top of page
379208.jpg

แนะจัดพอร์ตใหม่ปี 63...ถือหุ้น 20% รับผันผวน



Interview: คุณธนากร มนูญผล

ผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ธนบดีธนกิจ

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย


ปีหน้าหวังตลาดหุ้นโลกช่วยฉุดหุ้นไทย แม้ปัจจัยภายในประเทศจะกดดัน ขณะเดียวกัน LTF ที่หายไปทำหุ้นไทยขาดกำลังซื้อ-ผิดหวัง SSF แนะนักลงทุนกระจายความเสี่ยงลงทุนทองคำ/กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/ปันผลสูง ส่วนหุ้นให้ถือแค่ 20% ของพอร์ต เหตุจะเจอความผันผวนทั้งปี


ช่วงส่งท้ายปีนี้น่าซื้อ LTF หรือไม่ เพราะเป็นปีสุดท้ายแล้ว


วัตถุประสงค์ LTF เพื่อการออมระยะยาว 7 ปีขึ้นไป ตรงนี้ก็น่าสนใจอยู่ คือว่าตลาดหุ้นไทยเริ่มกลายเป็นปรับตัวลงมากเกินไป ดังนั้นการซื้อ LTF ในระดับนี้เป็นระดับที่เราได้เปรียบ อย่างปลายปีที่แล้ว หุ้นตก 4% เลยทีเดียว แล้วโดยสถิติ ลงทุนมายาวๆ ครบ 10 ปีส่วนใหญ่ก็มีกำไรทั้งนั้น ดังนั้นในปัจจุบันยังน่าสนใจลงทุน LTF ได้อยู่


คุณธนากรมองว่า ราคาหุ้นมันต่ำเกินไป ไม่ควรจะแย่แบบนี้ใช่ไหม


ใช่...ถ้ามองจะแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องพื้นฐานโดยรวมเศรษฐกิจไทย ต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่ไม่ค่อยดีของไทย กำไรบริษัทจดทะเบียนก็ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ดังนั้น ส่วนหนึ่งที่ราคาลงมามันจึงสะท้อนถึงกำไรที่ลดลงมาแล้ว ที่สำคัญคือข่าวจากเมืองนอกที่เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ๆ เช่น เรื่องของทรัมป์ เรื่องของเฟด มันไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายของเราเท่าไหร่

ผมมองว่าตลาดไทยโดนลงโทษมาเยอะเกินไป แล้วแฟกเตอร์ใหญ่อย่างกลุ่มน้ำมัน เราเริ่มมีมุมมองบวกจากนี้ไปถึงปีหน้าด้วยซ้ำ แล้วจะเป็นอีกเซ็กเตอร์หนึ่งที่กลับมาในสิ้นปีนี้

จริงๆ แล้วตลอดปีโดยรวมเราทำได้ดี แม้ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนตกลงมาเรื่อยๆ แต่ว่าระหว่างทางมีการกระตุ้นจากภาครัฐออกมา ออกมาตรการต่างๆ ซึ่งมันสามารถสร้างกระแสได้เป็นระยะๆ นอกจากนี้ ทิศทางการลดดอกเบี้ยของทั้งต่างประเทศและในไทย ส่งเสริมสภาพคล่องให้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศใหญ่และเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดโลก จริงๆปีนี้เป็นปีที่เขาฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากที่สุด ทั้งๆ ที่บอกจะเลิก QE ซึ่งก็คือการปั๊มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทีนี้เขาบอกว่าเขาจะไม่มี QE แล้ว เขาจะลดงบดุลของทางการ แต่ปรากฏว่าช่วงครึ่งปีหลัง กลับมีสถานการณ์สภาพคล่องขาดตลาดขึ้นมา ทำให้เฟดอีดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบประมาณกว่าจนถึงสิ้นปีนี้ง 3 แสนล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เยอะที่สุดในรอบหลายปีเลยทีเดียว ทำให้มองว่าตลาดหุ้นโลกยังมีสภาพคล่องเข้ามาพยุงอยู่ ขณะที่ดอกเบี้ยก็ยังเป็นขาลง


