top of page
312345.jpg

SME D Bank อาสาพาธุรกิจฝ่าวิกฤต...เผยยอดใช้สิทธิ์พักชำระหนี้ไม่มาก


Interview : คุณนารถนารี รัฐปัตย์

กรรมการผู้จัดการ

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank


SME D Bank พร้อมช่วยผู้ประกอบการให้ผ่านวิกฤตโควิดให้ได้ภายใน 2 ปี ทั้งเติมเงินสินเชื่อใหม่ Soft Loan, Extra Cash ฯลฯ ทั้งปรับโครงสร้างหนี้เก่า ชำระคืนเงินต้นน้อยลง ขยายเวลาสัญญาสินเชื่อออกไป รวมถึงให้คำปรึกษาด้านการผลิต สต็อกสินค้า การตลาด-ช่องทางการขายแบบออนไลน์ บนแพลตฟอร์มชื่อดัง และบนเพจฝากร้านของ SME D Bank พร้อมแจงยอดผู้ใช้สิทธิ์พักชำระหนี้เดือน พ.ค. มีแค่ 20% รอลุ้นยอดผู้ใช้สิทธิ์พักชำระหนี้เดือน มิ.ย.อีกครั้ง หวังสถานการณ์เริ่มดีขึ้น


คุณนารถนารีทำงานแทบไม่มีวันหยุดเลย


อันนี้อาจจะรู้จากข่าววงใน ใช่ ทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ด้วยติดต่อกันมาพักนึงแล้ว

สิ่งที่ทั้ง SME D Bank คุณนารถนารี และพนักงานร่วมกันทุ่มเทคือในเรื่องซอฟต์โลนสำหรับผู้ประกอบการ


มีหลายเรื่องที่เราต้องทำพร้อมกัน ในแง่ของธนาคารสิ่งที่เราทำขณะนี้รวมถึงผู้ประกอบการทุกท่านก็ควรทำในเรื่องเดียวกัน บางท่านอาจจะทำแค่บางเรื่อง บางด้านอาจจะยังไม่ทำ ต้องบอกว่าสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันขณะนี้คือ ทุกๆท่านในแง่ผู้ประกอบการต้องทำมาค้าขายไปด้วยใช่ไหม ก็ต้องพยายามหาทางค้าขายให้ได้ ใครขายออฟไลน์ก็พยายามมาขายออนไลน์อีกด้านนึง ขณะเดียวกันช่วงก่อนโควิดเราก็มุ่งไปทางค้าขาย ด้านการตลาด แต่มาเจอโควิดอย่างน้อยถ้าขายได้น้อยลงก็ต้องวางแผนให้ใช้จ่ายน้อยลง

อย่างแรกที่ผู้ประกอบการเข้ามาพูดคุยกับธนาคารเราคือ ค่าใช้จ่ายที่ยังเกิดขึ้นอยู่ แต่เงินเข้าจากการค้าขายน้อยลง จึงต้องการเงินไปใช้จ่ายหมุนเวียน สิ่งที่ธนาคารรัฐหรือ SME D Bank ให้ไปคือให้เงินช่วยเหลือเพื่อประคับประคองในช่วงที่ยอดขายท่านยังไม่กลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ อันนี้เป็นงานหนักที่พวกเราทำกันอยู่ โดยสินเชื่อที่ให้มีทั้งซอฟต์โลนและตัวอื่น ในหลายแบงก์รัฐถ้าท่านจำแนกให้ดีจะพบว่าภาครัฐมีการให้สินเชื่อในช่วงนี้แต่ละกลุ่มแตกต่างกัน บางแห่งจะเน้นไปที่สินเชื่อบุคคล อย่าง SME D Bank จะเน้นไปที่สินเชื่อผู้ประกอบการ เรามีโปรดักต์หลายๆ ตัวควบคู่กันไป ไม่ใช่แค่ซอฟต์โลน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ลูกค้าว่าอยากจะใช้สินเชื่อระยะสั้นหรือระยะยาว อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ที่เหมาะกับเขา

