top of page
379208.jpg

สรรพากรย้ำไม่กระทบตลาด เก็บภาษีซื้อขายหุ้น...FETCO ไม่เห็นด้วย

หลังเป็นข่าวคราวหลายรอบในกรณีการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นจากนักลงทุน Transaction Tax แต่การจัดเก็บภาษีนี้ยังไม่เกิดขึ้นเพราะมักมีข้อคัดค้านและเกรงจะเกิดผลกระทบมากมายโดยเฉพาะอุปสรรคของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย

ทั้งนี้เมื่อกลางปี 2564 ได้มีการพูดกันเป็นประเด็นอีกรอบหนึ่ง ซึ่งมองว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกระทรวงการคลังอีกช่องทางหนึ่งในภาวะที่การจัดเก็บรายได้ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่รับผลกระทบจากโควิด อย่างไรก็ตาม สรรพากร ได้ออกมาชี้แจงยืนยันว่ายังไม่มีการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นรายย่อย ที่มียอดธุรกรรมเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน โดย นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาของกระทรวงการคลัง ซึ่งยังไม่ได้มอบนโยบายในเรื่องดังกล่าวมาที่กรมสรรพากร แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างรอบด้าน และคงยังไม่นำมาบังคับใช้เร็วๆ นี้

ล่าสุดได้มีกระแสข่าวขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเตรียมพิจารณาการจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายย่อยที่มีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน ในอัตรา 0.1% จากยอดธุรกรรมการซื้อขายหุ้น โดยจะเริ่มเก็บตั้งแต่ปี 2565 ทำให้เรื่องเป็นประเด็นขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้รายงานจากกระทรวงการคลังระบุว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐให้มีความยั่งยืน โดยหนึ่งในแผน คือ การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Financial Transaction tax ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 หลังจากภาษีดังกล่าวที่ถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยกเว้น Capital gains tax ซึ่งในหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ตัวนี้ บางประเทศก็เก็บตัวใดตัวหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มีการเก็บ Financial Transaction Tax

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ หลังจากที่ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาอย่างยาวนาน โดยการนำกฎหมายภาษีตัวใดออกมาใช้ในประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ว่า มีการฟื้นตัวแล้วหรือยังด้วย

“เรื่องภาษีตัวใหม่ๆ นั้น ที่ผ่านมาเราก็ได้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกรรมอีเซอร์วิสต่างๆ ซึ่งก็ได้รับรายงานจากกรมสรรพากรว่า มีรายได้เข้ามาเกินเป้าหมาย ส่วนภาษีตัวอื่นๆ เราก็พิจารณาอยู่ เช่น ภาษี Financial Transaction Tax ซึ่งไม่ได้เก็บมานาน เราก็จะมีแผนจะจัดเก็บในปี 2565แต่ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม”

หลังจากที่มีประเด็น การเตรียมเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นนี้ ทางด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ แถลงข่าวหลังขอความชัดเจนว่า

เรื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะต้องใช้ภาษีมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ เองเคยให้ข้อมูลกับหน่วยงานกำกับดูแลไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาษีดังกล่าวนี้ได้ถูกยกเว้นการจัดเก็บมาหลายปี

อย่างไรก็ตาม ในฐานะตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าหากภาครัฐมีนโยบายจะเก็บภาษีนี้ ก็อยากจะขอให้ภาครัฐพิจารณาว่าทำอย่างไรให้กระทบผู้ลงทุนให้น้อยที่สุดในแบบที่เหมาะสม และไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำเสนอตัวเลขดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว นอกจากนี้ หากกระทรวงการคลังจะนำมาตรการเก็บภาษีดังกล่าวมาใช้ อยากให้มีระยะเวลา เพื่อให้นักลงทุนได้ปรับตัว ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมพร้อมในเรื่องระบบด้วย

ทั้งนี้การเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น และอาจส่งผลต่อปริมาณการซื้อขาย แต่ไม่ได้กังวลเรื่องการที่นักลงทุนจะหันไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ทางด้าน ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ให้ความเห็นว่า ขณะนี้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พิจารณาหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนั้น ประชาชนร้อยละ 85 หรือนักลงทุนรายย่อยจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวอีกว่า สรรพากรศึกษาการเรียกเก็บแบบ Financial Transaction Tax ประกอบด้วย 3 โมเดล คือ 1.การขายหุ้นในตลาด 1 ล้านบาทต่อเดือน 2.การขายหุ้นในตลาด ตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือน 3.การขายหุ้นในตลาดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป โดยในตรากฎหมายเดิมนั้นกำหนดไว้ว่าการขายหุ้นในตลาด 1 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.1 ของมูลค่าขาย แต่ปัจจุบันยังได้รับการยกเว้น

