top of page
379208.jpg

แนะ 'ผู้ส่งออก' ปรับตัวทันโลก...รับมือการผลิตการค้าเปลี่ยนแปลง



Interview : คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)


ตัวเลขส่งออกไทยเดือน มี.ค.ยังพอไปได้ แต่เดือน เม.ย.หลังล็อกดาวน์ไทย ล็อกดาวน์ทั่วโลก ยอดส่งออกสะดุด หวังการระบาดโควิด-19 จบภายในเดือน มิ.ย. จะช่วยการส่งออกให้ดีขึ้น แต่ยังไม่ดีเท่าเดิม เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ยังฝังตัวเรื้อรัง ลำบากทั่วโลกทั้งคนขาย-คนซื้อ อีกทั้งวิกฤตครั้งนี้ทำให้การผลิต การค้าขายเปลี่ยนไปจากเดิม ใครปรับตัวไม่ทันมีสิทธิ์ม้วนเสื่อกลับบ้าน


ถึงตอนนี้ พอจะประมาณสถานการณ์การส่งออกของไทยเป็นว่าอย่างไรบ้าง

ยังไม่ถือว่าสดใส คือเรายังตื่นเต้นเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่ายังพอทำตัวลขบวกได้ แม้ว่าเราจะตัดตัวที่เก็งกำไรอย่างทองคำอะไรออกไป ก็ยังบวกอยู่ 1% ได้ ก็ยังพอดูดีพอสมควร ซึ่งใน 19 เดือน รอบนี้ถือว่าสูงสุดเลย


ใช้เป็นการประเมินในอนาคตได้หรือไม่

ไม่ได้แน่นอน เพราะเดือนมีนาคมเอง ยังมีการส่งสินค้า ยังถือว่าพอไปได้ การล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศ ค่อยๆ ทยอยทีละประเทศ แต่เดือนเมษายนค่อนข้างชัดเจนว่ามีการล็อกดาวน์เยอะ ถึงแม้ว่าหลายประเทศต้องการสินค้า เรามีการสั่งสินค้ามา เราก็ไม่สามารถส่งได้เต็มที่ตามที่เราต้องการ นึกภาพไทยเราเอง ของเรากึ่งล็อกดาวน์ ตรงนี้เรายังขนส่งได้ ยังผลิตได้ แต่ติดขัดนิดนึงตรงที่มีด่านต้องตรวจ คือถ้าเป็นประชาชนธรรมดาจะเดินทางข้ามจังหวัดก็ยากอยู่แล้ว เพราะมีการต้องป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ส่วนยานยนต์ที่บรรทุกสินค้า ก็ต้องมีเอกสารค่อนข้างครบ ซึ่งช่วงแรกๆ ของการปฏิบัติอาจจะยุ่งยากนิดนึง พอเราเห็นอย่างนี้ก็ไปนึกภาพที่ต่างประเทศ ก็ไม่ได้ต่างจากเราเท่าไหร่ เพราะเวลาสั่งล็อกดาวน์ขึ้นมา ถ้าประเทศไหนบอกล็อกดาวน์ 100% ตรงนี้จะหนักกว่าเราเยอะ

ส่วนไทยยังมีความชัดเจนว่าผลิตสินค้าได้ โดยเฉพาะสิ่งที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของคน เวลาถูกล็อกอยู่ที่บ้านไปไหนไม่ได้ อาหารก็ยังเพียงพอกับทุกคน ช่วงนี้มีการพูดเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหารเยอะเลย ในหลายๆ ประเทศเขาเริ่มประสบปัญหา ของเราถือว่าโชคดี ข้อแรกเราเป็นผู้ผลิตเอง ที่สำคัญความมั่นคงทางด้านอาหารมี 2 ด้าน นอกจากปริมาณอาหารที่เพียงพอแล้ว ยังมีจุดขายที่ให้คนสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของกำลังซื้อของคนด้วยว่าประชากรส่วนใหญ่ยังสามารถซื้ออาหารได้หรือไม่ ถ้ายังซื้อได้แปลว่ายังมีความมั่นคงทางอาหารอยู่ ถ้าประเทศไหน ถึงจะมีอาหารให้ แต่ซื้อไม่ได้ หาไม่ได้ เข้าไม่ถึง ตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่

