top of page
312345.jpg

โควิด-19 ทำโครงการล่าช้า...คาดปิดแคมป์กทม.-ปริมณฑล ความเสียหายตกเดือนละหมื่นล้านบาท


Interview : คุณลิซ่า งามตระกูลพานิช

นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์


แจง...มูลค่าธุรกิจก่อสร้างแต่ละปีสูงถึง 8% ของ GDP คิดเป็นเม็ดเงินปีละหลายแสนล้านบาท ถ้าสั่งปิดแคมป์ให้หยุดทำงานในกทม.-ปริมณฑล ความเสียหายจะตกเดือนละหมื่นล้านบาท ยังดีที่ภาครัฐไหวตัวทันหลังออกคำสั่งผิดพลาด ทำให้งานก่อสร้างหลายโครงการกลับมาเดินหน้าได้ต่อ แต่ปัญหายังคาราคาซังโดยเฉพาะมาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนงานก่อสร้างต่างด้าวนอกระบบประกันสังคมที่ยังถูกปิดแคมป์ รวมถึงผู้ประกอบการที่ทำสัญญาโครงการกับภาครัฐ และถูกกระทบจากโควิด-19 ทำให้โครงการล่าช้า แต่ยังไม่สามารถขยายระยะเวลาสัญญากับภาครัฐเพราะติดขัดข้อกฎหมาย ซึ่งอาจต้องเสียค่าปรับกันหลายโครงการ


ผลกระทบจากมาตรการที่ออกมาสั่งปิดแคมป์คนงานกระทบธุรกิจก่อสร้างมากไหม

ถ้าคิดเป็นมูลค่าก็เยอะ เพราะมูลค่าก่อสร้างปีนึง 8% ของ GDP หลายแสนล้าน เป็นมูลค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ถ้าคิดเฉพาะกทม.และในเขตปริมณฑลถ้าปิดเป็นเดือนมูลค่าความเสียหายน่าจะถึง 10,000 ล้าน


ตอนนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร

ตอนหลังนี้ทาง ศบค.มีการอนุมัติผ่อนผันให้มีการก่อสร้างได้ในบางประเภท ข้อห้ามจริงๆ จะอยู่ที่โครงการขนาดใหญ่หรือในสาธารณะ ส่วนงานขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางวิศวกรรมหรืองานโครงสร้างใต้ดินสามารถทำได้เลย ทางคนงานและผู้รับเหมาเรายังต้องทำ Bubble and Seal อย่างเคร่งครัด ออกจากไซต์งานก็กลับแคมป์ และจากแคมป์ก็มาไซต์เลยโดยไม่แวะที่ไหน และไม่อนุญาตให้คนงานออกไปข้างนอก และมีมาตรการกับผู้ประกอบการว่าแรงงานทั้งหลายให้มีของใช้ส่วนตัว รักษาระยะห่าง ต้องปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างใส่หน้ากาก ใช้แอลกอฮอล์ การเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ มีการแบ่งเวลากันชัดเจน พวกนี้เป็นมาตรการที่เราขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่กลับมาทำงานได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางไซต์บางแคมป์ที่คนงานมีการฉีดวัคซีนแล้ว อันนี้อนุญาตให้กลับมาทำงานได้แล้วตามที่ทาง ศบค.ผ่อนผัน โดยที่ ศบค.มอบอำนาจให้กับสำนักงานโยธากรุงเทพมหานครเป็นผู้อนุมัติ เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการท่านไหนก็ตามต้องการกลับมาทำงานก่อสร้าง โดยโครงการอยู่ในข่ายที่ได้รับการผ่อนผันก็ทำเรื่องไปที่สำนักงานโยธาฯเลยว่าโครงการเขาเป็นโครงการอะไร จำเป็นต้องดำเนินการอย่างไร และมาตรการการรักษาความปลอดภัยด้านโควิดมีอะไรบ้าง ให้ยื่นไปที่สำงานโยธากรุงเทพมหานคร ทางกทม.จะอนุมัติให้แต่ละโครงการไป อันนี้เป็นโครงการที่อยู่ในข่ายที่กทม.ประกาศให้หยุดงาน ส่วนโครงการที่กทม.ไม่ประกาศ อย่างโครงการเล็ก โครงการบ้านพักที่อยู่อาศัย ที่ไม่ใช่โครงการจัดสรรบ้านเดี่ยวหรืองานตกแต่งที่ใช้คนน้อย งานจัดสวน พวกนี้ดำเนินการได้เลยเพราะไม่ได้อยู่ในข่ายต้องห้าม คืออันนี้เป็นประกาศออกมาแล้ว


