เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยหลุดกรอบ 1,500 จุดอีกครั้ง
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางแรงกดดันจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีรายงานสะท้อนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในหลายๆ ประเทศแถบเอเชีย นอกเหนือจากจีน นอกจากนี้
เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากแรงขายตามปัจจัยทางเทคนิค (หลังอ่อนค่าทะลุ 31.50) ความกังวลต่อสัญญาณชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งสวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนในระหว่างสัปดาห์จากมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากบันทึกการประชุมเฟด ในวันศุกร์ (21 ก.พ.) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 8 เดือนครึ่งที่ 31.69 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดปลายสัปดาหที่ 31.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 ก.พ.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.40-32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย ตัวเลขการส่งออก และรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนม.ค. 63 รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. 63 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE price indices เดือนม.ค. 63 ข้อมูลจีดีพี ไตรมาส 4/62 (ครั้งที่ 2) และดัชนีราคาบ้านเดือนธ.ค. 62
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
ดัชนีตลาดหุ้นไทยหลุดแนว 1,5000 จุด โดยดัชนี SET ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.04% มาปิดที่ระดับ 1,495.09 จุด หลังร่วงแตะ 1,476.89 จุด ซึ่งต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,424.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.06% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.08% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 298.49 จุด
ตลาดหุ้นไทยร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย หลังสศช. ปรับลดตัวเลขประมาณการจีดีพีไทยปี 2563 ลงมาที่ 1.5-2.5% นอกจากนี้ ตลาดยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น และอาจต้องใช้เวลาในการควบคุมสถานการณ์ ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,480 และ 1,470 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,500 และ 1,510 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ของไทย ผลประกอบการไตรมาส 4/62 ของบจ.ไทย และสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 (ครั้งที่ 2) ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนม.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนม.ค.ของญี่ปุ่น
Comentários