top of page
312345.jpg

ช่วยเราช่วยข้าวทั้งระบบ ‘โรงสีข้าว’ ครวญหนัก..เผชิญปัญหาสารพัด


นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ของโรงสีข้าวไทยในปัจจุบันว่า มีปัญหาเรื่องราคาข้าวเปลือก ทางโรงสีข้าวได้สะท้อนให้ภาครัฐพิจารณาแล้วได้มีการประชุมไปแล้ว จากที่ราคาได้ตกลงมาในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ราคาข้าวสารอยู่ที่ 1.4 หมื่นบาทต่อตัน หรือกระสอบละ 1.4 พันบาทได้ ลดลงลงเหลือ 1.15 หมื่นบาท โดยราคาได้ลงมาเร็วมาก ทำให้ตลาดช็อต

“เวลามาดูตลาดข้าวเปลือก จากที่ราคาตก ก็บอกว่าโรงสีกดราคา แต่ไม่ได้ไปดูว่าราคาข้าวสารลงด้วยหรือไม่ นายมานัสกล่าว “เวลาพูด พูดไม่หมด ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องไปสะท้อนก่อน แล้วราคาข้าวสารมันลงมา แล้วราคาข้าวเปลือกก็จะลงตามมา อย่างราคาข้าวเปลือกลงมาที่ 9 พันบาท-1 หมื่นบาท ช่วงที่ข้าวสารลงมาที่ 1.15 หมื่นบาท ข้าวเปลือกจะลงมาที่ต่ำสุดที่ 8 พันบาทต่อตัน พอรัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดประมูลซื้อข้าว ราคาอยู่ที่ 424.85 เหรียญ ปรากฏว่าประเทศไทย ประมูลมาได้ 1 แสนตัน จากนั้นอีก 3 วัน ราคาได้ดีดจาก 1.15 หมื่นบาท ขึ้นทันทีทันใดเลย เพราะฉะนั้น เราจะสังเกตได้ว่าตัวแปรสำคัญที่จะเห็นได้ชัดว่าถ้าราคาข้าวสารขึ้น ราคาข้าวเปลือกก็จะดีดขึ้นจาก 8 พันบาท ขึ้นมาเป็น 8.4-8.5 พันบาททันที”

สาเหตุที่ราคาข้าวสารลดลงไปนั้น นายมานัสเปิดเผยว่าเกิดจากโรงสีซื้อข้าวเปลือกมาแล้วก็สีเพื่อขายเป็นข้าวสาร แต่ถ้าเราซื้อข้าวเปลือกมาแล้วโรงสีได้ดำเนินการสีแล้วขายไม่ได้ หรือคิดว่าราคาวันที่จะไปขายวันนี้ตันละ 1.4 หมื่นบาท แต่วันที่ไปขายข้าวจริงๆ ผู้ที่ซื้อข้าวต่อจากเราไป ซื้อที่ 1.15 หมื่นบาท เมื่อราคาหายไปตรงนั้น เกิดภาวะขาดทุนขึ้นมา ดังนั้น ต้องมาซื้อราคาข้าวเปลือกในราคาที่ทำได้ในวันนั้น

“ตรงนี้เกษตรกรตกใจว่าทำนามาโอบอุ้มมาตั้ง 3-4 เดือน เวลาเก็บเกี่ยว ทำไมราคาถึงหล่นขนาดนี้ แล้วโรงสีที่ซื้อข้าวไปก่อน ที่ซื้อไปในราคา 9 พันบาท - 1 หมื่นบาท ซื้อไปแล้วก็ยังไม่ได้ขายเหมือนกัน ก็เป็นต้นทุนที่สูงอยู่ เราก็ไม่อยากให้ราคาลง เพราะจะทำให้ขาดทุน ซึ่งของอะไรที่ราคาลงจะขายไม่ได้ แต่ถ้าอะไรราคาขึ้นจะขายได้ง่ายกว่า”

