แจง..กรณีญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำที่เคยปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากเหตุโรงงานปรมาณูระเบิดที่ฟุกุชิมะเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต้องเฝ้าระวัง แต่ไม่ถึงขั้นตื่นตระหนกว่าจะทำให้เป็นพิษต่อสัตว์น้ำในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งการปล่อยน้ำที่เคยปนเปื้อนจะทยอยปล่อยเป็นเวลา 30-40 ปี ไม่ได้ปล่อยทีเดียวทั้งหมด หากน้ำปนเปื้อนเป็นพิษต่อระบบนิเวศจะสามารถตรวจสอบได้ทันท่วงที ส่วนในด้านการส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นอาจถูกกระทบแค่ช่วงสั้นๆ ในระยะแรก เพราะประเทศนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอย่าง ฮ่องกง เกาหลีใต้ ตั้งท่าว่าจะมีมาตรการตรวจสอบที่เข้มข้นกว่าเดิม ในขณะที่จีนมีท่าทีแข็งกร้าวกว่า ถึงขั้นประณามและบอกให้ญี่ปุ่นรับมือกับผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลให้ดี สำหรับประเทศไทยเองต้องระวังทั้ง 2 เด้ง เด้งแรกคือในฐานะผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเข้ามาสำหรับบริโภคในประเทศ และเด้งที่ 2 คือในฐานะนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกไปทั่วโลก แต่เชื่อว่าด้วยมาตรฐานการตรวจสอบของญี่ปุ่นที่เข้มข้น รวมถึงมาตรฐาน-คุณภาพการแปรรูปอาหารสัตว์น้ำของไทย จะไม่ทำให้มีปัญหาทั้งแง่การบริโภคในไทยและการแปรรูปเพื่อส่งออก
Interview : คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
กรณีที่ญี่ปุ่นประกาศจะปล่อยน้ำที่เคยปนเปื้อนกัมมันตรังสี 1.33 ล้านตัน ลงมหาสมุทรแปซิฟิกในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ตรงนี้จะส่งผลกระทบกับเราอย่างไรบ้าง
ผลกระทบต้องเกิดแน่ เพียงแต่ว่าจะมากหรือน้อย เพราะเรื่องของความเชื่อมั่น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากงานวิจัยต่างๆ เขาก็จะมีบอกว่ามันอาจจะมีผลเสีย แต่บริษัทที่เขาเตรียมจะปล่อยน้ำที่เคยปนเปื้อนก็บอกว่าเขาเตรียมพร้อมแล้วว่ามันจะไม่มีอะไรหลงเหลือในนั้น ซึ่งเขาก็มีการบำบัดหลายขั้นตอน และเขาค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่กระทบกับสัตว์น้ำในทะเลด้วย ซึ่งตอนนี้ข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเขาบอกว่า ตัวน้ำที่เคยปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่จะถูกปล่อยถือว่าเป็นน้ำที่ผ่านระบบบำบัด ตัวย่อก็คือ ALPS เป็นระบบสูบและระบบกรองน้ำที่มีการใช้ชุดปฏิกิริยาเคมีเพื่อกำจัดสารกัมมันตรังสีทั้ง 62 ชนิดออกจากน้ำที่ปนเปื้อน
แต่ว่าครั้งนี้ก็จะมีตัวหนึ่งที่เป็นคือ Tritium ที่แยกออกจากน้ำได้ค่อนข้างยาก เพราะมีองค์ประกอบเคมีคล้ายๆ กับไฮโดรเจน ที่แยกออกจากน้ำได้ยากและถือเป็นอันตรายต่อมนุษย์เหมือนกัน เพียงแต่ว่าการที่น้ำเสียที่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์ซ้ำไปซ้ำมา มีการตรวจสอบด้วยการเก็บตัวอย่างหลายครั้ง ตรงนี้เป็นบริษัทที่เขามีการเปลี่ยนบ่อย เขาก็ยืนยันแบบนี้ว่ามีการเก็บตัวอย่างทดสอบซ้ำหลายครั้ง ทดสอบความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีต่างๆ ว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เรียกว่าไม่ใช่ศูนย์ซะทีเดียว
