แรงกดดันระยะสั้นยังมีเยอะมาก !
ชัดเจนว่าในระยะสั้นๆ ทิศทางของตลาดหุ้นโลกจะยังคงถูกกดดันจากการทำสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวได้ผลักดันให้ราคาน้ำมันทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะสั้น แม้ว่าล่าสุด นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ จะออกมาระบุในการประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เมืองมาร์ราเกชของโมร็อกโกว่า วิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นยังคงมีความเปราะบางมาก สะท้อนออกมาจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและยูโรโซน โดยระบุว่า การเติบโตทั่วโลกโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำและไม่สม่ำเสมอ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยที่ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ล่าสุดของ IMF ระบุว่า IMF ยังคงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่ระดับ 3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ปรับลดการคาดการณ์ปี 2567 ลงจากเดิม 3.0% เหลือ 2.9% ซึ่งการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของ IMF ในครั้งนี้บ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (ซอฟต์แลนดิ้ง) ขณะที่ IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นอีก 0.3% เป็น 2.1% ในปี 2566 และเพิ่มขึ้น 0.55% เป็น 1.5% ในปีหน้า โดยอ้างถึงการลงทุนทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนเกิดโควิด-19
อย่างไรก็ดีในทางตรงกันข้าม IMF กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน โดยคาดว่า GDP ของจีนจะขยายตัว 5.0% ในปี 2566 และ 4.2% ในปี 2567 ซึ่งปรับลดจากตัวเลขคาดการณ์เดิมลง 0.2% และ 0.3% ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของประเทศและอุปสงค์จากภายนอกที่อ่อนแอ ทั้งนี้ IMF ประเมินว่าการที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวซบเซาประกอบกับวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้น จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชียซึ่งก่อนหน้านี้เคยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ค้าขายกับจีนอย่างใกล้ชิดจะได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ หลังจากที่เศรษฐกิจจีนที่กลับมาคึกคักหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์สมัยโควิดนั้นเสียแรงผลักดันเร็วกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐก็ไม่ได้ช่วยเอเชียได้มากนัก เพราะสหรัฐโฟกัสกับภาคบริการมากกว่า นอกจากนี้ การที่สภาวะทางการเงินในหลายประเทศทั่วโลกเข้มงวดขึ้นอาจทำให้เงินทุนไหลออกจากเอเชีย และทำให้ค่าเงินในเอเชียอ่อนค่าลงด้วย
นอกจากนี้ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนลงเหลือ 0.7% ในปี 2566 และ 1.2% ในปี 2567 ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.ค.ที่ 0.9% และ 1.5% ตามลำดับด้วย
ทั้งนี้ความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจีนและเอเชียในปัจจุบัน บวกกับความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานในสหรัฐและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นเอเชียได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการไหลออกของกระแสเงินทุนในเดือน ก.ย. 66 บวกกับความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานในสหรัฐและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลจากรอยเตอร์ ระบุว่าตลาดหุ้นไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เผยให้เห็นว่า ชาวต่างชาติแห่เทขายหุ้นในเอเชียรวมเป็นเงินสุทธิ 1.126 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งนับเป็นการไหลออกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 65 แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เฟดก็ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในสิ้นปี โดยระบุว่านโยบายการเงินมีแนวโน้มจะเข้มงวดยิ่งขึ้นตลอดปี 2567 เพื่อรับมือกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ โดยที่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามได้ประสบกับการไหลออกของเงินทุนสุทธิ 1,690, 628, 465, 263 และ 165 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ขณะที่ในส่วนของแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคถ้า SET จะกลับมาสร้าง Momentum ของการปรับตัวขึ้นในระยะสั้นอีกครั้งได้ SET จะต้องกลับมายืนเหนือ 1,520 จุดให้ได้อีกครั้งก่อน
ยังคงต้องรอปัจจัยหนุนจากนโยบายเศรษฐกิจจีน ! ในระยะต่อไปนักลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียคงต้องติดตามความคืบหน้าในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของจีนอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ล่าสุดธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน ที่ระดับ 2.50% และในขณะเดียวกันได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจำนวน 2.89 แสนล้านหยวน (3.96 หมื่นล้านดอลลาร์) ผ่านทางโครงการ MLF เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนเงินมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 63 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและสนับสนุนการขายตราสารหนี้ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาด
สำนักวิจัยของยูบีเอสคาดว่าการเติบโตของการบริโภคของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% หรือ 6% ในช่วงสิ้นปี 2567 โดยระบุว่า ยอดค้าปลีกจะไม่มีทางกลับไปแตะ 9% ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตท่ามกลางการคุมเข้มด้านกฎระเบียบของรัฐบาลจีน และความมั่งคั่งของครัวเรือนส่วนใหญ่อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ลดลงอันเนื่องมาจากปัญหาหนี้ในประเทศ ขณะที่ในด้านของภาคธุรกิจจีน ล่าสุดผลสำรวจรายเดือนของสำนักข่าวรอยเตอร์บ่งชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวเนื่องถึงปี 2568 โดยเกือบ 2 ใน 3 ของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการในจีนต้องการย้ายการผลิตบางส่วนไปที่อื่นเพื่อแสวงหายอดขายในตลาดอื่นๆ โดยแบบสำรวจดังกล่าวซึ่งสำรวจบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่ 502 แห่งบ่งชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่น 52% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวจนถึงปี 2568 ขณะที่ 17% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวน้อยลงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2567 และมีเพียง 5% เท่านั้นที่คาดว่าจะเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวขึ้นภายในสิ้นปีนี้ หรือภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 แม้ว่าจะเริ่มมีข้อมูลที่บ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากหนี้สินของโครงการโครงสร้างพื้นฐานและมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงนั้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยกิจกรรมโรงงานของจีนในเดือน ก.ย. 66 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะที่ยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค. 66
นอกจากนี้เซ็นทรัล ฮุ่ยจิน อินเวสต์เมนต์ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจีน ได้เพิ่มการถือครองหุ้นในธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุด 4 แห่งของจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ Bank Of China, Agricultural Bank of China, ICBC และ China Construction Bank แห่งละ 0.01% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558 พร้อมระบุว่าจะเดินหน้าเพิ่มการถือหุ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่นในตลาดหลักทรัพย์จีน ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยยังคงต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของเงินในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทต่อไป
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,520 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TradingView
Kommentare