คิดว่าการที่แก้ปัญหาด้วยการปิดแคมป์ เกาถูกที่คันไหม

คิดว่าตอนที่มีคำสั่งนี้อาจจะยังไม่มีความเข้าใจกันหลายประเด็น ในภาพรวมที่ผ่านมาดูเหมือนว่าตัวเลขของคลัสเตอร์ก่อสร้างมันสูง แต่เหตุที่ดูสูงเพราะปกติเขาอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนก็มีโอกาสที่จะติดหลายคน ถ้าเทียบสัดส่วนตัวเลขที่รายงานแต่ละวันเป็นคลัสเตอร์ก่อสร้างอยู่แค่ 1 ใน 4 เท่านั้นเอง คำถามคือ อีก 3 ใน 4 เป็นการติดเชื้อกระจายตัวตามที่ต่างๆ แต่ก็เข้าใจว่าภาครัฐ สังคม ประชาชน ก็วิตกกังวลอยู่แล้ว คิดว่าคำสั่งปิดตอนนั้นคงเกิดขึ้นจากความจำเป็นและความไม่เข้าใจ ทางสมาคมได้ปรึกษากับรัฐบาลตั้งแต่วันที่เกิดเรื่อง วันที่ประกาศ ก็ได้มีการคุยกันเพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดและทำงานกันตลอด ซึ่งเวลานี้ก็ได้รับการผ่อนผันมากขึ้น


การผ่อนผันสามารถแก้ปัญหาได้ทันไหม สามารถชดเชยโครงสร้างต่างๆ ที่หยุดไปแล้ว 3-5 วันได้ไหม เช่นวิศวกรท่านนึงออกมาพูดว่าพระราม 4 อาจจะจมไปเลยเพราะโครงสร้างที่ดูดดินออกไปแล้วไม่มีคนทำต่อ

แก้ได้ ดิฉันก็นั่งดูโครงสร้างที่พระราม 4 ทุกอย่างเรียบร้อยดี หลังจากมีการพูดคุยก็กลับไปดำเนินการแล้ว งานที่มีความสำคัญต้องรีบดำเนินการ


ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ที่กลับบ้านตอนนั้น ตามกลับมาได้ไหม

บางส่วนที่กลับไปก็มี ก็ตามกลับมา แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในแคมป์ กทม. เราก็พยายามประชาสัมพันธ์ไปว่าแรงงานที่กลับไปแล้วขอให้อยู่กับที่ ไม่เคลื่อนย้าย ให้ดูแลตัวเอง มี อสม. ผู้ใหญ่บ้าน ต้องช่วยดูแล อย่างที่ดิฉันเห็นบางจังหวัดมีการรับผู้ป่วยกลับบ้านซึ่งเป็นโครงการที่น่าชื่นชม คือ คนงานที่กลับบ้านไปอยู่ตามภูมิลำเนาก็จะได้รับการช่วยเหลือดูแลถ้าเขาติดโควิด คือแต่ออกไปไม่เยอะ


สำหรับโครงการหรือแคมป์ที่ไม่ได้รับการผ่อนผัน การให้เขาหยุด 1 เดือน คิดว่านานไปไหม

ตอนที่คุยกันทางกระทรวงแรงงาน กทม. จะประเมินทุก 15 วัน คือหลังจากประกาศ 15 วัน จะประเมินว่าสามารถกลับมาทำงานได้ไหมโดยเฉพาะแรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ถ้านานถึง 30 วันจริงๆ ก็เสียหายเยอะ


ที่รัฐบาลบอกว่าจะช่วยจ่ายค่าแรงคนงานให้ครึ่งนึง แล้วนายจ้างจ่ายครึ่งนึง ดูแล้วไหวไหม

ที่รัฐจะช่วย 50% ก็ถือว่าช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีกลุ่มแรงงานอีก 3 ประเภทที่รอความช่วยเหลืออยู่ ซึ่งมีการหารือกับกระทรวงแรงงานเป็นระยะ คือกลุ่มแรงงานที่ยังไม่ได้เข้าประกันสังคม กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน และกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายใน 2 กลุ่มแรกมีการหารือกับกระทรวงแรงงานแล้ว เบื้องต้นขอผ่อนปรนหรือลดค่าปรับซึ่งกระทรวงแรงงานจะออกแนวทางคิดว่าน่าจะรับทราบได้ในไม่กี่วันนี้ ส่วนแรงงานผิดกฎหมายเป็นเรื่อง sensitive ซึ่งต้องมีการหารือกับความมั่นคงด้วยว่าแรงงานที่ผิดกฎหมายจะดำเนินการอย่างไร