เราก็เลยมองว่าถ้าทั้งปีโอกาสที่จะบวกเป็นไปได้หรือไม่ ก็ถือว่าเป็นไปได้ แต่สถานการณ์ต้องจบเร็ว การล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ต้องเกิดผลด้านบวกจริงๆ ว่าล็อกดาวน์แล้วได้ประโยชน์ อย่างไทยล็อกดาวน์นี่ชัดเจน เพราะยอดผู้ติดเชื้อลดลง แม้ว่าบางวันยังมีตัวเลขที่สูงขึ้น แต่อธิบายได้ว่ามาจากไหน ไม่ได้มาจากประเทศเราเอง

ดังนั้น พอเราประเมินทั้งปี เราก็เลยคาดหวังตรงนี้ว่า ถ้าการแพร่กระจายของโควิด-19 ทั่วโลกจบภายในเดือนมิถุนายนนี้ ก็ยังพอที่จะทำการค้ากันได้ แต่แน่นอนว่าคงไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่จะกลับพลิกมาขึ้นเร็วๆ เลย คงไม่ใช่ คงไม่ใช่ขนาดนั้น เพราะช่วงที่ล็อกดาวน์ก็กระทบกับเศรษฐกิจพอสมควร กระทบกับรายได้ของคน ไม่ว่าจะเป็นของผู้ประกอบการหรือจะเป็นผู้ซื้อเอง หลายๆ คนมองว่าตอนนี้อาหารเรายังดีนะ เรายังส่งออกได้ และยังขายดีมากๆ ด้วย แต่เมื่อไปเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมาของทุกปี มันยังแตกต่างอย่างสิ้นเชิงอยู่

ลองนึกภาพง่ายๆ 1-2 ปีที่ผ่านมา เรื่องท่องเที่ยว มีคนเข้ามากว่า 40 ล้านคน ณ วันนี้ไม่เยอะ ร้านอาหารหยุดไปแล้ว 1 เดือน ห้างสรรพสินค้าก็หยุด ดังนั้น กลุ่มอาหารไม่ใช่ว่าจะได้ประโยชน์กันหมด กลุ่มพวกนี้ขายไม่ได้เลย จะมีบางรายที่ปรับตัวได้ก็คือมาทำเดลิเวอรี หรือว่าขายแบบกลับบ้าน แต่ปริมาณมันไม่เท่าเดิมแน่นอน ใครที่ผลิตอาหาร หรือเป็นซัพพลายเชน คือผลิตวัตถุดิบอาหารไปป้อนภัตตาคาร โรงแรม แหล่งท่องเที่ยวอะไรแบบนี้ ตรงนี้แทบจะขายไม่ได้เลย ด้านนี้จะลดไป แต่ก็ไปเพิ่มด้านที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง หรือซื้อได้ ก็คือร้านของชำ ตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต ในส่วนพวกนี้ ฉะนั้นผู้ผลิตอาหารเองมีหลายประเภท กลุ่มที่ผลิตแล้วส่ง อย่างแบบแรกที่ผมบอกอันนั้นไม่ได้เลย เขาก็ต้องปรับตัวเหมือนกันว่าผลิตอาหารต้องเปลี่ยนมาที่คอนซูเมอร์ เปลี่ยนมาที่ผู้บริโภคโดยตรง แน่นอนว่ามันจะแตกต่างเรื่องของขนาด เรื่องของชนิดที่เอามาขาย ตรงนี้เป็นภาพความเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 เดือนนี้ที่เร็วมากๆ และถ้าคนที่ปรับตัวไม่ทัน ถึงจะอยู่ในหมวดอาหารก็ตาม ก็ต้องโดนกระทบเหมือนกัน ทุกอย่างต้องปรับตัวหมดเลยตอนนี้

