top of page
327304.jpg

SME Bank ยันพร้อมออกจากแผนฟื้นฟู - มุ่งสู่แบงก์เพื่อการพัฒนาเต็มสูบ


เอสเอ็มอีแบงก์ เผยพร้อมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หลังผลดำเนินงานดีขึ้นต่อเนื่อง เงินเพิ่มทุนช่วยให้แบงก์แข็งแกร่งขึ้นรองรับการขยายตัวและความเสี่ยงในอนาคต ระบุปรับตัวมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอี เน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกด้าน ไม่ใช่แค่สินเชื่อ ด้านโครงการร่วมลงทุนกลุ่ม Startup ฉลุย ใส่เงินลงทุนแล้ว 16 ราย มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เตรียมการเพื่อที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากรายงานผลการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูมีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนมากที่สุดในบรรดารัฐวิสาหกิจที่อยู่แผนฟื้นฟูของคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด อย่างไรก็ตาม การที่ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพิจารณาของ คนร

.

ขณะที่การเพิ่มทุนของของธนาคารรวม 2,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับเงินทุนเพิ่มงวดสุดท้าย 1,000 ล้านบาท เมื่อตอนกลางปี 2559 ที่ผ่านมา ทำให้เงินกองทุนของธนาคารมีความแข็งแกร่งสามารถรองรับการเติบโตต่อไปในอนาคต รวมถึงการรองรับกฎเกณฑ์ Basel II ในปีหน้า และที่สำคัญคือเมื่อจะออกจากแผนฟื้นฟูจะทำให้ SME Development Bank ทำบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาได้อย่างเต็มตัว ซึ่ง ดร.สมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการธนาคาร ให้เตรียมการ 3 เดือน ทำบทบาทในเรื่องของ Development อย่างจริงจัง โดยให้ศึกษาตัวอย่างต้นแบบจากประเทศสิงคโปร์ หรือ ไต้หวัน เอาสิ่งที่ดีมาใช้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ SME Development Bank ตั้งใจอยากจะดำเนินการในปี 2560

“บทบาทเราคงไม่จำกัดเพียงแต่การให้สินเชื่อเพียงอย่างเดียว เราจะต้องทำอย่างไรให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ระบบธนาคารพาณิชย์ หรือระบบการเงินของเอกชนยังเข้าไม่ถึง หรือได้รับบริการที่ยังไม่ดีให้สามารถส่งต่อเข้าระบบทางการเงินได้ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ระบบทางการเงินได้” นายมงคล กล่าวและเผยต่อไปว่า

สำหรับในส่วนของการเข้าไปร่วมทุนกับกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในโครงการ Start Up หรือโครงการต่างๆ นับตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านมา มี 77 กิจการที่ได้รับการเสนอให้เข้าร่วมทุนคิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งการร่วมลงทุนจะมีการจัดตั้งเป็นกองทุน โดยกองทุนที่ 1 ตั้งมูลค่าการลงทุนรวม 500 ล้านบาท ซึ่งปรากฏว่าธนาคารคัดเลือกมาได้ 27 กิจการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 450 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ในการดูแลของที่ปรึกษาทางการเงิน และได้ส่ง 27 กิจการนี้เข้าสู่กระบวนการขั้นอนุมัติในหลักการ ซึ่งก่อนหน้านี้มี 9 กิจการได้รับการร่วมลงทุนแล้วประมาณ 100 ล้านบาท และเมื่อเร็วๆ นี้มี 2 กิจการที่ใส่เงินร่วมทุนเข้าไปแล้วประมาณ 37.5 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี สำหรับกองทุนที่เหลือจะทยอยทำทีละประมาณ 100 ล้านบาท โดยเฉพาะ SME ทางด้านการเกษตร เนื่องจากเกษตรแปรรูปเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูงจึงต้องใช้การร่วมทุน โดยขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาเสนอคิดเป็นมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 250 ล้านบาท และได้รับอนุมัติเข้าร่วมทุนแล้วประมาณ 6 กิจการ ประมาณ 125 ล้านบาท รวมถึงที่ธนาคารเข้าไปช่วย ซึ่งเรียกว่า EcoSystem ที่ทำให้กิจการต่างๆ สามารถเข้มแข็งขึ้นได้ ถึงสิ้นปีนี้รวมกันทุกโครงการประมาณ 500 ล้านบาท

“ความสำเร็จที่ผ่านมานั้นมีผลมาจาก นางสาลินี วังตาล อดีตประธานกรรมการธนาคาร ที่ได้วางรากฐานไว้ดีตั้งแต่ปี 2557-2558 รวมถึงพนักงานทุกคนที่ได้ร่วมมือร่วมแรงกันทำงานอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันธนาคารยังได้มีการปรับปรุงวัฒนธรรมการทำงานใหม่ ที่เรียกว่า SME ดีจริงๆ ดีมากๆ ส่งผลให้การดำเนินการของ SME Development Bank ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายมงคล กล่าวในที่สุด

1 view
bottom of page