top of page
327304.jpg

KTB ชิงฐานลูกค้าเกษตรกร..บริการ e-money รับ-จ่ายเงิน


กรุงไทยเปิดให้บริการขายลดเช็คอิเล็กทรอนิกส์กลุ่มโรงงานน้ำตาล ระบุผู้บริหารโรงงานสะดวกไม่ต้องเซ็นเช็คมือหงิก เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับเช็ค-ขึ้นเช็ค รวมๆ ถึง 40 ล้านบาทต่อปี เผยก่อนหน้านี้ร่วมกับอุตสาหกรรมไบโอดีเซลและกระดาษมาแล้ว ส่งผลให้บริการเกษตรกรได้ 30-40% ของเกษตกรพืชไร่ทั้งประเทศ เล็งลุยอุตสาหกรรมยางต่ออีกหนึ่งกลุ่ม

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกับ บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ซึ่งดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลโรงเดี่ยวที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดของประเทศ พัฒนาระบบงานเพื่อรองรับการขายลดเช็คในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (KTB e-LBD) โดยธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารแรกที่ให้บริการรับซื้อลดค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เช็ค เพื่ออำนวยความสะดวก ลดงานด้านเอกสาร และเป็นการลดต้นทุนให้กับลูกค้ากลุ่มโรงงานน้ำตาล และเกษตรกรชาวไร่อ้อย

ขณะเดียวกัน ธนาคารตั้งเป้าเป็นผู้นำโซลูชั่นในอุตสาหกรรมน้ำตาล และจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงงานน้ำตาลที่ใช้บริการ KTB e-LBD เพียงมีวงเงินสินเชื่อขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินกับธนาคารเท่านั้น

ทั้งนี้ บริการ KTB e-LBD จะช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนในการรับซื้อลดค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อย เกษตรกรผู้ใช้บริการเพียงแจ้งเลขที่บัญชีที่ใช้รับเงินค่าเกี๊ยวอ้อยกับโรงงานน้ำตาลและสาขาของธนาคารกรุงไทย เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าเกี๊ยวอ้อย ธนาคารจะดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีให้โดยอัตโนมัติ โดยโรงงานน้ำตาลไม่ต้องเขียนเช็คจำนวนมากให้เกษตรกร และเกษตรกรก็ไม่ต้องเสียเวลานำเช็คค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อยไปขึ้นเงินที่ธนาคารเหมือนที่ผ่านมา และในเฟสต่อไป ธนาคารจะให้บริการจ่ายเงินค่าอ้อย เกี๊ยวอ้อยเต็มวงเงิน เพื่อให้เกษตรกรบริหารเงินได้ด้วยตนเอง ซึ่งโรงงานน้ำตาลและเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่สนใจ สามารถสมัครใช้บริการ KTB e-LBD ได้ที่สาขากว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ

“ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท ต้องลงนามในเช็คทีละฉบับ จำนวนหลายพันหรือหลักหมื่นฉบับต่อฤดูกาลหีบอ้อยแต่ละครั้ง เรียกว่าเซ็นเช็คกันมือหงิก ซึ่งสูญเสียทั้งแรง เวลา และค่าใช้จ่ายในการซื้อเช็ค ขณะที่บริการ KTB e-LBD จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้มีอำนาจลงนาม เพิ่มความสะดวกให้กับเกษตรกรไม่ต้องเดินทางไปรับเช็คที่โรงงาน และยังต้องเดินทางต่อเพื่อเอาเช็คไปขึ้นเงินที่สาขาธนาคารอีก และเป็นผลดีในการลดงานของสาขาธนาคารเนื่องจากมีลูกค้าไปขอขึ้นเช็คเป็นจำนวนมากในฤดูหีบอ้อย รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาลด้วย” นายทรงพล กล่าวและเผยต่อไปว่า

สำหรับบริการดังกล่าว ไม่ได้ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารลดลง เนื่องจากมีการคิดค่าบริการไม่เกินกว่าค่าเช็ค 15 บาท แต่จะเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเกษตรกร โดยหากคำนวณคร่าวๆ เกษตรกรต้องเดินทางไปรับเช็ค และเดินทางไปขึ้นเงินที่สาขาธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาท/คน/ครั้ง และแต่ละปีมีการเดินทางไปรับเช็ค 4 ครั้ง เท่ากับลดค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรได้ 4,000 บาท/คน/ปี ขณะที่เกษตรกรของ KTIS มีราว 10,000 คน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรทั้งหมดได้ถึง 40 ล้านบาทต่อปี

นายทรงพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารได้นำระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money มาให้บริการแก่อุตสาหกรรมไบโอดีเซลกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมกระดาษกับเกษตรกรผู้ปลูกต้นยูคาลิปตัส ซึ่งเมื่อรวมกับอุตสาหกรรมน้ำตาลกับชาวไร่อ้อย ทำให้ครอบคลุม 30-40% ของเกษตรกรพืชไร่ทั่วประเทศ ขณะที่ในอนาคตจะนำไปใช้กับอุตสาหกรรมยางพาราต่อไป

ด้าน นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวว่า บริการ KTB e-LBD ที่ร่วมกันพัฒนาในครั้งนี้ช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มาก เพราะระบบเดิมเกษตรกรจะต้องรับเช็คแล้วนำไปขายลดเช็คที่สาขาของธนาคาร ทำให้เสียเวลา ซึ่งหากเกษตรกรไปพร้อมๆ กันจำนวนมาก ก็จะเจอปัญหาการต่อคิว ซึ่งสูญเสียเวลามากขึ้นไปอีก แต่ระบบใหม่ได้เงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง ปัญหานี้จึงหมดไป

“ในส่วนของกลุ่ม KTIS เอง ก็ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาระบบและกระบวนการทำงานในด้านต่างๆ อยู่เสมอ รวมถึงด้านบัญชีการเงินด้วย ซึ่ง KTB e-LBD ถือว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญ เพราะในระบบการจ่ายเช็คค่าอ้อย เช็คเกี๊ยว ให้กับชาวไร่อ้อยแบบเดิมจะต้องให้ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทลงนามในเช็คทีละฉบับ จำนวนนับหมื่นฉบับต่อฤดูกาลหีบอ้อยแต่ละครั้ง ซึ่งสูญเสียทั้งแรง เวลา และค่าใช้จ่ายในการซื้อเช็ค” นายประพันธ์ กล่าว

25 views
bottom of page