top of page
312345.jpg

SME Bank ดัน SME ขายบนอาลีบาบา..ผลงาน 9 เดือน กำไร 1.4 พันล้าน


เอสเอ็มอีแบงก์ เข็นเอสเอ็มอีขึ้นขายบนเว็บไซต์อาลีบาบาอย่างเป็นระบบ จับมือพันธมิตร ให้ผู้ประกอบการ 20 รายจากเอสเอ็มอีแบงก์-เอ็กซิมแบงก์นำร่อง เข้าอบรมเรียนรู้วิธีการขายให้ได้ผลจริงกับ ม.หอการค้าไทย ด้านผลงาน 9 เดือนโชว์กำไร 1.4 พันล้าน หนี้เสียลดลงเหลือ 20%

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวสู่อุตสาหกรรม SMEs 4.0 พร้อมนโยบายของ ธพว.ในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่ตลาดโลก โดย ธพว.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยได้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการ 20 รายที่เป็นลูกค้าของ ธพว. 10 ราย และ ธสน. 10 ราย เข้าฝึกอบรมเพื่อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์อาลีบาบาดอทคอม (Alibaba.com)

ด้าน นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซประมาณ 12.42% หรือมีมูลค่าการค้าประมาณ 2.52 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่ามูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจต่อธุรกิจ หรือ B2B ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท เป็นกลุ่มธุรกิจต่อผู้บริโภครายย่อย หรือ B2C ราว 5.1 แสนล้านบาท และเป็นกลุ่มธุรกิจต่อรัฐบาล หรือ B2G ประมาณ 4 แสนล้านบาท ขณะที่คาดว่าหลังจากการผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น จะทำให้มูลค่าการค้าเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด

ส่วน นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ Exim Bank กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยราว 3 ล้านราย มีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกราว 2 หมื่นราย ซึ่งโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก้าวสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซระดับสากล จะทำให้มีผู้ประกอบการที่กลายเป็นผู้ส่งออกเพิ่มมากขึ้น มีตลาดการค้ากระจายไปทั่วโลก เนื่องจากอาลีบาบามีตลาดที่ใหญ่มาก และมีปริมาณการค้ามากกว่าเว็บไซต์อื่นๆ อย่างไรก็ดี ตลาดอีคอมเมิร์ซไม่ใช่เพียงการนำภาพสินค้าไปแปะไว้บนเซ็บไซต์เท่านั้น ยังต้องมีกลไกอีกหลายอย่างที่จะทำให้สินค้าขายได้ ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการเรียนรู้ โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะเป็นผู้อบรมให้ความรู้

ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังเป็นสถาบันการศึกษาเพียงแห่งเดียวที่เปิดอบรมผู้ประกอบการที่ต้องการขายสินค้าบนเว็บไซต์อาลีบาบา ขณะที่โครงการความร่วมมือในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายเบื้องต้นผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยสามารถดำเนินธุรกิจผ่าน Alibaba.com ประมาณ 20,000 ราย และคาดว่าในปี 2560 จะมีเอสเอ็มอีประสบความสำเร็จในการขายสินค้าไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย

สำหรับผลประกอบการ ธพว. สิ้นสุดไตรมาส 3/2559 นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยรวม 26,253 ล้านบาท จำนวน 8,823 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 2.98 ล้านบาท ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 91,898 ล้านบาท และมั่นใจว่าในช่วงที่เหลือของปีจะปล่อยสินเชื่อได้ 35,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีจำนวนคงเหลือ 18,983 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.66% ของสินเชื่อรวม ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2559 ที่มียอด NPL เท่ากับ 19,486 ล้านบาท หรือ 21.66% ของสินเชื่อรวม ลดลง 503 ล้านบาท โดยการลดลงของ NPL เกิดจากธนาคารมีการแก้ไขหนี้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การชำระหนี้ปิดบัญชี การขายหนี้และการตัดหนี้สูญทางบัญชี เป็นต้น

ส่วนโครงการร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอี ธนาคารได้อนุมัติในหลักการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการจำนวน 10 ราย รวมวงเงิน 138 ล้านบาท โดยแยกเป็นร่วมลงทุนกองทุนย่อยกองที่ 1 จำนวน 8 ราย วงเงิน 98 ล้านบาท และกองทุนร่วมลงทุนพันธกิจ SMEs เชิงเกษตรและที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ราย วงเงิน 40 ล้านบาท

จากผลการดำเนินงานที่ขยายสินเชื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการแก้ไขปัญหา NPL รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่เป็นไปตามแผนงาน ส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคาร มีกำไรสุทธิ ในเดือนกันยายน 2559 เท่ากับ 186 ล้านบาท และรวมกำไรสุทธิสิ้นสุดไตรมาส 3/2559 เท่ากับ 1,473 ล้านบาท

41 views
bottom of page