อย่างผลิตมาแล้ว เจอปัญหาแบบนี้ เสียและต้องทิ้งมีหรือไม่

เรื่องนี้ชัดเจนมาก ไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวด้วย ของเราที่เจอปัญหาหลักๆ คือเจอเรื่องของโลจิสติกส์ด้วย ระหว่างประเทศด้วย ยกตัวอย่าง ผลไม้ออกมาเยอะๆ ทุกประเทศป้องกันตัวเองหมดเลย ใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนกัน และล็อกด่านด้วย ตอนนี้ภาครัฐเอง รวมทั้งเอกชนทำงานกันอย่างหนัก ได้ข่าวดีมาบ้างแล้วว่าเริ่มมีเปิดด่าน โดยเฉพาะที่เราจะสามารถส่งผลไม้สดเราไปที่จีนได้ แต่ก็มีข้อเสียอย่างคือ ผลไม้คัดเกรดเอ ขายได้ดี ราคาดีพรีเมียม แต่ในจังหวะที่ระบายไม่ทัน มันเสียง่าย เสียแล้วคือเสียเลย มันไม่เหมือนว่าเราเอามาแปรรูปแล้วเก็บไว้ โอเคอย่างน้อยเก็บได้ 1-2 ปี อย่างนี้ปัญหาจะเกิดขึ้นจากการเก็บรักษา ปัญหาจะเกิดจากต้นทุนที่เราจะต้องสต็อก แต่มันก็ยังไม่เสียหาย ถึงขนาดว่าขายไม่ได้เลย พวกของสดจะเจอปัญหาใหญ่

ตอนนี้ต่างประเทศก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน มีสินค้าแบบนี้ๆ ที่เป็นผลผลิตออกมาจากส่วน ไร่ หรือจากปศุสัตว์ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถไปถึงจุดขายได้ เรื่องของการขนส่ง เรื่องของโลจิสติกส์อะไรต่างๆ มันติดขัดไปหมด ฉะนั้นถ้าเป็นของสดไม่แปรรูป จะเสียหายแน่นอน อันไหนที่เข้าห้องเย็นได้ มีต้นทุนขึ้นแน่นอน ไม่ถึงกับต้องทิ้ง แต่จะทำกำไรได้หรือไม่ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง คงไม่คิดถึงขั้นนั้น คิดเสียว่าจะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด ตรงนี้เป็นภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

