top of page
312345.jpg

ขานรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่: ธุรกิจรับกระเทือนเพื่อดูดี - ตอบโจทย์แรงงานไทย/เทศ


ผู้นำภาคธุรกิจขานรับการปรับค่าแรงขั้นต่ำใหม่ 5-10 บาท/วัน ในปี 2560 ยอมรับกระเทือน แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมตอบโจทย์แรงงานได้ เพราะไม่ได้ปรับมา 2-3 ปีแล้ว เตือนอย่ามองแค่ผลดีต่อแรงงานต่างด้าวเท่านั้น เพราะทุกอย่างคือสินทรัพย์มีค่า ไม่ว่าจะแรงงานไทย/เทศ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-10 บาท/วันในปีหน้าว่า วงการธุรกิจบ้านเราก็น่าจะสะเทือนบ้าง แต่รัฐบาลก็คงจะมองถึงความเหมาะสมแล้ว คือถ้ามองหลักการของปัญหาเศรษฐกิจโลกแบบนี้ กับการแข่งขันของทุกๆ ประเทศในการที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ค่าแรงของไทยก็ไม่ได้ถือว่าต่ำกว่าชาวบ้านเขา ถ้าปรับขึ้น ก็อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่ถ้าไม่ปรับขึ้นเลย ก็ไม่สามารถตอบโจทย์แรงงานได้ เพราะตั้งแต่มีการปรับค่าแรง 300 บาทมามาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ประมาณ 2-3 ปีแล้วที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นเลย ส่วนตัวเชื่อว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคงจะได้พิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว

“เท่าที่ทราบมา กรอ.แรงงานจังหวัด ก็มีการประชุม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากให้ปรับขึ้นเท่าไหร่ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดมาก แต่ก็อาจจะมีเสียงส่วนรวมของคณะทำงานลูกจ้างทั้งหลายให้ปรับขึ้น ดังนั้นรัฐบาลก็คงต้องตอบโจทย์ ก็เลยจะต้องมีการปรับค่าแรงตามนี้” นายพจน์กล่าวและว่าการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวในปีหน้า ยังมี 8 จังหวัดที่ไม่ต้องปรับขึ้น ขณะที่อีก 69 จังหวัด ปรับขึ้นค่าแรงตั้งแต่ 5-10 บาทนั้น ตรงนี้เป็นการตอบโจทย์ แต่ในหลักการไม่ควรจะขึ้น เพราะจังหวัดก็มีปัญหาด้านเศรษฐกิจพอสมควร แต่ก็เป็นการเฉลี่ยความสุขกัน รัฐบาลก็พยายามให้ทุกคนมีรายได้บ้าง หากเกษตรกรมีปัญหาก็ช่วยเหลือ

“ผมมีโรงงานอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร หากมีการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มอีก 10 บาท ก็ยังพอรับไหว คือขึ้นอีกประมาณ 3% หากขึ้นโดยหลักการแบบนี้ ผู้ประกอบการถือว่ารับได้ ขณะที่ทางสภาหอการค้าเอง ได้มีการคุยกัน ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะมีหลักการอยู่ แต่สมัยก่อนที่ปรับให้ขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศ ถือว่ามันไม่มีหลักการ และทำให้สะเทือนมากทั้งระบบ”

กรณีมีคนมองว่าการปรับขึ้นค่าแรง จะเอื้อให้กับแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทยนั้น นายพจน์กล่าวว่าคิดอย่างนี้คงไม่ได้ เพราะวันนี้กฎหมายแรงงานโลกระบุว่า แรงงานก็คือแรงงาน ที่อยู่ในไทยไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าว ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด และมีศักดิ์ศรีเท่ากันหมด หากมองอีกมุมหนึ่ง วันนี้โลกมันเปิด อาเซียนเปิด แล้ววันนี้หากมาดูแรงงานของไทย ก็เริ่มมีผู้สูงอายุขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลทำให้แรงงานขาด ดังนั้นอีกมุมหนึ่ง จะเป็นแรงงานต่างด้าว และทุกอย่างก็ถือเป็นทรัพย์สิน ดังนั้นจะมองอย่างนั้นไม่ได้

“ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานขณะนี้ จะมีเรื่องค้ามนุษย์ แต่ทางนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้แก้ปัญหาจริงจังมาตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ และทุกหน่วยงานก็ทำกันเต็มที่ ตอนนี้จึงถือว่าเบาบางลงไปเรื่อยๆ และก็มีผลบวกเข้ามาเรื่อยๆ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ทางรัฐบาลเองพยายามมองอยู่ที่จะปรับแรงงานเราให้มีประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้เราใช้แรงงานเปลืองไปบ้าง ก็ต้องมองไปถึงในเรื่องของการทดแทน โดยมีการทดแทนด้วยเครื่องมือ ด้วยระบบโลจิสติกส์ การผลิต การจัดขั้นตอน การเพิ่มประสิทธิภาพคนงาน การเพิ่มกำลังผลิตเครื่องจักรกับแรงงานคน ให้ต้นทุนถูกลง จากที่ผ่านมาเราใช้แรงงานจำนวนมากเกินไม่เต็มประสิทธิภาพ”