อันนี้ก็เหมือนกับสารตกค้างต่างๆ ที่เวลาในโลกนี้เขาเปรียบว่าไม่มีอะไรบริสุทธิ์ 100% มันจะต้องมีบอกว่าค่าของสารตกค้างที่มากที่สุดที่ยอมรับได้ และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์นั้นมันมีค่าอยู่ที่เท่าไหร่ อย่างบริษัทเขาก็ยืนยันว่ามันต่ำกว่าค่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก่อนที่จะปล่อยลงสู่ทะเล และการปล่อยเขาก็บอกว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ จะปล่อยหมด เขาต้องใช้เวลา 30-40 ปี เป็นการทยอยปล่อย ฉะนั้นในช่วงแรกๆ ที่จะปล่อยคงจะมีการจับตาดูมากพอสมควร เพราะญี่ปุ่นเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่เขาก็ส่งออกพวกสัตว์น้ำ
ทั้งนี้ ตลาดของญี่ปุ่นที่เขาส่งออกสัตว์น้ำก็จะมีจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ซึ่งแต่ละประเทศเขาก็เริ่มมีมาตรการ อย่างฮ่องกงเขาบอกว่าถ้ามีการปล่อยน้ำที่เคยปนเปื้อนจริงๆ เขาก็มีแผนที่จะควบคุมการนำเข้าอาหารทะเลจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนเกาหลีใต้บอกว่า เขาเตรียมพร้อมเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจอาหารที่มาจากญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้เขาแบนการนำเข้าอาหารที่มาจากพื้นที่ของฟุกุชิมะมาตั้งแต่ปี 2013 แล้ว เนื่องจากเกาหลีใต้ก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่กังวลเหมือนกันในเรื่องสารปนเปื้อน
จริงๆ การกังวลแบบนั้นเองทำให้เกาหลีใต้มีปัญหาเรื่องราคาเรื่องของอาหารทะเลนำเข้าที่กระทบกับเกาหลีใต้พอสมควร ราคาพุ่งขึ้นมาในเดือนมิถุนายนถึง 27% ในสินค้าโภคภัณฑ์ของเกาหลีใต้ ก็แปลว่าอาจจะมาจากสาเหตุนี้ด้วยเรื่องหนึ่ง และอีกเรื่องหนึ่งอาจจะมาจากเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ และผลผลิตที่ลดลงด้วย ซึ่งหลายๆ เรื่องมาประกอบกันเลยทำให้ราคาอาหารทะเลแพงขึ้น
ส่วนจีนก็จะดุเดือดนิดนึง ตำหนิอย่างรุนแรงเลย บอกญี่ปุ่นให้เตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ด้วย ก็ค่อนข้างเข้ม
สำหรับไทย ถือว่าเราห่างค่อนข้างมาก ผลกระทบอันนี้อาจจะเกิดขึ้นน้อยมากๆ แต่อะไรก็ตามที่มันมีความเสี่ยงก็มีหน้าที่วางใจไม่ได้ ซึ่งเราเองก็มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ก็คือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จะกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีของไทย เขาก็บอกมาชัดเจน ระหว่างติดตามตรวจวัดกัมมันตรังสีสภาพแวดล้อมทางทะเลร่วมกับเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการยืนยันว่าระบบนิเวศทางทะเลและอาหารทะเลของไทยปราศจากการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี และโดยเฉพาะจากการดำเนินงานของญี่ปุ่นครั้งนี้ด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราได้เตรียมการไว้ คือไม่ได้นิ่งนอนใจ
เอาเข้าจริง ไทยเองพอมีความมั่นใจพอควร ซึ่งถ้าจำได้เมื่อ 12 ปีก่อนที่มีความกังวลจากเหตุโรงไฟฟ้าปรมาณูระเบิด เราเป็นประเทศแรกๆ เลยที่อนุญาตให้นำเข้าอาหารทะเลจากพื้นที่ของฟุกุชิมะ แต่ก็มีการสุ่มตัวอย่าง เราก็มีการนำเข้าอาหารทะเลจากฟูกุชิมะและบริโภคมา 12 ปีแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ต้องเฝ้าระวังเข้มขึ้น