ส่วนเงินเฟ้อที่ทั้งทางเมืองไทยและฝั่งสหรัฐอเมริกาที่กังวลกันก็ยังไม่ขึ้น ซึ่งเป็นอะไรที่ทำให้เรามองว่ายังไงเงินเฟ้อก็ยังเป็นขาลง เงินเข้าใส่สู่ระบบมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจยังเป็นกลางๆไม่ค่อยดีเท่าไหร่


ส่วนใหญ่สถานการณ์แบบนี้ตลาดหุ้นน่าจะยังคงคึกคักอยู่ บวกกับว่าถูกปรับตัวลดลงมาด้วย เพราะปีนี้กลุ่มน้ำมันของทั้งโลกและไทย โดนเทขายลงมาค่อนข้างเยอะ จะเห็นว่าต้นปีราคาน้ำมันขึ้นไปถึง 65 เหรียญต่อบาร์เรล ตอนนี้มาตกลงมาเหลือ 50 เหรียญต่อบาร์เรล


ทั้งนี้ในส่วนน้ำมันมีตัวเลขตัวหนึ่งน่าสนใจมาก เชื่อหรือไม่ว่าตอนนี้ขนาดของบริษัทแอปเปิ้ลของสหรัฐอเมริกา ใหญ่กว่าเซ็กเตอร์น้ำมันทั้งเซ็กเตอร์ในตลาด S&P มันสะท้อนได้อย่างหนึ่งว่าบริษัทในกลุ่มน้ำมันถูกปรับตัวลดลงมา เทขายลงมาค่อนข้างเยอะกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น ในขณะที่ราคาน้ำมันเริ่มยืนได้แถวๆระดับ 50 ปลายๆ 60 เหรียญต่อบาร์เรล

ปัจจัยเหล่านี้น่าจะทำให้ตลาดหุ้นโลกเริ่มปรับขึ้น แล้วถ้าตลาดต่างประเทศเริ่มขึ้น ตลาดที่เมืองไทยก็น่าจะเริ่มขึ้นได้ด้วย


มองว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี รวมถึงต้นปีหน้า ภาพรวมน่าจะดีขึ้น


ใช่


ตลาดหุ้นไทยจะแปลกแยกไปจากตลาดอื่นๆ หรือไม่ มันจะตรงข้ามกับตลาดอื่นหรือไม่ เขาขึ้นกันแต่เราลง


จริงๆปีนี้เราค่อนข้างจะแปลกแยก ระหว่างทางตลอดปีนี้ ส่วนตัวผมมองว่าไทยมีปัจจัยส่วนตัวเยอะ เช่นเงินเฟ้อไม่ขึ้น เงินบาทปรับแข็งค่ามาก ทำให้กลุ่มส่งออกซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นเศรษฐกิจสำคัญของเมืองไทย ก็โดนเข้าไปเยอะมากเหมือนกัน ทำให้กำไรบริษัทไม่เติบโต


อันนี้เป็นปัจจัยเฉพาะตัวของตลาดไทยไม่เหมือนคนอื่นเขา หุ้นลง เศรษฐกิจค่อนข้างลง เงินบาทแข็งค่า 7% กว่าเป็นอันดับ 1-2 ของโลกเลย เรามีปัจจัยเฉพาะตัวของเราที่มันยังกดดันเราอยู่ แต่เราก็ต้องมองกลับว่า มันลงไปขนาดไหนจึงอยู่ในระดับที่เหมาะสม เดิมเรามองถ้าดัชนีต่ำกว่า 1,584 เรามองว่าน่าสนใจ แต่ปัจจุบันลงไปเหลือ 1,560 กำไรบริษัทจดทะเบียนก็ต่ำลงมาเยอะ จนตอนนี้จะถึงสิ้นปี คาดว่าพอต้นปีนักวิเคราะห์ก็จะข้ามชอร์ตว่าปีนี้น่าจะมี Growthอะไรบ้าง

