 กรกฎาคม หากที่สุดก็เกิดโรคเลื่อนขึ้นจนได้ เพราะแม้ทุกแบงก์จะเชื่อมต่อระบบเข้ากับถังข้อมูลกลางของ NITMX ได้ แต่ระบบนี้ซึ่งต้องมีความปลอดภัยเต็ม 100% ยังไม่สมบูรณ์ สมาคมธนาคารไทยจึงขอเลื่อนการให้บริการออกไปก่อนเป็นราวไตรมาส 2 ปี 2560 ทำให้ รมว.คลัง อภิศักดิ์ หวังวืดพอสมควร

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เพียงแค่ผลักดันระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เกือบสำเร็จ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเติบโตเชื่องช้าเป็นหอยทากกระดืบ ในปี 2559 อภิศักดิ์ ยังเสกสารพัดมาตรการออกมาช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยในตัว ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนให้ภาคอุตสาหกรรม และเอสเอ็มอี การเพิ่มส่วนลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การช่วยเหลือเกษตรกรช่วงภัยแล้ง ช่วงราคาข้าวตกต่ำ การช่วยให้คนจนมีบ้าน การจัดลงทะเบียนคนจนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งประเดิมด้วยการแจกเงินเกษตรกรและคนจน คนละ 3 พันบาท 1.5 พันบาท การจัดรายการเที่ยวและรายการช็อปช่วยชาติ หรือกระทั่งก่อนจบปีจัดรายการทิ้งทวนให้แบงก์รัฐคืนเงินให้กับลูกหนี้ที่ชำระหนี้ดี ซึ่งมาตรการที่ อภิศักดิ์ ทำออกมาได้ทำให้กับประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เรียกว่ามีวิสัยทัศน์มองครบ ไม่ต้องออกมาให้ใครโวยวาย

ไม่เพียงเท่านั้น อภิศักดิ์ ยังผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว ทั้งยังผลักดันให้มีการออกร่างกฎหมายใหม่ๆ ของกระทรวงการคลังหลายฉบับ เพื่อวางแนวทางให้กระทรวงการคลังมีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า รักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด และป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ...ต้องเรียกว่าเป็น รมว.คลัง ที่ครบเครื่องที่สุดคนหนึ่งในสารบบ รมว.คลังของไทย...

ชาติชาย พยุหนาวีชัย

เหนื่อยหนักกว่าใครในรอบปี

จัดเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินที่ “งานชุก” ที่สุดในปี 2559 สำหรับ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพราะในส่วนธุรกิจของธนาคารเองที่ปรับเปลี่ยนสู่ยุคใหม่ หรือ GSB New Era โดยจะใช้ดิจิทัล แบงกิ้ง เป็นเครื่องมือสำคัญในการให้บริการลูกค้า ในกลยุทธ์ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ชาติชายมีการออกโปรดักท์ใหม่ให้กับธนาคารถี่ยิบ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอด MyMo โมบายแบงกิ้ง การยกระดับให้ธนาคารเข้าสู่โลกดิจิทัลในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ช่องทางดิจิทัลเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและวัยเริ่มต้นทำงานที่ธนาคารมีลูกค้ากลุ่มนี้น้อยกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ยังมีการออกบัตรเครดิตเป็นของออมสินเอง หรือการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากดอกเบี้ยสูง เพื่อส่งเสริมการออมอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ด้านสนองนโยบายรัฐ ยิ่งไม่ต้องนับ เพราะมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังหรือรัฐบาล ธนาคารออมสินโดนมอบหมายงานทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยครู ช่วยเกษตรกร ช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยซื้อบ้าน ช่วยรับลงทะเบียนและแจกเงินคนจน ช่วยแก้หนี้นอกระบบ ด้านภาคธุรกิจก็ออกซอฟต์โลนให้แบงก์อื่นกู้ไปช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี

