top of page
312345.jpg

แผนฆ่าตัวตายชัดๆ: กังขา OPEC ทำได้หรือ? "สุรงค์" ให้ระวังวังวนน้ำมัน


สุรงค์ชี้...โอเปกจำใจสามัคคี ตกลงตรึงกำลังการผลิต ลดส่วนเกินน้ำมันในตลาดโลก หวังฉุดราคาน้ำมันโงหัว แต่ปัญหาคือจะทำได้จริงแค่ไหน แถมถ้าราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น แหล่งผลิตอื่นๆ จะกลับมาผลิตน้ำมันอีกครั้ง ที่สุดแล้วจะกลับสู่วังวนซัพพลายล้น ดีมานด์ลดได้อีกรอบ พร้อมประเมินราคาน้ำมันปีนี้-ปีหน้าอยู่ที่ 45-50 เหรียญต่อบาร์เรล

นายสุรงค์ บูลกุล ที่ปรึกษา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการเจรจาข้อตกลงของโอเปกในการพยุงราคาน้ำมันด้วยการตรึงปริมาณการผลิตไม่ให้เกิน 32.5-33 ล้านบาร์เรลต่อวัน ว่าถือเป็นเรื่องของข้อตกลงในเชิงสัญลักษณ์ที่น่าสนใจและน่าจับตามอง เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่กลุ่มโอเปกสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้

“ในอดีตที่ผ่านมาจะมี 2 กลุ่มหลักที่อยากให้ราคาน้ำมันนิ่ง และอีกกลุ่มอยากให้ราคาสูงขึ้น แต่ขณะนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ราคาน้ำมันลดลงจาก 100 เหรียญต่อบาร์เรล ลงมาเหลือ 40 เหรียญต่อบาร์เรล จึงเป็นครั้งแรกที่มีนัยยะสำคัญทำให้กลุ่มโอเปกตกลงกันได้ ถือเป็นการตกลงในเชิงสัญลักษณ์...

แต่ที่ต้องจับตามองคือ อำนาจในการสั่งการให้ประเทศสมาชิกเหล่านี้สามารถรับบทบาท กติกา หรือเงื่อนไขได้หรือไม่ จะเป็นบทบาทที่พวกเราต้องมาจับตามองใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. สัญญาหรือข้อตกลง จะเริ่มต้นหลังจาก 30 พฤศจิกายนนี้ เป็นช่วงที่ต้องจับตามองว่าสมาชิกต่างๆจะปรับตัวได้อย่างไร มองว่าปริมาณการผลิตที่ลดลง 800,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบทั้งหมดที่โลกใช้ 33-34 ล้านบาร์เรล อาจจะดูไม่เยอะ แต่มีนัยยะสำคัญเพราะเป็นตัววัดใจกัน เช่น รัฐบาลซาอุดิอาระเบียสามารถกัดฟันกลืนเลือดตัวเองที่จะทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวและลดกำลังการผลิตได้หรือไม่ เพราะงบประมาณที่ตั้งไว้จากราคาน้ำมันที่จะหล่อเลี้ยงประเทศสูงถึง 80-90 เหรียญต่อบาร์เรล แต่วันนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่กว่า 40 เหรียญต่อบาร์เรล ก็จะต้องดูว่าการรักษาเสถียรภาพและข้อตกลงนี้จะเป็นได้มากน้อยเท่าไหร่ จะเห็นว่า Global Gap มองภาพน้ำมันล้นตลาดอยู่และยังไม่ฟื้นตัว ราคาน้ำมันยังอยู่ที่กว่า 40 เหรียญต่อบาร์เรล ในขณะที่แบงก์สหรัฐอเมริกามองว่า การลดกำลังการผลิต 800,000 บาร์เรลต่อวันที่จะทำให้น้ำมันที่ล้นตลาดลดลงกว่าครึ่ง จะทำให้ราคายืนอยู่ที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรล คิดว่าเป็นช่วงของข้อตกลงในเชิงสัญลักษณ์เบื้องต้น ต่อไปคงต้องดูผลประกอบการและความสามารถของโอเปกในการควบคุมสมาชิกของตัวเองได้แค่ไหน”

