วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 เม.ย. – 1 พ.ค.) ตลาดหุ้นโลกส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และความคาดหวังเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผลิตยารักษาโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ตลาดฯ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวน จากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุน หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังเป็นไปในเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง โดย Fed พร้อมใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ลดช่วงบวก และปิดลบเล็กน้อย เนื่องจาก นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังประธานาธิบดีทรัมป์ ขู่ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ เพื่อตอบโต้จีน ที่เป็นต้นตอของโรคโควิด-19 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับเพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีมติผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยยกเลิกเพดานการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพิ่มวงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงผ่อนคลายมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ สำหรับตลาดหุ้นจีน ปรับเพิ่มขึ้น หลังธนาคารรายใหญ่ของจีน เปิดเผยกำไรในไตรมาส 1/2020 เพิ่มขึ้น และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์ และผู้ผลิตน้ำมันหลายราย ระบุว่า จะปรับลดการผลิตลง ซึ่งรวมถึง นอร์เวย์ ที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของยุโรปตะวันตก จะปรับลดการผลิตน้ำมันลงในเดือนมิ.ย.-ธ.ค. โดยเป็นการปรับลดการผลิตเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี และจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐฯ ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7 และต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2016
มุมมองในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน และได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังประธานาธิบดีทรัมป์ ขู่ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ เพื่อตอบโต้จีนที่เป็นต้นตอของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจาก ความกังวลผลกระทบของโควิด-19 ต่อการหดตัวของเศรษฐกิจโลก และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2020 ที่มีแนวโน้มหดตัวลง อย่างไรก็ดี ตลาดฯ อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจาก ความคาดหวังที่ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในหลายประเทศ และความคาดหวังในการพัฒนาวัคซีน / ยาต้านโควิด-19 รวมถึงการที่ธนาคารกลางหลักต่างๆ ซึ่งรวมถึง Fed, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ BoJ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง และน่าจะพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากมีความจำเป็น ขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศ ได้ออกมาตรการทางการคลังจำนวนมาก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่มีต่อภาคธุรกิจ ด้านความผันผวนของราคาน้ำมัน น่าจะปรับลดลง หลังกองทุน US Oil Fund ได้เสร็จสิ้นการขายสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบที่จะครบกำหนดในเดือนมิ.ย. ที่ถือครองอยู่ทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนรูปแบบในการลงทุนใหม่ ซึ่งจะมีการกระจายการลงทุนในสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบในสัญญาระยะยาว และหลายช่วงอายุมากขึ้น โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัว จากความคาดหวังว่า ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา หลังการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก และประเทศพันธมิตร นำโดยรัสเซีย (OPEC+) ปริมาณ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน จะเริ่มขึ้นในเดือนพ.ค.นี้ สำหรับตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มผันผวนตามตลาดหุ้นโลก และอาจถูกกดดันจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจาก ในเดือนพ.ค. จะเป็นช่วงที่มีการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของกลุ่มภาคธุรกิจ (Real Sector) ค่อนข้างมาก ขณะที่การประกาศ 6 มาตรการผ่อนปรนกลุ่มแรก โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) น่าจะถูกรับรู้ (Priced-in) ไปในดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว
เหตุการณ์สำคัญ
· ความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ
· การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ยุโรป และไทย
· การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) (7 พ.ค.) คาดว่า BoE มีแนวโน้มคงนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของ BoE น่าจะเป็นไปในเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง และน่าจะพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติม หากจำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19
· การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ (8 พ.ค.)
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ยุโรปและอังกฤษ, ดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Caixin) และยอดนำเข้า-ส่งออกของจีน, อัตราเงินเฟ้อของไทย, ดุลการค้า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน การจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ, การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2020 ของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ยุโรป และไทย, ผลการประชุม BoE, ถ้อยแถลงของสมาชิก Fed และการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์
Commenti