อาจมีเรื่องเสียหายอยู่บ้างเรื่องแก๊งต่างชาติแฮ็กตู้เอทีเอ็มฉกเงินไป 12 ล้านบาท ซึ่ง ชาติชาย รีบออกมาแก้ไขสถานการณ์ก่อนที่ลูกค้าจะตื่นตระหนกได้อย่างรวดเร็ว โดยบอกว่า มีความเสียหายเฉพาะในส่วนของธนาคาร ไม่กระทบถึงลูกค้า แต่ก็ต้องปิดให้บริการตู้เอทีเอ็มยี่ห้อที่ถูกแฮ็กนับเดือน หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าถือเป็นความผิดของธนาคาร เพราะอยู่นอกเหนือการควบคุม และเป็นความผิดของผู้ให้บริการตู้เอทีเอ็มที่ปล่อยให้มีช่องโหว่จนถูกแฮ็กได้ ขณะที่ต่อมาธนาคารก็ได้รับการชดเชยความเสียหายจากบริษัทประกันภัยจนครบ

ผลงานที่มากมายของ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ทำให้ “เครือดอกเบี้ย” ยกย่องให้เป็น นักการธนาคารแห่งปี 2559 หรือ Banker of the year 2016

ญนน์ โภคทรัพย์

ทิ้งเก้าอี้ กจญ.SCB ดื้อๆ

หลังได้รับการผลักดันจากผู้ใหญ่ในธนาคารไทยพาณิชย์ให้ขึ้นมานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ คู่กับ อาทิตย์ นันทวิทยา ที่ขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ได้เพียงปีเศษ เพราะการครบและไม่ขอต่อวาระของ กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนก่อน จากที่ก่อนหน้านั้น ญนน์ เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในสายงานดูแลธุรกิจลูกค้ารายย่อยทั้งหมด

หากจู่ๆ ญนน์ โภคทรัพย์ กลับขอลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยมีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม ซึ่งผู้ใหญ่ในแบงก์ไม่ยอมให้ออกไปเฉยๆ และแต่งตั้งให้เป็นกรรมการธนาคารแทน บางกระแสข่าวบอกว่าการลาออกของ ญนน์ เพราะทำงานอยู่ภายใต้แถมยังไม่เข้าขากับ อาทิตย์ ขณะที่บางกระแสบอกว่า บริบทธุรกิจธนาคารที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่การใช้การตลาดนำเพื่อสร้างกำไรเหมือนดังยุคของ กรรณิกา ทำให้ ญนน์ ทำงานไม่ถนัดจึงขอลาออก

อย่างไรก็ดี หลังจากลาออกไม่กี่เดือน กลุ่มเซ็นทรัล ได้ประกาศถึงการแต่งตั้งให้ ณนน์ โภคทรัพย์ เข้ารับตำแหน่ง President of Central Group ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป โดยบอกว่า เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการตลาด โดยเฉพาะในด้านสินค้าอุปโภคบริโภค จากประสบการณ์บริหารงานในบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และยังเคยเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทำให้น่าจะนำประสบการณ์การทำงานทั้งหมดมาช่วยส่งเสริมให้กลุ่มเซ็นทรัลที่กำลังวางแผนบุกอาเซียนทำงานได้สำเร็จ...ถือว่าน่าจะถูกใจ ญนน์ โภคทรัพย์ ที่ได้หวนคืนยุทธจักรการตลาดที่ถนัดอีกครั้ง...

อาทิตย์ นันทวิทยา

ปรับโฉม SCB สู่ยุคดิจิทัล

เมื่อ ญนน์ ลาออก มีการคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า ใคร? จะเข้ารับตำแหน่งแทน หากที่สุดคณะกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีมติแต่งตั้งให้ อาทิตย์ นันทวิทยา นั่งควบทั้งสองตำแหน่งคนเดียวทันทีหลังจากการลาออกของ ญนน์ มีผลอย่างเป็นทางการ และ อาทิตย์ ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อการกุมอำนาจการบริหารคนเดียวทำให้ทำงานสะดวกกว่า และได้มีการประกาศแผนยุทธศาสตร์ยุคใหม่ของค่ายใบโพธิ์ เริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างผู้บริหาร เพิ่มสายงานเพื่อหาทางทะลวงจุดบอดของธนาคาร มีการลงทุนทางด้านไอทีรองรับกับกระแส FinTech ที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและส่งผลกระทบต่อธุรกิจการเงินแบบดั้งเดิม โดยกะว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อให้ลูกค้าและตัวธนาคารเองมีความสะดวกกับการทำงานบนโลกดิจิทัล ซึ่ง อาทิตย์ บอกว่า การลงทุนในระดับสูงอาจทำให้ผลกำไรของธนาคารลดลง แต่ถ้าไม่ลงทุนในวันนี้ วันต่อไปคงอยู่กันลำบาก

