top of page
312345.jpg

KTC 9 เดือนกำไรกว่า 1.8 พันล้าน..วางแผนลุยรับกระแส FinTech


เคทีซี อวดผลงานไตรมาส 3 กำไรสุทธิ 640 ล้านบาท รวม 9 เดือนกำไร 1.854 พันล้านบาท ยอดสมาชิกบัตรเครดิตทะลุ 2.04 ล้านใบ พร้อมยอดรูดโตกว่าตลาดรวม ด้านหนี้เสียลดลงเหลือ 1.86% เผยแผนกลยุทธ์รุกทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ร้านค้า ช่องทางจัดจำหน่าย ธุรกิจออนไลน์ พร้อมสร้างทางเลือกแพลตฟอร์มการชำระเงินใหม่รับยุคฟินเทค หวังตอบสนองทุกความต้องการ

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงความสามารถในการสร้างรายได้และทำกำไร จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรและการขยายตัวของยอดลูกหนี้ทั้งสองธุรกิจหลัก คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ภายใต้มาตรฐานการอนุมัติบัตรที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งแนวทางการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ NPL อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม

โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2559 บริษัทมีกำไร 1,854 ล้านบาท เติบโต 21% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลจากรายได้รวม 9 เดือนเติบโตที่ 13% การบริหารต้นทุนเงินทุนได้ดี และประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ตลูกหนี้ รวมทั้งควบคุมให้ NPL อยู่ในระดับต่ำ ส่วนเฉพาะไตรมาสที่ 3/2559 มีกำไรสุทธิ 640 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาส 2/2559 และเพิ่มขึ้น 28% จากไตรมาส 3/2558 ที่มีมูลค่า 499 ล้านบาท เนื่องจากรายได้เติบโต 12% มากกว่าค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้น 10% จากค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับบริษัทภายนอก การตัดหนี้สูญและตั้งหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของพอร์ต

ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 3/2559 เท่ากับ 4,403 ล้านบาท มาจากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ จำนวน 2,735 ล้านบาท 951 ล้านบาท และ 717 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 62% 22% และ 16% ของรายได้รวม ส่วนรายได้อื่นๆ ส่วนใหญ่มาจากหนี้สูญได้รับคืน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมภาษีเงินได้) เท่ากับ 3,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จาก 3,287 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานรวมถึงหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น 9% และ 15% ตามลำดับ แต่ค่าใช้จ่ายการเงินที่เป็นต้นทุนเงินทุนลดลงที่ 8% จากการออกหุ้นกู้ใหม่ชดเชยหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถจัดโครงสร้างแหล่งเงินกู้ยืมทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากสถาบันการเงินหลายแห่ง โดยไม่ได้พึ่งพิงสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ ทำให้บริษัทมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้รวม 3/2559 (Cost to Income Ratio) เท่ากับ 39.2% (ค่าเฉลี่ย 9 เดือนเท่ากับ 39.6%) มีสัดส่วนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่า 40.3%

สำหรับไตรมาส 3/2559 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) 25,390 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารกรุงไทย 18,030 ล้านบาท และจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ 7,360 ล้านบาท โดยมีต้นทุนการเงินไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.15% (ค่าเฉลี่ยต้นทุนเงิน 9 เดือนเท่ากับ 3.27%) ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งบริษัทมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 5.27 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า

ส่วนภาพรวม ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 61,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ 54,773 ล้านบาท โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิเท่ากับ 57,015 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 2.8 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น บัตรเครดิต 2,039,967 บัตร ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตสุทธิ 38,247 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล 793,486 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลสุทธิ 18,603 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ลดเหลือ 1.86% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 2.19% NPL บัตรเครดิตลดเหลือ 1.37% จาก 1.42% และ NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ในระดับเดิมที่ 1.01% และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตที่ 14.0% ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมที่อยู่ที่ 7.2%

นายระเฑียร กล่าวว่า สำหรับแผนการตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ต่อเนื่องถึงปี 2560 เพื่อบรรลุแผนในการก้าวสู่การเป็นแบรนด์ในใจที่สมาชิกชื่นชอบและเลือกใช้ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน บริษัทจะมุ่งบริหารงานใน 3 แกนสำคัญ คือ 1. บุคลากรจะต้องมีศักยภาพเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ทำงานเชิงรุกและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกัน 2. กระบวนการทำงานมุ่งเน้นที่ตัวลูกค้าเป็นหลัก (Customer Centric Approach) และ 3. ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สนับสนุนธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างยั่งยืนในระยะยาว และควบคุมคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

นอกจากนี้ บริษัทได้จัดเตรียมแผนระยะยาว เพื่อรองรับแนวโน้มของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ส่งผลอย่างมากต่อโครงสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของระบบ National E-Payment และธุรกิจฟินเทค (FinTech) ที่กำลังมา โดยสร้างทางเลือกต่างๆ เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าในการชำระค่าใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มการชำระเงินใหม่ๆ ด้วยบัตรเครดิต (Card/Payment Platform) ในส่วนของบุคลากร จะต้องพัฒนาตนเองให้มีทักษะความรู้ความเข้าใจในลูกค้า มีการใช้ Insight Intelligence ผ่านการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ รวมถึงการบริการที่เป็นเลิศ เพื่อให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นที่จะเลือกใช้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

“ในปี 2560 เราได้วางแนวทางดำเนินงาน ด้วยแผนขยายตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวม ที่ไม่ต่ำกว่า 15% พอร์ตลูกหนี้ขยายตัวประมาณ 10% และจะรักษาระดับของ NPL ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2559 โดยคาดว่า ในปี 2560 บริษัทจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 10%” นายระเฑียร กล่าวในตอนท้าย

25 views
bottom of page