ข้อดีก็คือปีนี้มีฐานค่อนข้างจะต่ำ


ฉะนั้นเราอาจจะมองเห็นการเติบโตของกำไรปีหน้าได้ ถึงแม้ค่าเงินบาทจะยืนอยู่ในระดับค่อนข้างที่แข็งค่า และกดดันการส่งออก แต่ปีนี้กลุ่มใหญ่ๆอย่างกลุ่มธนาคาร พลังงาน พร็อพเพอร์ตี้ ถูกเทขายออกมาค่อนข้างเยอะ ข้อดีก็คือตอนนี้เงินปันผลของตลาดปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างดี


จริงๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่ปีนี้เป็นพระเอกเลย คือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ กองทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ปีนี้เป็นพระเอกเลย สูงสุดปรับตัวขึ้นไปประมาณกว่า 20% แล้ว 2 เดือนที่ผ่านมาพอดอกเบี้ยในตลาดเริ่มมีการปรับตัวขึ้นบ้าง และต้องยอมรับว่ากอง SSF ก็มีผลต่อการปรับตัวลงของกลุ่มนี้ด้วยเหมือนกัน


ตอนนี้กลุ่มนี้เดิมเราจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยทั้งกลุ่มในอดีตประมาณ 6% ปีนี้วิ่งมาไกลมากลดลงไปเหลือ 4% กว่าๆ การเทขายรอบล่าสุดดันขึ้นไป 5% กว่า เรายังมองโอกาสดีอยู่ ฉะนั้นควรลงทุนในกลุ่มที่เน้นจ่ายเงินปันผล หรือหุ้นกลุ่ม High Dividend ซึ่งจะกลับมาน่าสนใจอีกรอบหนึ่ง เพราะว่ายังมีบริษัทใหญ่ๆที่มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลระดับสูงอีกมากในตลาด


ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจกลับมาลงทุนอีกรอบหนึ่ง


ตอนนี้คนที่ถือหุ้นธนาคาร พลังงาน ยังพอทำใจถือไปก่อนได้หรือไม่

ถือไปก่อนได้ ส่วนที่โดนเทขายออกมา มันต่ำเกินพื้นฐาน


การลงทุนในกองทุน LTF ที่จะปิดฉากลงแล้ว ถ้ามันเปลี่ยนเป็นกองทุน SSF ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะถูกกดดันด้วย เพราะว่า LTF ลงทุนในหุ้นเป็นหลัก เมื่อไม่มี LTF ทำให้ตลาดอาจจะถูกกดดัน แล้วยิ่งมีแรงขายจาก LTF ที่หมดอายุออกมา

มองว่า LTF ช่วงต้นปี จะมีแรงเทขายจากกอง LTF ออกมา คือมองว่ากองทุน LTF ที่หมดอายุ ไม่ใช่เรื่องใหม่และจริงๆ การเทขาย LTF ออกมาก็ไม่ใช่ประเด็น ส่วนใหญ่ทุกคนต้องถือ เกิน 7 ปีอยู่แล้ว


ตัวเลขทุกปีก็อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาททุกปีในการเทขาย LTF ออกมา ตัวเลขนี้ไม่ได้สูงมากมาย เพราะมันถูกล็อกด้วยจำนวนการลงทุน 7 ปีที่แล้ว เพียงแต่ว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ “เงินใหม่” ที่จะเข้ามาในตลาด


ถ้าเราทบทวนเงื่อนไขของกองใหม่ที่เราเรียกว่า ซูเปอร์ เซฟวิ่งฟันด์ เพิ่มการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดขยับขึ้นไปเป็น 30% จำกัดวงเงินแค่ 2 แสน แล้วก็เปลี่ยนเกณฑ์การลงทุน จากเดิมลงทุนหุ้นไทยเท่านั้น เป็นให้ลงทุนทุกประเภทแล้วก็มีอายุ 10 ปีไม่มีขั้นต่ำ แล้วเขาก็ไปแก้ รัฐบาลต้องมีการแก้ออกมาเพิ่ม RMF เพิ่มเป็น 10% เหมือนกัน แต่พอมาดูบรรทัดล่างสุด ให้ SSF บวก RMF บวก Provident Fund บวก กบข. รวมกันทุกอันไม่เกิน 5 แสนบาท

