อย่าลืม! นับจาก 1 กรกฎาคม 2563 ซื้อขายหุ้นเคลียร์เงินตัดบัญชีผ่านแบงก์ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม หรือ Bank Fee เอง โบรกเกอร์ไม่ขอแบกต้นทุนส่วนนี้แล้ว
การประชุม สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ครั้งล่าสุดประจำเดือนมิถุนายน 2563 สรุปอย่างเป็นทางการ กำหนดให้บริษัทสมาชิกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตัดชำระราคาบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบัญชีธนาคาร หรือ ATS ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากธนาคารและบริษัทผู้ดำเนินการตามที่เกิดขึ้นจริง เท่ากับ 14 บาทต่อครั้ง โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ จะเป็นผู้ที่ออกค่าธรรมเนียมให้ อย่างไรก็ตาม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่บริษัทโบรกเกอร์ เพราะต้องแบกรับปัญหาการแข่งธุรกิจสูงขึ้น จึงได้มีมติให้นักลงทุนจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวเอง ตั้งแต่ตั้งแต่รายการซื้อขายของวันที่ 1 เมษายน 2563 แต่เนื่องจากมีกรณีโควิด จึงได้เลื่อนให้มีผลตั้งแต่รายการซื้อขายวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 มีรายละเอียดดังนี้
1. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากลูกค้าประเภทบัญชีเงินสด (Cash Account / Cash Collateral) ซึ่งเป็นการชำระราคาผ่านระบบ ATS โดยอ้างอิงตามวิธีการชำระเงินของลูกค้า ณ วันที่มีรายการซื้อขาย (Trade Date) รวมทั้งกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระเงินของรายการซื้อขายในวันนั้นๆ ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่ ATS บริษัทยังคงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมธนาคารจากลูกค้า
2. ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากธนาคารและบริษัทผู้ดำเนินการ จำนวน 14บาทต่อครั้ง (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ปัจจุบันในการซื้อขายหุ้นนั้น ผู้ลงทุนจะถูกการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ดังนี้คือ
1. ค่านายหน้า (Brokerage Fee) ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์เรียกเก็บ ตามอัตราที่กำหนดและตกลงกัน
2. ค่าธรรมเนียมตลาด (Trading Fee) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกเก็บอัตรา 0.005%
3. ค่าธรรมเนียมชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ฯ (Clearing Fee) ที่สำนักหักบัญชีเรียกเก็บ อัตรา 0.001%
4. ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล (Regulatory Fee) ที่สำนักงาน ก.ล.ต.เรียกเก็บ ที่อัตรา 0.001%
5. ค่าธรรมเนียมธนาคาร ATS (Bank Fee) ที่ธนาคารเรียกเก็บ อัตรา 14 บาท
ทั้งนี้นักลงทุนมองว่า ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บถือเป็นค่าบริการที่ต้องจ่าย แต่ในส่วนของสำนักงานก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ควรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์จากนักลงทุนอีก เนื่องจากมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว
Commentaires