top of page
358556.jpg

ผลการประชุม FOMC ล่าสุดจะดันยีลด์ระยะยาวขึ้นและหนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง


ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด มองผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดครั้งนี้ สนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งสหรัฐในไตรมาสที่สี่


โดย ดร.จิติพล มองว่าผลของการประชุม FOMC ส่วนใหญ่เป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้เกือบทั้งหมด ตั้งแต่การ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% ไปจนถึงการกลับมามีมุมมองเชิงบวกกับเศรษฐกิจสหรัฐในระยะสั้นมากขึ้น ด้วยการปรับลดคาดการณ์การหดตัวของเศรษฐกิจลงเหลือเพียง -3.7% (จากเดิมหดตัว -6.5%) ในปีนี้ และการว่างงานลดลงมาที่ระดับ 7.6% (จากเดิมหดตัว 9.3%) มีเพียงเงินเฟ้อ (PCE Inflation) ที่เฟดมองว่าจะเพิ่มขึ้นไปที่ 1.2% ในปี 2020 จากคาดการณ์เดิมที่ 0.8%

และในครั้งนี้เฟดปรับเกณฑ์ในการขึ้นดอกเบี้ยไปเป็น “จนกว่าตลาดแรงงานขยายตัวถึงระดับที่เฟดประเมินว่าเป็นการจ้างงานสูงสุด และอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นถึง 2.0% โดยเคลื่อนไหวอยู่เหนือระดับ 2.0% ในบางช่วง” ถือว่าเป็นการปรับมาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยหรือ Flexible Average Inflation Targeting (FIAT) อย่างเป็นทางการ

มุมมองเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินดังกล่าว ส่งผลต่อมุมมอง กับตัวแปรและสินทรัพย์ทางการเงินบางส่วน เพราะเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้อยู่แล้วจึงมีการปรับคาดการณ์เพียงเล็กน้อย

  • ดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ – มองว่าการใช้เป้าหมาย FIAT จะทำให้การ “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบายเกิดขึ้นได้ยากมากในช่วง 5ปีข้างหน้า เพราะเฟดจะเหลือเพียงการกลับสู่สมดุล (Normalization) เป็นเหตุผลในการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต และในอดีตเฟดใช้เวลากว่า 7ปี (ธ.ค.2008 - ธ.ค.2015) ถึงจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยได้ด้วยเหตุผลนี้ จึงคงคาดการณ์บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 2ปีที่ระดับ 0.15% และปรับลดคาดการณ์บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ลงเหลือ 0.75% สำหรับปลายปี 2020

  • เงินดอลลาร์ – มองว่านโยบายการเงินไม่มีผลกับเงินดอลลาร์เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ และในอนาคตเชื่อว่าดัชนีดอลลาร์จะถูกขับเคลื่อนจากทิศทางนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายและมุมมองการเปิดรับความเสี่ยงของนักลงทุนในตลาดมากกว่า ซึ่งทั้งสองเรื่องจะมีความชัดเจนจริงหลังจากทราบผลการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐแล้ว จึงคงมุมมองกรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ที่ระดับ 90-95จุดในไตรมาสที่สี่ แต่ในระยะยาว การปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแต่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จะกดดันให้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าได้อีกราว 7-15% ในปี 2021

  • สินค้าโภคภัณฑ์ – มองว่า บอนด์ยีลด์ที่ต่ำยาวนานเป็นประเด็นหนุนราคาทองคำให้ซื้อขายในระดับ 1700-2100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ จุดที่ต้องระวังไม่ใช่นโยบายการเงิน แต่เป็นการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จเร็ว อาจส่งผลให้ตลาดกลับไปเปิดรับความเสี่ยงซึ่งเป็นลบต่อทิศทางราคาทองคำ คงมุมมองราคาทองคำสิ้นปี 2020 ที่ 1850 ดอลลาร์ต่อออนซ์

  • ดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 – ประเมินว่า การใช้ FIAT คือการปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นบวกการลงทุนกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) ขณะเดียวกันทิศทางนโยบายการเงินที่นิ่ง ก็จะช่วยลดความไม่แน่นอนของตลาดและทำให้นักลงทุนกล้าซื้อขายในระดับราคาที่สูงอยู่ได้ จึงปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 ปลายปี 2020 ขึ้นมาที่ 3456 จุด

โดยสรุป ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส จาก SCBS มองผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดครั้งนี้ “เป็นบวกมากกว่าลบ” สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนไทย

แม้ว่าประเด็นดังกล่าวจะทำให้ดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่า (เงินบาทแข็ง) ในระยะยาว แต่จะเร่งให้นักธุรกิจทั่วโลกเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินท้องถิ่นของประเทศคู่ค้าจริงในการทำธุรกรรมมากขึ้น ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากดอลลาร์ลงได้อย่างมาก ในขณะเดียวกันเมื่อความเสี่ยงการแข็งค่าของดอลลาร์และความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐในอนาคตหมดไป การฟื้นตัวของตลาดการเงินและเศรษฐกิจใน Emerging Markets ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้เร็ว ทำให้การลงทุนกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) และกลุ่มมูลค่า (Value) ฟื้นตัวขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจโลกในปี 2021 การประชุม FOMC ครั้งถัดไปวันที่ 6 พฤศจิกายน 2020

 

เขียนโดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS CIO)

15 views

Comments


bottom of page