ส่วนเรื่องโรงสีขาดสภาพคล่องโดยที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้นั้นนายมานัสกล่าวว่ามีส่วน จากปัญหาภัยแล้ง ใครๆก็คอนโทรลไม่ได้ ซึ่งจากที่เกิดขึ้นมา ผลผลิตหรือวัตถุดิบที่มาเข้าโรงสีไม่มี ซึ่งในภาคการเกษตรจะเป็นหมด ไม่เฉพาะที่โรงสีเท่านั้น ธุรกิจขายปุ๋ย ขายยา พืชผล ขายเคมีเกษตร กลุ่มเหล่านี้ไม่มีการขับเคลื่อน ก็จะไม่เดินหมด ในช่วงนั้นจะหยุดนิ่ง พอหยุดนิ่งก็จะมีค่าใช้จ่าย และพอมีค่าใช้จ่าย ทางสถาบันการเงินก็มองโรงสี กลุ่มที่ทำด้านการเกษตร เหล่านี้ จะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ก็เลยเกิดปัญหาว่าบางธนาคาร ไปตัดลดงบวงเงินบ้าง ไปกดดันบ้าง ก็เลยเกิดปัญหา "หากช่วยโรงสี ก็จะลงไปถึงเกษตรกร เพราะถ้าเกิดโรงสีไม่มีเงินซื้อข้าว ก็จะซื้อข้าวไม่ได้ และเงินก็จะไม่ถึงตัวเกษตรกรอยู่ดี ซึ่งเวลาโรงสีซื้อข้าวจะจ่ายเงินสด แต่เวลาโรงสีไปขาย จะจ่ายเป็นเครดิต 30 วัน 60 วัน และ 90 วัน บางรายเจอ 100 วันยังไม่ได้เงินก็มี"

กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะออกมาอุ้มข้าวที่จะออกสู่ตลาด 24-25 ล้านตัน โดยให้สหกรณ์รับซื้อข้าวผ่านโครงการชดเชยดอกเบี้ย 3% นั้น นายมานัสกล่าวว่า จริงๆมาตรการที่รัฐออกมา 17 มาตรการ จำเป็นต้องใช้ทุกมาตรการ ตรงนี้ก็ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ให้สหกรณ์ ตลาดกลาง ให้ผู้ค้าข้าวซื้อข้าวเก็บแล้วชะลอไม่ให้ออกมาขายทันทีทันใด จากที่ทุกครั้งซื้อข้าวมา พอสีแล้วขาย ก็จะเป็นการชะลอเหมือนแก้มลิง ก็ช่วยได้บางส่วน แต่ถ้าทั้งหมด คงจะเป็นไปไม่ได้ จากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าวจะไปออกพร้อมๆกันในเดือนพฤศจิกายนประมาณ 13.79 ล้านตันที่มีการประเมินการมา ซึ่งหลายๆมาตรการที่ออกมา คงช่วยได้ แต่จะมากหรือน้อย ก็แล้วแต่ละมาตรการที่ออกมา

“สำหรับมาตรการที่จะช่วยโรงสีนั้น จริงๆต้องบอกว่าช่วยผู้ประกอบการข้าวทั้งระบบน่าจะดีกว่า เพราะช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาที่โรงสีไม่มีงานทำ เราก็ช่วยตัวเองอยู่แล้ว บางรายลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย แต่บางรายลดมากไม่ได้ เพราะว่าถ้าถึงเวลาเราจะกลับมาทำ แล้วไปลดพนักงาน ก็จะลำบาก ซึ่งเวลาเราได้รับการช่วย พอซื้อข้าวกับเกษตรกร โรงสีก็จ่ายเงินสด เงินก็จะถึงเกษตรกร แต่ถ้าไม่ซื้อ หรือจ่ายเป็นเครดิต 30 วัน 60 วันไปก่อน ตรงนี้เกษตรกรรับได้หรือไม่ เพราะเกษตรกรขายข้าว ก็อยากได้เงินไปใช้หนี้ จ่ายค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำมัน ซึ่งส่วนตัวมองว่าน่าจะช่วยทั้งระบบ” นายมานัสกล่าว

“มุมมองส่วนตัวน่าจะช่วยทั้งระบบ ซึ่งเราเห็นโมเดล จากข้าวที่ประมูลที่ฟิลิปปินส์ 1 แสนตัน พอมีการประมูลเสร็จ และมีการส่งมอบข้าวเดือนกันยายน 4 หมื่นตัน และภายในเดือนตุลาคมอีก 6 หมื่นตัน ตรงนี้มากระตุ้นตลาดให้ขยับขึ้นเลย ก็เป็นกลไกตลาดอย่างที่หลายคนเรียกร้องว่าอย่าแทรกแซง ดังนั้น จะทำอะไรก็ได้กับสินค้าที่กำลังจะออกมา ให้ขายออกต่างประเทศไปได้ ซึ่งจะเกิดการซื้อขาย และแย่งซื้อไปเอง และก็จะมีการดึงราคาไปเองบางส่วน แต่ว่าตอนนี้พนักงานขายของประเทศไทยก็ไม่ค่อยได้ทำงานเท่าไหร่ ไม่ได้ไปขาย เพราะไม่มีออร์เดอร์ และหวังว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้ น่าจะมีออร์เดอร์เข้ามา ถ้าทำอย่างนั้นได้ ก็น่าจะช่วยกระตุ้นราคาตลาดได้ด้วย