อย่างไรก็ตาม นายสุรงค์คาดว่า ในที่สุดแล้วในการควบคุมซัพพลายหรือดีมานด์น้ำมันยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะถ้าราคาน้ำมันปรับขึ้นมาเกิน 50 เหรียญต่อบาร์เรล ผู้ผลิตน้ำมันแหล่งผลิตอื่นๆ ที่หยุดการผลิตไปในช่วงราคาน้ำมันเป็นขาลง จะกลับมาผลิตน้ำมันกันใหม่

“โดยธรรมชาติจะมีตัวเลขที่มีผลต่อจิตวิทยา ถ้าราคาน้ำมันเกิน 50 เหรียญต่อบาร์เรล น้ำมันจากแหล่งอื่น Gas จาก Oil Shale ก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมา เพราะฉะนั้นวันนี้ยังมีเพดานกดความรู้สึกว่าราคาน้ำมันจะไม่หนีไปไหนก็จะอยู่ประมาณ 40-50 เหรียญต่อบาร์เรล ถือเป็นการตกลงครั้งแรกในเชิงสัญลักษณ์ว่าโอเปกสามารถคุยกันรู้เรื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็ต้องจับตาดูว่าศักยภาพหรือประสิทธิภาพในกลุ่มโอเปกที่คุยกันเองมีมากน้อยขนาดไหน”

“นายสุรงค์กล่าวด้วยว่า ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทางปตท.และบริษัทน้ำมันในประเทศไทย ต้องมีการปรับแผนเป็นระยะๆ และต้องจับตาประเมินท่าทีของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีประเด็นที่สำคัญมากเพราะกำลังให้ความสำคัญกับการบริหารส่วนเกินกันอยู่ ดังนั้น ในแง่ของกำลังการผลิตจะยังไม่มีผลกระทบในปีนี้ โดยราคาน้ำมันยังมีความเสถียรมากพอสมควร ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกก็ยังปกติ

“ส่วนการตรึงกำลังการผลิตของโอเปกไว้ไม่ให้เกิน 33 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดว่าราคาน้ำมันก็ยังคงใช้ราคาเดิม ประมาณ 45-50 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นราคาที่มองว่าปีหน้าก็อยู่ในระดับนี้เช่นกัน ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทค้าน้ำมันจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะหลุดพ้นวิกฤตที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นลงวันละ 4-5 เหรียญ โดยปัจจุบันเป็นการขึ้นลงในแนวแคบ ทำให้การประเมินสถานการณ์มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญคืออุปสงค์หรือดีมานด์มีความชัดเจนว่าไม่ได้ฟื้นอย่างเต็มที่ การฟื้นตัวของดีมานด์คงฟื้นแบบช้า ค่อยเป็นค่อยไป และต้องมาดูว่าการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไร การค้าโลกจะเป็นอย่างไร ถ้ายังดีเหมือนเดิม เรื่องการกีดกั้นสินค้าน้อยลง โลกจะมีโอกาสฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ นายสุรงค์ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนยังมีความลำบากใจในการเลือก และเท่าที่สำรวจมา พบว่า ต้องการเลือกคนที่ดีกว่านี้ แต่มีให้เลือก 2 คนเท่านั้น

“นโยบายสุดโต่งของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นเรื่องของอเมริกาชัตดาวน์ หรือประกาศทะเลาะกับจีนอย่างมีหลักฐาน ส่วนเดโมแครตจะมองภาพการดูแลประชาชน ประชาสังคม เป็นหลัก ถ้าดูอารมณ์ทั้งคู่ เรื่องต่างประเทศยังเป็นเรื่องรองอยู่มาก ก็ยังคงเน้นเรื่องดูแลตัวเองมากกว่า คิดว่าเราคงต้องทำใจว่ารอบนี้เราต้องช่วยเหลือตัวเองหรือให้เอเชียฟื้นตัวเองดีกว่า สหรัฐอเมริกาอาจต้องใช้เวลาสักพักที่จะหันกลับมาดูแลนโยบายต่างประเทศ ถ้าจะดูก็คงเอานโยบายที่ไม่สุดโต่งเท่าไหร่ ดูแล้วทางเดโมแครตน่าจะมีความคุ้นเคยเรื่องต่างประเทศมากกว่ารีพับลิกัน”

0 views
bottom of page