top of page
327304.jpg

SCB ปรับใหญ่รับมือ FinTech..จัด 2 หมื่นล้านลงทุนพัฒนาไอที


ไทยพาณิชย์ปรับปรุงองค์กรครั้งใหญ่ เตรียมลงทุน 2 หมื่นล้านในอีก 2-3 ปี พัฒนาเทคโนโลยีรองรับ FinTech ที่กำลังรุกเข้าเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ผลักดันให้ลูกค้าใช้อินเทอร์เน็ต-โมบาย แบงกิ้ง เพิ่มขึ้น พร้อมเล็งลดสาขา โยกพนักงานไปเป็นฝ่ายขาย เผยลงทุนสูง ผลกำไรแบงก์คงไม่เหมือนเดิม ขณะที่ระยะสั้นรายได้ค่าธรรมเนียมลด หากหักกลบต้นทุนบริหารเงินสดที่ลดตามอาจกลับมามีกำไร ล่าสุดร่วมลงทุนบริษัทพัฒนา Blockchain ในสหรัฐหวังพัฒนานำมาใช้ในประเทศไทย

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อก้าวเข้าสู่การให้บริการด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น รองรับกับกระแสเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและส่งผลกระทบต่อธุรกิจการเงินแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันการพัฒนาเทคโนโลยียังจะช่วยให้การทำงานของธนาคารในการให้บริการลูกค้ามีความสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยคาดว่าธนาคารจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีตั้งแต่นี้ไปจนถึงอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ธนาคารมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีก้อนแรกไปแล้วประมาณ 6.5 พันล้านบาท หรือราว 15% ของผลกำไรในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากปกติสำหรับการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้เพียง 6-7% ของผลกำไร โดยมีการใช้ระบบจัดการฐานข้อมูลลูกค้า หรือที่ธนาคารเรียกว่า Business Intelligence แบบใหม่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีนี้ สอดรับกับที่มีการปรับปรุงแอปพลิเคชั่น SCB Easy โฉมใหม่ที่จะเปิดให้ใช้บริการได้ช่วงต้นปี 2560

“จากที่ผ่านมาธุรกิจแบงก์แข่งกันแรงเรื่องปล่อยสินเชื่อ มาถึงตอนนี้เป็นยุคที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะการรักษาความสามารถในการแข่งขันแบบเดิมทำได้ยากขึ้น วันนี้โลกเปลี่ยนเร็ว มี FinTech ที่ไม่ต้องอยู่ในการกำกับของทางการเข้ามาแข่งขัน ธนาคารจึงต้องเปลี่ยนให้มีความกระฉับกระเฉง มีความแข็งแรง เพื่อที่จะสามารถเติบโตต่อไปได้ ขณะที่ในปีต่อๆ ไป เราคงจะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี หรือไอทีสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการลงทุนในระดับสูงอาจทำให้ผลกำไรของธนาคารลดลง แต่ถ้าไม่ลงทุนในวันนี้ วันต่อไปคงอยู่กันลำบาก” นายอาทิตย์ กล่าวและเผยต่อไปว่า

ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการจูงใจให้ลูกค้าหันไปใช้ อินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง และโมบาย แบงกิ้ง มากขึ้น ขณะเดียวกันได้ทยอยลดสาขาจากที่มีอยู่กว่า 1.2 พันสาขาลง ซึ่งการจะปิดสาขามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า สำหรับในส่วนของพนักงานได้พัฒนาให้ปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่ฝ่ายขายแทน ซึ่งธนาคารไม่มีแผนปรับลดจำนวนพนักงาน และจะยังคงให้ทำงานต่อไปจนกว่าจะเกษียณ เนื่องจากมองว่าจำนวนพนักงานของธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ส่วนทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า ธนาคารได้มีการจัดแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างชัดเจน และธนาคารสามารถนำเสนอบริการทางการเงิน ช่องทางการบริการ รวมถึงบริการเสริมอื่นๆ แก่ลูกค้าได้อย่างตรงจุด โดยประกอบด้วย 1. กลุ่มลูกค้าบุคคลทั่วไป เช่น ลูกค้าบัญชีเงินฝาก สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต 2 .กลุ่มลูกค้าบุคคลที่มีความมั่งคั่ง (wealth) ซึ่งจะนำเสนอบริการการลงทุน การวางแผนจัดการทรัพย์สิน 3. กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก 4. กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ 5. กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และ 6. กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจหลากหลายรูปแบบ และขยายสาขาไปต่างประเทศ

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงของธนาคารในช่วงระยะสั้นคงส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง หากเมื่อหักลบกับค่าใช้จ่ายด้านสาขาและต้นทุนการบริหารเงินสดที่ลดลงตาม อาจกลับทำให้ผลกำไรของธนาคารเพิ่มขึ้นก็ได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารที่มีกำไรสูงที่สุด มีขนาดสินทรัพย์มากที่สุด มีรายได้มากที่สุด หรือมีสาขามากที่สุด แต่มีความต้องการที่จะเป็นธนาคารแห่งความน่าชื่นชมสูงสุด หรือ The most admire พร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยยึดประโยชน์ของลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น หน่วยงานกำกับดูแล และสังคม เป็นสำคัญ

ด้าน นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ลงทุนใน Ripple บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่ริเริ่มลงทุน ศึกษาและทดลอง เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) บน Blockchain เพื่อพัฒนาและสร้างเสถียรภาพให้กับการโอนเงินข้ามประเทศผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาดำเนินการ ลดค่าใช้จ่าย และมั่นใจได้ในความปลอดภัยในโลกการเงินแห่งยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

“เมื่อเครือข่ายภายใต้เทคโนโลยี Blockchain มีความพร้อมและได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล ในอนาคตอาจมีความเป็นไปได้ที่จะนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาปรับใช้งาน ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการโอนเงินข้ามประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายแก่ลูกค้า ทั้งยังอยู่ภายใต้ระบบการรักษาความปลอดภัยระดับโลก” นายธนา กล่าว

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในรอบ Series B ของ Ripple ซึ่งเป็นการระดมทุนทั้งสิ้นจำนวน 55 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมลงทุนที่สำคัญรายอื่น ๆ ประกอบด้วย Accenture, Addreessen Horowitz, Google Ventures, IDG Capital Partners, Santander InnoVentures และ Seagate

ขณะที่ การดำเนินการครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของไทยพาณิชย์ในการสร้างระบบนิเวศทางการเงินยุคใหม่ (FinTech Ecosystem) โดยมีดิจิทัล เวนเจอร์ส เป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อน ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสที่ ดิจิทัล เวนเจอร์สจะได้ร่วมมือกับ Ripple ในการสร้างความรู้และความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจไทยเกี่ยวกับนวัตกรรม Blockchain ซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่และเป็นที่รู้จักในวงแคบ ให้เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ในการช่วยยกระดับการทำธุรกรรมออนไลน์ในภาคการเงินและภาคธุรกิจต่างๆ

1 view
bottom of page