นายมานัสเปิดเผยสถานการณ์โรงสีขณะนี้ว่ามีผู้ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ บางรายก็อยู่ได้ บางรายก็อยู่ไม่ได้ รายที่อยู่ไม่ได้ ต้องใช้เงินจากสถาบันการเงินก็จะเหนื่อยบ้าง เพราะถูกปรับลดวงเงินบ้างบางส่วน ถูกบีบมากขึ้น บางสถาบันการเงินก็พยายามผลักให้ไปพักพิงสถาบันการเงินอื่นๆ ก็พยายามปรับตัวกันอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็มีวงเงินชดเชยให้เก็บสต็อกข้าวแล้วชดเชยดอกเบี้ย 3% ก็ช่วยได้บางส่วน แต่บางครั้งการชดเชยดอกเบี้ย เราชดเชยมันได้บ้าง แต่ขาดทุนในราคาที่มันตกไปเยอะ ก็ทำให้บาดเจ็บเหมือนกัน เพราะเราเคยเจอมาแล้วในปีก่อน ก็ค่อนข้างลำบาก “จริงๆเป็นรัฐบาลก็ลำบาก เพราะปีนี้ข้าวออกแบบกระจุกตัว ซึ่งก็กังวลเหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไรก็ได้ ให้มันขายออกไปได้”

สำหรับการตั้งเป้าให้โรงสีรับซื้อข้าวในปริมาณ 8 ล้านตันนั้น นายมานัสกล่าวว่า โรงสีซื้อข้าวได้ตามปกติอยู่แล้ว ซึ่งข้าวที่ออกมากว่า 20 ล้านตัน โรงสีก็ซื้อปกติอยู่แล้ว แต่ที่รัฐออกมาแต่ละมาตรการ ก็เพื่อชะลอ ให้ซื้อแล้วอย่างน้อยๆ 60 วันห้ามขาย และต้องดำรงสต็อกไว้ และมีส่วนราชการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจ เมื่อมาตรวจเสร็จ ก็ไปพิจารณาว่า ที่เก็บได้เก็บตามเงื่อนไขหรือไม่ มีสต็อกจริงหรือไม่ตามเงื่อนไขนี้ หรือจะตั้งเรื่องชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เราใช้วงเงินอยู่

“สมมุติว่าเก็บได้ 50 วันแล้วขายไปแล้ว พอมาตรวจสต็อกไม่มี รัฐบาลก็ไม่ได้ชดเชย ไม่ได้ช่วยอะไร เพื่อช่วยชะลอข้าวที่ออกมาในเดือนพฤศจิกายน แล้วมีการซื้อขาย มันก็จะไหลออกมาในตลาด ก็จะทำให้ภาวะตลาดซบเซาลงไปอีก เพราะเมื่อของออกมามาก คนที่จะซื้อก็ยังไม่ยอมมาซื้อ ไม่มาตั้งราคาซื้อขายดังนั้น เรื่องที่รัฐบาลช่วยชดเชยดอกเบี้ย 3% ก็ถือเป็นการช่วยได้บางส่วน แต่รัฐบาลน่าจะช่วยหาตลาดให้เราด้วย แล้วทุกอย่างจะสะท้อนกลับไปที่เกษตรกร” นายมานัสกล่าวและว่าปัจจุบัน รัฐบาลพยายามให้โรงสีเซ็นเอ็มโอยู ให้ช่วยทำตลาด บางพื้นที่ให้เราเซ็นนำตลาด 500 บัตร ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ แต่รัฐเซ็นเอ็มโอยูให้ชาวนา และก็น่าให้โรงสีเซ็นเอ็มโอยูกับผู้ซื้อด้วยได้หรือไม่ แต่ว่าขณะนี้รัฐเซ็นเอ็มโอยูแค่ตอนเดียว แล้วสมาชิกจะไปทางไหนต่อ โดยที่โรงสีก็ให้ความร่วมมือ แต่ทำเท่าที่จะทำได้ เพราะสมาชิกบางรายก็สู้ไม่ไหว

“ตั้งแต่ปีที่แล้ว ข้าวหอมมะลิที่เก็บเกี่ยวพร้อมกัน แล้วขอแรงให้สมาชิกเราที่อยู่ภาคกลางมาช่วยซื้อ ปรากฏว่า บางรายซื้อมาจากปีที่แล้ว ตอนนี้ยังอยู่ในบ้านปกติ ขายไม่ได้ และราคาที่ไปซื้อตอนนั้น ข้าวหอมมะลิอยู่ที่ราคา 25-26 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้เหลือ 20-21 บาทต่อกิโลกรัม และราคานี้ไม่มีคนซื้อ ราคานี้อย่าไปเปรียบเทียบราคาขายในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะราคาขายยังไม่อ่อนตัวลงมาเท่าไหร่”

0 views
bottom of page