คือจริงๆ แล้วยอมรับว่าค่อนข้างผิดหวังกับนโยบาย เพราะมันจะทำให้โอกาสที่เงินไหลเข้าตลาดเมื่อเทียบกับเม็ดเงินเดิมจาก LTF ปีปีหนึ่งเข้ามาหลายหมื่นล้านบาท จะน้อยลงไปทันที ส่วนกอง SSF ออกมาใหม่ก็จะมีทั้งการลงทุนได้ทั้งในต่างประเทศ ตราสารหนี้ หุ้นไทย กลายเป็นให้ลงทุนในหุ้นไทยเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

ดังนั้น มองว่าปีหน้าสภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยอาจจะน้อยลง

ที่สำคัญถ้าเรามองย้อนไปดูร่างกฎกระทรวงการคลังรอบที่แล้วก่อนจะออก SSF เขาใช้ชื่อกองทุนหุ้นยั่งยืน ตอนนั้นมีการร่างมาก่อนว่า ต้องลงทุนในหุ้นยั่งยืน แล้วบวกกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขั้นต่ำอีก ก็เกิดการเก็งกำไรในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน แปลว่าสภาพคล่องของใหม่ไม่ได้โฟกัสเข้าไปในส่วนที่เป็น Dividend Pay หรือหุ้นกลุ่มที่จ่ายปันผลสูง มีการเทขายกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักในช่วงที่ผ่านมา


มองว่าการเปลี่ยนจาก LTF เป็น SSF ก็มีผล แล้วก็มีความผิดหวังในเรื่องของเกณฑ์ใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ภาพโดยรวมคุณธนากรมองว่าปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการลงทุนมันก็ยังมีมากกว่าปัจจัยลบ


ถูกต้อง


ควรจะกระจายการลงทุนไปอย่างอื่นหรือไม่ ที่ไม่ใช่หุ้น เช่น ทองคำ


ทองคำส่วนตัวมองว่าน่าสนใจมาก และมองว่าข้อเสียที่ทุกคนจ้องกัน ตั้งแต่เรื่องของทรัมป์สู้กับจีน หรือว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมันจะอยู่กับเราไปอีกสักพักหนึ่ง แล้วตลาดก็เริ่มยอมรับตรงนี้ได้มากขึ้นด้วย สังเกตจากรอบที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมา 3 วันติด แต่ว่าพวกสินทรัพย์ความเสี่ยงน้อย เช่นทองคำ หรืออัตราดอกเบี้ยไม่ได้ปรับลงตาม


ความน่าสนใจคือตอนนี้กองทุนต่างประเทศเข้ามาสะสม ETF ทองคำสูงสุด ตั้งแต่ปี 2013 แล้ว ตรงนี้น่าสนใจมาก แล้วก็ราคาทองคำอยู่แถวระดับ 1,450 กว่าเหรียญต่อออนซ์ เป็นระดับที่น่าสนใจ


ดังนั้น ปีหน้าสัดส่วนการลงทุนที่สำคัญที่เราต้องมีอยู่ในพอร์ตคือทองคำ ปีหน้าเรามองความเสี่ยงยังคงมีอยู่ ดังนั้นเราต้องเพิ่มทองคำเข้าไปอาจจะ 5-10% ของพอร์ตการลงทุน แล้วก็ลงทุนในพวกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จ่ายปันผลมากกว่า 5% ซึ่งส่วนนี้คงต้องมีเยอะสัก 20-30% นอกจากนี้ตราสารหนี้คุณภาพดีๆยังเป็นตัวหนึ่งที่ยังคงต้องเก็บไว้เหมือนกันเพราะว่าดอกเบี้ยยังเป็นขาลงซึ่งมันก็จะส่งผลบวกต่อกลุ่มนี้


ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเราให้น้ำหนักลงทุนไม่เกิน 20% ถึงแม้ว่าเราจะมองว่าตลาดหุ้นจะดี แต่ว่ามันก็จะดีเป็นช่วงๆ ไม่ใช่จะดีระยะยาวไปตลอดทั้งปี

18 views

Comments


bottom of page