เรื่องความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร มีการปกป้องดูแลอย่างไร
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ก่อนหน้าที่บอกว่าผู้นำเข้าและส่งออกถือเป็นด่านหน้าในการดูแล แน่นอนว่าเวลาที่เราจะส่งสินค้าไปประเทศไหนจะมีการตรวจซ้ำอยู่แล้ว ส่วนการนำเข้า ปกติเรานำเข้ามาด้วยเหตุผล 2 ประการคือนำเข้ามาเพื่อแปรรูปและส่งออกกลับไปใหม่ ซึ่งการส่งออกกลับไปใหม่ ก็มีที่กลับไปที่ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ญี่ปุ่นเป็นตลาดอันดับต้นๆ ของไทยเลยที่เราส่งออกสินค้าพวกสินค้าประมง ถ้าเป็นพวกอาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ญี่ปุ่นก็เป็นอันดับสองของการส่งออกประเทศไทย โดยที่เรามีประเทศอื่นๆ ที่เป็นรายการ 1-5 อยู่ในนี้ด้วย คือเรามีหน้าที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับประเทศเหล่านี้ เพราะไม่ใช่แค่ด่านหน้าในการนำเข้า แต่ยังรวมถึงกระบวนการผลิต ซึ่งปกติเรามีมาตรฐานต่างๆ ควบคุมอยู่แล้ว และก่อนที่จะส่งออกไป ต้องมีการตรวจสอบซ้ำ แล้วก็มีใบรับรองต่างๆ ที่จะเป็นตัวช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ไม่ว่าจะเป็นในประเทศเองหรือส่งออก
ตอนนี้เรามั่นใจได้สักกี่เปอร์เซ็นต์
ยังตอบว่ามั่นใจได้เต็มที่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่อยู่ดีๆ แล้วเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อน แต่เป็นเรื่องที่ทั้งโลกรู้ด้วยกัน รู้พร้อมๆ กัน เชื่อว่าช่วงแรกๆ อาจจะส่งผลกระทบในเรื่องตัวเลขนำเข้า ส่งออกที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น แต่ผ่านไประยะหนึ่งจะดีขึ้น คือมันต้องสร้างความมั่นใจก่อน
สถานการณ์การค้าอาหารทะเลของไทยในขณะนี้เป็นอย่างไร
แบ่งเป็นสองส่วน ถ้าเป็นสินค้าประมงก็หมายความว่ายังไม่ได้มีการแปรรูปในลักษณะที่เอามาใส่กระป๋อง ก็จะส่งออกปีหนึ่ง 57,000 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนที่เป็นบรรจุกระป๋องและแปรรูปจะอยู่ปีละ 133,000 ล้านบาท การส่งออกอาหารแปรรูปอย่างไรก็มีมูลค่าสูงกว่า เพราะไทยเราเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปอาหารทะเล ทั้งๆ ที่จริงแล้วน่านน้ำเราแทบจะมีสัดส่วนน้อยมากในการใช้วัตถุดิบในพื้นที่เราเอง แต่เรานำเข้ามาเพื่อแปรรูปอีกที
กรณีรัสเซีย ยูเครนที่จะไม่ส่งออกอาหารสัตว์จากยูเครน จะกระทบต่อต้นทุนอาหารของเราอย่างที่เคยเจอ
รอบนี้อาจจะกระทบไม่แรงและเร็วเท่ากับรอบแรก เพราะแต่ละประเทศก็เริ่มมีการเตรียมพร้อมรับมือก่อนหน้านี้อยู่พอสมควร และมีการกระจายการนำเข้าไปประเทศอื่นๆ บ้าง อย่างที่เราทราบกันว่ารัสเซีย ยูเครน เป็นแหล่งผลิตธัญพืชที่สำคัญ ข้าวสาลีมีสัดส่วนถึง 30% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วนถึง 20% ของโลก แต่ในช่วงสงครามนั้นธัญพืชที่ออกมาจากทางนั้นไม่ได้เกือบปี ก็ทำให้เกิดการกระจายตัวไปยังกลุ่มประเทศส่งออกอื่นๆ ด้วยที่เขาอาจจะเพิ่มการส่งออก เช่นสัดส่วนเดิม 5-7% ก็อาจขยับขึ้นมา 10% ก็มีเรื่องของการทดแทนบ้าง แต่แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องของผลกระทบ เพราะเป็นแหล่งสำคัญ และมีสัดส่วนค่อนข้างสูงของโลก ก็จะเป็นอีกหนึ่งจังหวะที่จะมีผลกับเรื่องต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาใช้กับการผลิตอาหาร
Kommentare