นอกจากนี้ อาทิตย์ ยอมรับด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงของธนาคารในช่วงระยะสั้นคงส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง หากเมื่อหักลบกับค่าใช้จ่ายด้านสาขาและต้นทุนการบริหารเงินสดที่ลดลงตาม อาจกลับทำให้ผลกำไรของธนาคารเพิ่มขึ้นก็ได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารที่มีกำไรสูงที่สุด มีขนาดสินทรัพย์มากที่สุด มีรายได้มากที่สุด หรือมีสาขามากที่สุด แต่มีความต้องการที่จะเป็นธนาคารแห่งความน่าชื่นชมสูงสุด หรือ The most admire พร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยยึดประโยชน์ของลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น หน่วยงานกำกับดูแล และสังคม เป็นสำคัญ ...วิสัยทัศน์ของผู้บริหารหนุ่มไฟแรงกับการเปลี่ยนแปลงการทำงานของแบงก์เก่าแก่ที่สุดของไทย จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องคอยจับตาดูกัน...

วรภัค ธันยาวงษ์

ขอไม่ต่อวาระกับกรุงไทย

ด้วยกระแสข่าวร่ำลือว่าโดนการเมืองจากทั้งภายนอกภายในธนาคารกรุงไทยบีบคั้น โดยเฉพาะการโจมตีว่าผลการดำเนินงานของแบงก์ในหลายๆ ด้านไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งที่ วรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เที่ยวไปดึงเหล่ามืออาชีพวัยหนุ่มหลายคนจากภายนอกเข้ามาทำงานในแบงก์กรุงไทยชนิดที่ว่าให้ความสำคัญกับบรรดาลูกหม้อน้อยไปหน่อย หรือกระทั่งกระแสข่าวว่าคณะกรรมการธนาคารจะไม่ต่อวาระให้อีก เพราะทำงานไม่ได้อย่างใจบอร์ดบางคน หากที่สุดกลับกลายเป็น วรภัค ขอไม่ต่อวาระเอง เมื่อครบวาระการบริหาร 4 ปี ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งมี “ดอกเบี้ยธุรกิจ” เป็นสื่อที่นำเสนอข่าวนี้เป็นรายแรก

ขณะที่ ในเวลาต่อมา วรภัค ได้ออกมากล่าวถึงการ ขอไม่ต่อวาระการบริหารธนาคารกรุงไทยอีก 4 ปีว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถูกกดดันทางการเมือง โดยตลอด 4 ปีที่เขาบริหาร การเมืองไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย ขณะที่สหภาพแรงงานธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นสหภาพที่แข็งแรงที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาสหภาพแรงงานของไทย เมื่อมีการชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดี ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธนาคารในภาพรวมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนการที่เขาขอไม่ต่อวาระ เนื่องจากมองว่าได้ทำงานในเรื่องหลักๆ สำเร็จอย่างเกินคาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ HR (Human Resource) ที่ได้ปรับให้มีความยุติธรรมมากขึ้น ใช้หลักทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย จัดการเรื่องผลตอบแทน-ความก้าวหน้าให้สมเหตุสมผล ระหว่างคนที่ไม่มีผลงาน กับคนที่มีผลงาน และเรื่องการจัดการระบบข้อมูลขององค์กรให้ใช้สะดวก และรวดเร็วขึ้น

ส่วนเมื่อครบวาระกับแบงก์กรุงไทยแล้ว วรภัค ไม่ได้บอกว่าจะไปร่วมงานกับที่ใด แต่บอกว่าไม่ใช่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย แน่นอน ....ต้องบอกว่า วรภัค เป็นรายที่สองที่สามารถจบงานกับแบงก์กรุงไทยได้อย่างสวยงามโดยไม่ต้องมีชนักติดหลังออกไปเหมือนกับผู้บริหารแบงก์กรุงไทยในยุคอดีตหลายคน... และขอให้โชคดีกับงานต่อไป...