ที่เป็นประเด็นและพูดถึงกันมากคือซอฟต์โลนของแบงก์ชาติ


ที่ทุกคนได้ยินกันมากคือซอฟต์โลนแบงก์ชาติ เพราะแบงก์ชาติอยากให้ทุกท่านที่เป็นลูกหนี้ทุกสถาบันการเงินมีสิทธิ์ได้ใช้ แน่นอนอันนี้ไม่ต้องคิดเยอะ ถามว่าท่านมีสิทธิ์ไหม มีสิทธิ์แน่นอนถ้าท่านยังมีหนี้ปกติอยู่ ณ 31 ธันวาคม 62 ท่านมีเงินต้นอยู่สถาบันไหน ท่านขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มได้อีก 20% ของเงินที่ค้างอยู่ อันนี้ท่านเข้าไปติดต่อพูดคุยได้เลย เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ธนาคารทำอยู่ เพราะลูกค้าของธนาคารมีวงเงินสินเชื่อรวมอยู่ประมาณ 95,000 ล้าน คูณอีก 20% ก็ประมาณเกือบ 20,000 ล้าน ที่มีสิทธิ์จะมาขอสินเชื่อตัวนี้ได้ ก็มีบางส่วนมาขอ

ส่วนที่ 2 ถ้าไม่ใช้ ซอฟต์โลน เพราะน้อยไป ไม่พอ เพราะให้แค่ 20% ของเงินต้นที่ค้างอยู่ เช่น ถ้าท่านค้างอยู่ 1 ล้านจะขอกู้เพิ่มได้แค่ 200,000 บาทมันไม่พอ ต้องใช้มากกว่านั้น ซึ่งธนาคารทุกแห่งก็มีวงเงินของตัวเองในโปรดักต์โปรแกรมอื่นๆ ที่เหมาะกับลูกค้า ยกตัวอย่าง SME D Bank เรามีค่างวด Extra Cash ตัวนึงที่รัฐบาลสนับสนุน อยากจะบอกเพิ่มเติมสำหรับ 5 กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รถยนต์ โลจิสติกส์ ของขวัญ ของที่ระลึก รัฐบาลให้การสนับสนุนด้วย สำหรับกลุ่มนิติบุคคลกู้ได้ถึง 3 ล้านบาท ในแง่การให้เงินเพิ่มเติมเข้าไปในระบบ


สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลที่สุดในขณะนี้คืออะไร


1. ห่วงเรื่องขายของ 2. ห่วงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเงิน กลัวมีรายได้ไม่พอจ่าย 3. เรื่องหนี้เก่า ก็ต้องมาทำคู่กันกับตอนขอเงินกู้ก้อนใหม่ไปว่ายอดขายเรายังไม่กลับเข้าที่ หนี้เก่าอาจต้องชำระได้น้อยลงด้วย เพราะฉะนั้นต้องคุยเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการจ่ายหนี้ใหม่ว่าจากเดิมเราเคยจ่ายอยู่ 5 ปี เราขอขยายเป็น 7 ปีจะได้ไหม อันนี้ตอบเร็วๆว่าถ้ามาคุยกับ SME D Bank คำตอบคือได้ เพราะทุกคนได้รับผลกระทบ ทราบว่าปี 2563-2564 เป็นปีที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ 2 ปี เพราะฉะนั้นสัญญากู้เราก็จะผ่อนปรนยืดไปให้อีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า

ผลของการยืดเวลาสัญญากู้อย่างแรกที่เห็นชัดเจนคือ งวดผ่อนน้อยลงเพราะเวลามันยาวขึ้น และถ้าระยะผ่อนชำระยาวขึ้นตามธรรมชาติแล้วคิดว่ายังไม่เพียงพอ ก็ต้องไปเจรจาบอกว่า 2 ปีแรกขอน้อยๆ ก่อนพอปีที่ 3 ค่อยขยับขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพของเรา ระหว่างทางบางท่านมาใช้ ซอฟต์โลนมาใช้วงเงินอื่นๆ ก็มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นด้วย ก็ต้องปรับการชำระคืนธนาคารให้เหมาะสม

มีคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง

สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องทำอย่างแรกคือต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองว่าเรายังขายของเก่าไปได้ไหม หรือจะลดสต็อกเราอย่างไร เราเคยขายออฟไลน์ ก็ควรเพิ่มการขยายออนไลน์ ต้องดูว่ามีกี่ช่องทางที่จะทำได้ ถัดมาเรื่องที่สองคือเรื่องการหาเงินเข้ามาประคับประคองกิจการ ช่วงนี้มีที่ไหนบ้างที่สนับสนุนและเหมาะกับสภาพของเราว่าอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นภาระตัวเองจนเกินไป เรื่องที่สามคือการเรื่องเงินไปจ่ายคืนธนาคารจะจ่ายคืนแบบไหน 2-3 เรื่องนี้เวลาไปคุยกับธนาคารต้องคุยควบคู่กันไป