นอกจากนี้ กรมสรรพากรกำลังศึกษาการจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain) ที่ได้รับการยกเว้นด้วย โดยหากจะเรียกเก็บจากส่วนนี้จะต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม แต่สำหรับ Financial Transaction Tax นั้นมีประมวลรัษฎากรกฎหมายภาษีของกรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งการหยิบยกกฎหมายนี้ขึ้นมาถือว่าเป็นไปตามแผนการปฏิรูปภาษี ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศมีการเรียกเก็บทั้ง 2 ส่วน หรือบางประเทศก็เรียกเก็บเพียงอย่างเดียว

ในด้าน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ที่มีนายไพบูลย์ นลินทรางกูร เป็นประธาน ออกมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษี Transaction Tax หากสรรพากรจะจัดเก็บภาษีนี้จริงจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อภาพรวมการพัฒนาภาคตลาดทุนและเศรษฐกิจของไทยมากกว่าจะเกิดผลในทางบวก หรือเรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย

นายไพบูลย์ ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ของไทยยังอยู่ในช่วงระหว่างการพัฒนา ทั้งในเรื่องการสร้างเพิ่มจำนวนฐานผู้ลงทุนซึ่งรัฐบาลเองมีนโยบายต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมภาคกับประชาชนผ่านช่องทางการออมต่างๆ โดยการออมในตลาดหุ้นเป็นช่องทางการออมในระยะยาวที่ดี ขณะที่ปัจจุบันมีประชาชนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นในระบบของไทยรวมประมาณ 2 ล้านบัญชี ถือเป็นสัดส่วนที่ยังต่ำมากเมื่อเปรียบกับจำนวนประชากรของไทยที่มีจำนวนประมาณ 70 ล้านคนจึงจะเป็นประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการออม34

ภาคประชาชนของไทย

อีกทั้งจะเป็นการสร้างอุปสรรคในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ คือ ธุรกิจกลุ่ม New Economy และเทคโนโลยีที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการสนับสนุนให้เข้ามาระดมเงินทุนในการขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งรัฐบาลต้องการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทย และผลักดันให้ไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการระดมทุนในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว และเมียนมา (CLMV) เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มทันที ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วอย่างตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่ไม่มีการเก็บภาษี Transaction Tax จะทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยลดลงเมื่อเปรียบกับตลาดหุ้นสิงคโปร์

ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญต่อตลาดหุ้นไทยอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนต่อมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยที่สูงมากอยู่ที่ประมาณ 40% ของมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อวัน

“หากมีการเก็บ Transaction Tax ในตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าจะมีผลกระทบให้มูลค่าการซื้อขายกลุ่มนักลงทุนต่างชาติลดลงอย่างมากทันที เพราะการซื้อขายมีต้นทุนที่แพงขึ้นมาก

FETCO เองเคยให้เข้าไปชี้แจงให้ข้อมูลกับสรรพากรรวมถึงท่านรัฐมนตรีการคลังแล้วในเรื่องภาษี Transaction Tax มาหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ที่สรรพากรมีแนวคิดปฏิรูปโครงสร้างภาษีใหม่ซึ่งเรายังคงยืนยันจุดยืนเดิมว่าไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เพราะผลลัพธ์ที่จะได้นั้นถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะการเก็บภาษีขายหุ้นจะเป็นอุปสรรคที่เป็นภาระต้นทุนของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ เปรียบกับตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่เขาไม่ได้เก็บภาษีส่วนนี้

ดังนั้นขอเสนอว่าควรเข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนในด้านอื่นๆ มากกว่าเพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทย ยกตัวอย่างตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็กำลังจะตั้งกระดานหุ้นที่ 3 เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนสามารถมาใช้เป็นช่องทางของแหล่งเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจได้ และตอนนี้ยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะทำในเรื่องนี้ เพราะสภาพคล่องในระบบการเงินโลกกำลังเริ่มทยอยลดลงจากการที่เฟดกำลังจะเริ่มลดทำคิวอีด้วยซึ่งมีผลต่อเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว แต่สุดท้ายแล้วสรรพากรจะเก็บ Transaction Tax หรือไม่นั้นขึ้นกับการตัดสินใจของสรรพากร" นายไพบูลย์ กล่าว

5 views

Comments


bottom of page