ส่วนความเคลื่อนไหวแรงงานเมียนมานับตั้งแต่ อองซาน ซูจี ขึ้นเป็นผู้นำประเทศเมียนมานั้น นายพจน์กล่าวว่า ไม่ได้เห็นภาพชัดเจน ว่าแรงงานเมียนมาได้กลับไปทำงานที่ประเทศของเขา ตรงกันข้าม แรงงานที่ได้ถอยออกไปอยู่จังหวะหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา คือช่วง IUU กับเรื่องของค้ามนุษย์ ซึ่งแรงงานต่างด้าว ใช้เข้มข้นมากกับแรงงานประมง ซึ่งพอไทยเจอเรื่อง IUU เข้าไป รวมถึงเจอเรื่องโรคกุ้ง จากผลผลิตร่วงจาก 5 แสนตันเหลือ 2 แสนตัน แรงงานก็หายไป

“ตอนค่าแรงปรับขึ้น 300 บาททั่วประเทศ ผู้ประกอบการก็พยายามปรับตัว ในการที่จะลดคนงาน และไปเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนเครื่องไม้เครื่องมือเข้าไป ส่งผลให้ความต้องการแรงงานลดลงไปเรื่อยๆ และทำให้แรงงานกลับไปบ้านไปบางส่วน ขณะเดียวกัน การปรับนโยบายของรัฐบาลในการนำเอาแรงงานต่างด้าวเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายให้หมดโดยให้มีการขึ้นทะเบียน ตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากจะมองว่าแรงงานเมียนมาที่ทำงานอยู่ในไทยมากหรือน้อยลง ก็คงจะเทียบสมัยก่อนไม่ได้ เพราะสมัยก่อนเข้ามาเถื่อนหมดผิดหมด ซึ่งส่วนตัวยังไม่เห็นนัยยะว่าว่ารัฐบาลใหม่เมียนมาดีจนดึงแรงงานเมียนมากลับไป ส่วนตัวว่าไม่ใช่

ส่วนกรณีมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะมีผลอะไรต่อภาคธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งไทยหรือไม่นั้น นายพจน์กล่าวว่า อย่าไปมองเฉพาะสินค้าอาหารทะเลเลย ต้องมองไปในระดับประเทศมากกว่า การเลือกตั้งดังกล่าว มีผลกระทบต่อโลกทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะไทย ซึ่งก็เห็นมาเยอะแล้วว่า เมื่อสหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้ง จะสู้กันอย่างไรแล้ว แต่พอเลือกตั้งเสร็จก็คือกลุ่มเดียวกัน ต้องมาดูนโยบายหลักว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งอาจจะมีการพูดอะไรรุนแรง แต่เวลาปฏิบัติคนละเรื่องกัน ต้องมาดูภาคปฏิบัติอีกที ข้อสำคัญคือ รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีหลายๆ แอคชั่นที่ออกมาที่มีความเข้าใจไทยมากขึ้น เข้าใจความจำเป็นของไทยที่ต้องอยู่ลักษณะนี้ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศแบบนี้ เมื่อความเข้าใจสหรัฐอเมริกาดีขึ้น เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเราก็จะดีขึ้นเอง

“นโยบายทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยังไม่ชัดเจน เพราะยังไม่รู้ว่าใครชนะ แต่อย่างที่บอก เวลาหาเสียงทะเลาะกัน แต่เมื่อใครชนะ ก็ประสานกันได้ ก็ต้องดูนโยบายหลักก่อน แต่เชื่อว่า ถ้าวันนี้ไทยวางนโยบายอยู่เป็นกลางในทุกๆ ประเทศ เราก็จะค้าขายกับใครได้ทุกคน อย่างไรก็ดี ในส่วนนักธุรกิจได้มองเรื่อง TPP อย่างไรนั้น ณ ขณะนี้ถ้าฮิลลารีขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเรื่อง TPP ก็เดินต่อ แต่ถ้าทรัมป์ขึ้นมา TPP ก็อาจจะหายไป ซึ่งวันนี้ไทยเรายังไม่ได้ปฏิเสธ คืออยู่ขั้นตอนการศึกษาอยู่ ดูผลได้ผลเสียที่จะเป็นไป ซึ่งถ้าฮิลลารีขึ้นน่าจะมีการจะผลักดันต่อ เราก็ต้องศึกษาให้เข้มข้นขึ้น ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ เพราะสุดท้ายอย่างไรไทยก็เสียเปรียบ”

1 view
bottom of page