ทีนี้ 3 เรื่องนี้ที่ลูกค้าสนใจกับธนาคาร SME D Bank เราเป็นธนาคารรัฐและเป็น Development Bank ในเรื่องแรกที่พูดถึงการค้าขาย อันนี้เรามีบริการที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ถ้าจะขายออนไลน์แต่ไม่เคยขาย จะทำอย่างไร หรือการเขียนแผนธุรกิจต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องมีมุมมองอย่างไร เรามีหลักสูตรออนไลน์ เรียนฟรี 20 หลักสูตร ให้ท่านไปศึกษาดูว่าจะเขียนแผนธุรกิจแบบไหน ค้าขายออนไลน์แบบไหนถึงจะดี หรือขายออนไลน์อยู่แล้วจะยังมีช่องทางที่จะไปได้อีกไหม การขายออนไลน์มีกี่ช่องทาง ขายในเฟซบุ๊กซึ่งหลายท่านก็ทำแบบนั้น ทำเพจตัวเอง เพจไหนที่ขายดี อย่างที่เราคุ้นหูกัน เช่น Lazada, Shoppee, JD.com ถ้าจะไปขึ้นแพลตฟอร์มพวกนี้จะต้องทำอย่างไร

ธนาคารก็ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มเหล่านี้ในการอบรม ทำให้ท่านทราบว่าการขึ้นแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องมีข้อกำหนดเบื้องต้นอย่างไรบ้าง งานถ่ายภาพทำอย่างไร หลังบ้านเวลามีคนเข้ามาติดต่อต้องทำอย่างไรให้ลูกค้าติดใจเรา ให้ขายดีขึ้น อันนี้เรามีการอบรมเป็นระยะๆ นอกจากนี้ SME D Bank ฝากร้านได้ฟรี SME D Bank ทำเพจของเราขึ้นมาอันนึง ท่านเข้ามาอัปฝากร้านใน SME D Bank ได้ ตอนนี้มีคนอยู่กลุ่มนี้หลายพันคนแล้วก็ทำมาค้าขึ้นดีขึ้น

ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเดิมหรืออยากเปลี่ยนธุรกิจใหม่ มาที่ SME D Bank ได้ พร้อมให้คำปรึกษาช่วยเหลือ

ใช่ และก็มีหลายหน่วยงานมากที่พร้อมช่วยเหลือ อยากให้ผู้ประกอบการอย่าเพิ่งท้อแท้ อินเทอร์เน็ตยังเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมาก ท่านขยันเข้าไปอ่านดู อย่าง SME D Bank ทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกแบบ สมาคมผู้ส่งออก สปา โรงแรม หลังจากที่เราได้พูดคุยเกี่ยวกับผู้ประกอบการเหล่านั้นบางทีเราแมทชิ่งให้นะ อย่างบางคนเป็นผู้ผลิตเขามีสต็อกเหลือก็มานั่งคุยกัน บางทีเป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศ ซึ่งเราเพิ่งได้คุยกับ SKCBC เขาทำแพลตฟอร์มการค้าขายกับต่างประเทศ เขามีความสนใจในบางสินค้าของไทย ธนาคารก็ช่วยแมทชิ่งให้ สำหรับผู้ประกอบการบางกลุ่มที่มีของค้างสต็อกเราก็ไปนำเสนอให้กับแพลตฟอร์มของต่างประเทศด้วย อยากให้กำลังใจและอย่าหยุดนิ่ง ให้เข้าไปธนาคารจะได้ข้อมูลจากท่านเอาไปช่วยขยายต่อได้