การขาดแคลนอาหารจึงเป็น 2 แง่ 2 มุม ถึงแม้เป็นประเทศที่มีอาหาร ถ้าจังหวะแบบนี้ มีของแต่ขายไม่ได้ ของไปถึงคนที่ต้องการไม่ได้ มันก็เสียหายเหมือนกัน และทั่วโลกเองอาหารสำเร็จรูปรูปแบบของอยู่ในกระป๋องก็เก็บไว้ได้นาน ซื้อไปบางทียังไม่ได้กิน จนถึงหมดวิกฤตยังอยู่เลยก็มี ซึ่งย้อนไปตอนที่เราน้ำท่วม จนกระทั่งหมดอายุไปก็มี ประมาณว่าของสำรองก็คือของสำรอง เราก็กะว่าจะสำรองต่อไปเรื่อยๆ แต่สำหรับไทย ถ้าซื้อแล้วก็เอาไว้ทานเถอะ เพราะยังผลิตได้ เพราะบ้านเรามาตรการกึ่งล็อกดาวน์ การผลิตตั้งแต่เกษตรกรเพาะปลูก ก็ชัดเจนว่าเขายังปลูกได้อยู่ เขายังเลี้ยงสัตว์ได้อยู่ ช่วงแรกๆ ตรงนี้ยังไม่ชัดเจนก็มีผลเหมือนกัน เกษตรกรก็รีบตัดของพวกที่ต้องแปรรูปส่งไปโรงงาน กลายเป็นว่าได้ของที่ยังไม่สุก ก็จะเสียหายเหมือนกัน แต่ตอนนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรเป็นอะไร ทุกคนเจอสถานการณ์นี้ครั้งแรกในชีวิตเหมือนกัน เพราะการระบาดใหญ่มันย้อนไปเกือบ 100 ปี ดังนั้น คนที่มาดูแลตรงนี้อยู่ก็อายุยังไม่ถึง 100 ปีทั้งนั้น ก็เลยนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มันชัดเจนแล้ว เรื่องการระบาดของโรค มันเกิดระหว่างคนต่อคนโดยเฉพาะคนที่ไม่ป้องกัน ไม่ใส่หน้ากากเวลาพูดคุย และที่ติดมากๆ คือการตะโกนเยอะๆ แต่ว่าในการขนส่งนั้น โอกาสติดเชื้อจะน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย เราก็ต้องตรวจคนขับรถให้ดีเท่านั้น เพราะในสินค้าไม่มีการติดเชื้อแน่นอน เรื่องของอาหารเอง เราก็เผยแพร่เรื่องนี้ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนเอง หรือว่าภาครัฐ ตอนนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ก็ออกคลิปวิดีโอแล้วว่าความปลอดภัยในอาหาร 100% อยู่แล้ว อย่างเราก็จะอธิบายเพิ่มว่า สิ่งที่คุณต้องกังวลหรือระวังก็เพียงแค่ว่าไปซื้อของที่ไหนก็ตามเวลาไปหยิบจับสินค้า เวลากลับมาบ้านก็ทำความสะอาดหน่อย เพราะเชื้อโรคมันไม่ได้อยู่ด้านใน แต่อยู่ด้านนอก สมมุติมีคนติดเชื้อแล้วไปสัมผัส ตรงนี้อาจจะมีอันตราย ดังนั้น การทำความสะอาดเสร็จก็ถือว่าปลอดภัย อาหารส่วนใหญ่จะผ่านความร้อน และไวรัสจะกลัวความร้อน อาหารทุกประเภทที่เราห่วงมากที่สุดคือแบคทีเรียที่มันตายยากกว่าไวรัสมากๆ เลย เพราะฉะนั้น เราสามารถฆ่าได้ถึงแบคทีเรีย ดังนั้น ไวรัสไม่เหลือ ความปลอดภัยด้านนี้ จึงมั่นใจได้


ทาง สรท.ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านใดบ้าง

ก็มีการเรียนนำเสนอตลอด และได้การตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะในประเทศหรือระหว่างประเทศ ในช่วงแรกในประเทศอาจจะมีติดขัดกันบ้าง เพราะแต่ละด่านอาจจะเข้าใจไม่ตรงกันเรื่องการขนสินค้า แต่ตอนนี้เคลียร์หมดแล้ว เพราะมีคำสั่งล่าสุดออกมาแล้ว ถ้าเป็นสินค้าให้ผ่านได้ เพียงแต่ว่าล็อกเรื่องคนที่จะเดินทางข้ามไปข้ามมาเท่านั้นเอง

ส่วนต่างประเทศที่เราเรียนนำเสนอไป และทางราชการก็เดินหน้าเต็มที่โดยเฉพาะเรื่องที่แก้ปัญหาเหตุการณ์เฉพาะหน้าตอนนี้เกี่ยวกับผลไม้ที่ออกมาแล้วสามารถส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่งไปยังประเทศจีนได้ ที่ติดขัดอยู่หรือติดอยู่ก็มีการไปเจรจา และเริ่มได้ข่าวดีมาล่าสุดนี้ คือเขายังต้องการอยู่ เพียงแต่ติดขัดเรื่องข้ามด่านไม่ได้

บรรดาผู้ผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ขณะนี้มีหรือไม่ที่ขาดแคลนวัตถุดิบ ต้องหยุด ต้องปิดโรงงานไป