ส่วนวัคซีนทางกระทรวงแรงงานได้ช่วยหาวัคซีนมาให้ คาดว่าจะเริ่มต้นฉีดได้ในบางแคมป์ที่แรงงานยังไม่ได้ฉีด


ตอนนี้มีการตรวจไหมว่ามีแรงงานป่วยเป็นโควิด-19 มากแค่ไหน

ไม่มี เพราะเป็นเรื่องของสาธารณสุข


การฉีดวัคซีนขณะนี้มีการฉีดไปแล้วเท่าไหร่ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด

เยอะ คือหลายบริษัทที่มีกำลังเขาซื้อวัคซีนของซิโนฟาร์ม ตัวเลขอาจจะถึง 30% ที่ได้รับการฉีดแล้ว


แรงงานต่างด้าวมีปัญหามาก ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดเลยใช่ไหม

ใช่ แรงงานที่มีปัญหาคือแรงงานต่างด้าว แต่บางบริษัทก็ยอมลงทุนจองซิโนฟาร์มให้แรงงานต่างด้าวได้ฉีด


ถ้ายังไม่มีการผ่อนปรน หรือมีแล้ว คิดว่าจะมีโครงการที่ส่งมอบงานไม่ทันไหมหลังต้องปิดแคมป์หรือคนงานกลับบ้านแล้วไม่กลับมา

มี อันนี้เป็นประเด็นที่เราต้องหารือกับภาครัฐต่อไป รอบแรกเป็นเรื่องการเยียวยาการขอผ่อนผันให้สร้างได้ ทีนี้ต่อไปเป็นการหารือกับภาครัฐเรื่องแนวทาง เรื่องสัญญา อย่างการขยายอายุสัญญา การลดต้นทุนของผู้ประกอบการ พวกนี้ต้องหารือต่อ เพราะการขยายอายุสัญญากับภาครัฐที่ผ่านมาขยายยากมาก ติดข้อกฎหมายหลายข้อ ส่วนภาคเอกชนกับภาคเอกชนสัญญางานพวกอสังหาฯ ผู้ประกอบการก็มีปัญหากับเจ้าของโครงการเหมือนกัน แต่เจ้าของโครงการส่วนใหญ่เข้าใจและก็น่ารัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือต่อ


ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการปิดแคมป์ โควิด-19 กระทบต่ออุตสาหกรรมธุรกิจก่อสร้างมากไหมในร่วม 20 เดือนมานี้

20 เดือนมานี้อุตสาหกรรมก่อสร้างยังเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่ยังทำได้ เราไม่มีการ Work from Home ยังทำงานปกติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระลอกแรกของโควิดมันมีแรงงานต่างด้าวบางส่วนที่มีความตื่นตระหนกได้กลับบ้านไป ส่วนอันนี้ก็ไม่ได้กลับมา 20% ของแรงงานก่อสร้างของปีที่แล้ว เราพบว่าปัญหาการส่งของล่าช้าจากต่างประเทศ การออกไปตรวจรับงานไม่ได้ การล็อกดาวน์ การเคอร์ฟิว พวกนี้ทำให้การก่อสร้างช้า ซึ่งอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ทำเรื่องขอขยายอายุสัญญากับภาครัฐซึ่งไม่ได้เป็นรูปตัวเงินที่เราขอเยียวยา ขอแค่ขยายอายุสัญญาเท่านั้น ปรากฏว่าตั้งแต่โควิดรอบที่แล้วถึงตอนนี้การขยายอายุสัญญายังไม่สำเร็จเพราะติดเรื่อง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างกับข้อกฎหมายบางอย่าง พอมาถึงรอบนี้ซึ่งเป็นระลอก 3 เป็นครั้งแรกที่อุตสาหกรรมก่อสร้างถูกสั่งปิดจากที่แรงงานติดโควิด ผลกระทบก็เป็นอย่างที่ท่านเห็น ส่วนความเสียหายหลักๆ ที่เกิดขึ้นจากปีที่แล้วที่เราต้องการการได้รับการเยียวยาคือการขยายอายุสัญญากับภาครัฐ

15 views
bottom of page