การพิจารณาสินเชื่อของ SME D Bank ยากง่ายแค่ไหน

เรามีมาตรฐานเหมือนกันกับธนาคารรัฐ ในช่วงโควิดวิธีการคืออยากให้ท่านเตรียมข้อมูลไว้ว่าเป็นช่วงประคับประคองเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เราไม่ได้มองว่าท่านขายได้น้อยลงแล้ว อนาคตไม่มีแล้ว จะเอาเงินไปใช้อะไร แต่วันนี้เราคิดแบบนี้ว่า ท่านมีภาระอะไรที่ต้องใช้ มีลูกน้องเท่าไหร่ ค่าเช่าเท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในช่วงนี้ ขายได้แต่น้อยลงแต่ยังต้องใช้วัตถุดิบเท่าไหร่ เอาค่าใช้จ่ายพวกนี้มาคุยกันธนาคารช่วยคิดให้เพื่อประคับประคองเดินไปด้วยกันก่อนในช่วง 1-2 ปีนี้ ก็เตรียมเอกสารนี้มานั่งคุยกัน

สถานการณ์แบบนี้เป็นห่วงเรื่อง NPL ไหม เพราะเรื่องการพักชำระหนี้ช่วยเหลือผู้ประกอบการยังมีอยู่ถึงเดือนกันยายน

ใช่ กันยายน-ตุลาคม เราต้องประเมินเดือนต่อเดือน เช่น เดือนแรกที่เริ่มต้น พ.ร.ก.เรื่องเลื่อนการชำระหนี้ ยังมีลูกค้าจ่ายเข้ามาตามปกติ 90% พอเดือนพฤษภาคมเราเข้ามานั่งดูอีกเช่นกัน จริงๆลูกค้าที่ได้รับสิทธิ์การเลื่อนสมมุติ 100% ขยับมาใช้สิทธิ์มากขึ้นเป็น 20% แสดงว่าแนวโน้มจะมากขึ้น ก็ให้เจ้าหน้าที่ธนาคารไปนั่งพูดคุยกับผู้ประกอบการรายที่พักชำระหนี้เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าทำไมถึงหยุดพักชำระหนี้ ส่วนใหญ่ถ้าใครยังมีกำลังอยู่และยังมองว่าธุรกิจยังไปได้เขาก็ยังชำระหนี้เข้ามาถึงแม้ว่าได้รับสิทธิ์พักชำระหนี้ จะเห็นว่าในเดือนพฤษภาคมยังมีคนชำระถึง 80% ก็ต้องดูว่าในเดือนมิถุนายนจะลดลงไหมกับการจ่ายกลับเข้ามาตรงนี้ เราจะเห็นภาพชัดว่าผู้ประกอบการมีความกังวลกับเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างไร

อีกเรื่องที่รัฐบาลจะออกมาพูดคือเงินอัดฉีด 400,000 ล้านที่กำลังดูกันอยู่ ถ้าตรงนี้ออกมาในเวลาที่สอดรับกัน ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกับผู้จับจ่ายใช้สอยมีกลับคืนเข้ามา สถานการณ์ก็อาจจะไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนคิดไว้

ตอนนี้ SME D Bank พร้อมช่วยเหลือ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวที่ไปพร้อมกับแพ็กเกจรัฐบาล ซึ่งบอกว่าเงื่อนไขดีด้วย

Extra Cash ไม่ต้องมีหลักประกันเลย ถ้าเป็นนิติบุคคลก็ 3% 2 ปีแรก ดอกเบี้ยค่อนข้างถูก ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่ถ้าสังเกตแพ็กเกจต่างๆ ข้อกำหนดแบงก์ชาติที่ออกมา เช่น ซอฟต์โลนของแบงก์ชาติต้องเป็นหนี้ก่อน 31 ธันวาคม 62 ถ้าเป็นมาตรการถัดมาก็จะบอกว่ายังเป็นหนี้ปกติในเดือนมีนาคม จะเห็นว่าเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นความช่วยเหลือของภาครัฐที่ออกมายังเน้นในเรื่องวินัยทางการเงินของผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นท่านที่คิดว่าจะสะดุด ท่านต้องอย่าห่างเหินจากสถาบันการเงินที่ท่านเป็นลูกค้าอยู่ ถ้าสะดุดให้เข้าไปคุยและปรับโครงสร้างการจ่ายเงิน เวลาปรับไปแล้วท่านจะจ่าย 10,000 บาทเท่าเดิมไม่ได้ ท่านก็จ่าย 5,000 บาท ซึ่งเครดิตท่านยังถือว่ายังเป็นปกติ เวลามีโปรเจกต์อะไรมาท่านจะไม่ตกขบวน ต้องรักษาเครดิตตรงนี้ของตัวเองไว้

22 views
bottom of page