ไม่มี ตอนนี้ยังสามารถผลิตได้ เพียงแต่จะมีปัญหาสำหรับผู้ผลิตกลุ่มหนึ่ง ถ้าเขาผลิตส่งสายการบินล้วนๆ เลย ตรงนี้กระทบหนักเลย เป็นทั่วโลก ดังนั้นอาหารที่ผลิตเสิร์ฟบนเครื่องบินก็กระทบเป็นกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับงานจัดเลี้ยง อยู่ในภัตตาคารใหญ่ ร้านอาหารใหญ่ๆ ต่างๆ เหล่านี้ถูกกระทบด้วยเช่นกัน และเหล่านี้ก็จะเดลิเวอรีไม่ได้อีก เพราะตัวสินค้าไม่เหมาะกับการส่งไปที่ประชาชนทั่วไป ดังนั้น ถ้าเขามีไลน์ผลิตที่เป็นแบบนี้ก็จะเหนื่อย แต่ถ้าเขาผลิตสองอย่างคู่กันไป อีกด้านหนึ่งเป็นสินค้าที่ให้ผู้บริโภคทั่วไปซื้อตามซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย อันนี้เขายังจะมีทางออกอยู่

ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินไหม

เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไรก็ตามที่ผลิตออกมาแล้วยังหยุดชะงัก ยังขายไม่ได้อยู่ ตรงนี้เงินก็ยังจมอยู่ในของ เมื่อจะผลิตใหม่ เงินก็หมุนไม่ทัน ล่าสุดก็มีข่าวดีจากแบงก์ชาติว่า ถ้าเป็นลูกค้าเก่าธนาคารก็อาจจะได้ส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นธนาคารของรัฐจะมีการเพิ่มวงเงินให้ 20% เพื่อหมุนเวียน ก็ยังพอหายใจได้ แต่สำหรับคนที่ไม่มีตรงนี้ยังเหนื่อย เพราะการไปขอเงินกู้ใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงจะมี บสย.ค้ำหรือมีอะไร เพราะดอกเบี้ยตอนนี้ยังสูงมากๆ คือดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายจากการกู้ เพราะธนาคารเอง เขาก็ไม่มั่นใจว่าให้กู้ไปแล้วหนี้จะสูญหรือเปล่า

ดังนั้น ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลจะต้องมาช่วยก็คือส่วนนี้ จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการกู้ไหว จากดอกเบี้ยที่ไม่สูงจนเกินไป และแบงก์เองก็กล้าที่จะปล่อย ดังนั้นจึงต้องมีตัวช่วยจากรัฐบาลด้วย

สหรัฐอเมริกาเริ่มตัดจีเอสพีไทยในวันที่ 25 เมษายน ตรงนี้จะกระทบมากน้อยแค่ไหน

รอบนี้ถ้าเทียบกับรอบที่ผ่านมา ถือว่าเบากว่าเยอะ เพราะที่จะตัดเขาตัดไปเยอะแล้ว รอบนี้ถ้าเป็นสินค้าเกี่ยวกับด้านอาหารก็จะเป็นเครื่องดื่มบางชนิด แต่ที่ถูกตัดจีเอสพีก็ไปอยู่ในอุตสาหกรรมอื่น ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นแก้ว กระจก ถ้าเป็นสินค้าช่วงนี้เขาไม่ค่อยเน้นการนำเข้าอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่สินค้ากลุ่มจำเป็น ผลกระทบก็ยังไม่เกิดทันที แต่ว่าหลังจากนี้ไป อาจจะต้องมีการปรับตัว หรือแข่งกันยากนิดนึง แต่ก็ยังคาดหวังว่าภาพของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศอื่นๆ จะมองเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร เรื่องบายเออร์ เรื่องการปกป้องทางการค้าอะไรเกี่ยวกับด้านนี้ คงต้องมีการลดราวาศอกกันลง เพื่อให้ประชาชนของทุกประเทศยังมีอาหารเพียงพอรับประทาน

16 views

Comments


bottom of page