ผยง ศรีวณิช

ม้ามืดคุมกรุงไทย

ในเมื่อ วรภัค ขอไม่ต่อวาระ ธนาคารกรุงไทยก็ต้องมีการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ซึ่งมีการคาดการณ์ไปถึงผู้บริหารทั้งจากแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐหลายคนว่าจะลงสมัคร หากที่สุดเป็น “ดอกเบี้ยธุรกิจ” เช่นเดิม เป็นสื่อแห่งแรกที่นำเสนอว่า ผู้สมัครมีเพียงคนเดียว คือ ผยง ศรีวณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย และจะได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ต่อจาก วรภัค โดยธนาคารไม่มีการยืดเวลารับสมัครออกไปอีกแม้จะมีผู้สมัครเพียงหนึ่งเดียว และเข้าสู่กระบวนการสรรหาทันทีเมื่อปิดรับสมัคร ซึ่งการลงสมัครของ ผยง ค่อนข้างเหนือความคาดหมาย และเป็นม้ามืดที่จะได้รับตำแหน่ง เนื่องจากเพิ่งเข้าทำงานกับกรุงไทยเพียงประมาณ 2 ปี อย่างไรก็ดี ต่อมาคณะกรรมการได้ประกาศให้ ผยง เข้ารับตำแหน่งภายหลังการตกลงค่าตอบแทน และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเริ่มงานทันทีในวันที่ 8 พฤศจิกายน เมื่อ วรภัค หมดวาระ

ผยง ศรีวณิช อดีตผู้บริหารระดับสูงของซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ในตำแหน่ง Managing Director, Head of Global Markets & Country Treasurer Citibank N.A.,Thailand และเป็นคนที่ วรภัค ชักชวนให้เข้าร่วมงานกับแบงก์กรุงไทย เพื่อเติมเต็มด้าน Global Markets ที่กรุงไทยดูจะด้อยกว่าแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่ง ผยง ก็สามารถผลักดันให้งานในด้านดังกล่าวผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดได้ในเวลาไม่นาน เรียกว่าเป็นคนที่มีฝีมือดีพอสมควร

ขณะที่ ก่อนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ผยง ยืนยันถึงความพร้อมในการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารเบอร์หนึ่งของธนาคารกรุงไทยอย่างเต็มตัว ส่วนการทำงานในเบื้องต้นจะเป็นการสานต่อวิสัยทัศน์ และกระบวนการทำงานของ วรภัค รวมทั้งดำเนินภารกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะ National e-Payment ....กับการเป็นผู้บริหารที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลัก จะโชว์ฝีไม้ลายมือในการบริหารทั้งองคาพยพ โดยเฉพาะกับธนาคารที่มีขนาดใหญ่มากให้ประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด ต้องติดตาม...

 

Credit ภาพ:

http://www.bangkokbanksme.com/article/5238

http://www.mof.go.th/vayupak/inc_news_detail_popup.php?id=5214

http://www.scb.co.th/board/th/scb-board-yol.html

http://www.scb.co.th/board/th/scb-executive-arthid.html

http://www.ktb.co.th/ktb/th/news-detail.aspx?nid=ik4Fg5THzYmoqVuf9i5X4A%3D%3D

http://www.ktb.co.th/ktb/th/about-board-directors.aspx?ddl_disp=18&cat=

http://www.kinibiz.com/story/world-biz/155666/cimb-thai-teams-with-telco-to-unveil-beat-banking.html

http://www.cimbthai.com/CIMB/en/about_us/management_committee/

http://www.kasikornbank.com/picture1/BoardofDirecter/Pages/Mr.Pakorn.aspx

http://www.kasikornbank.com/picture1/BoardofDirecter/Pages/Mr.Pipit.aspx

4 views
bottom of page