เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนเม.ย. พุ่งสูงขึ้นกว่าตลาดคาดการณ์ โดยเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.2% YoY สูงสุดนับตั้งแต่ก.ย. 2551 ขณะที่ เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.0% YoY โดยถูกขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวดี หลังจากมีการเร่งฉีดวัคซีน และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในฝั่งอุปทานเผชิญปัญหาขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบสำหรับการผลิต ท่ามกลางห่วงโซ่อุปทานที่เผชิญปัญหาคอขวด อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงาน ซึ่งกดดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น
เงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันให้เฟดอาจจำเป็นต้องถอนมาตรการการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี เฟดน่าจะยังให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อ โดยแม้ว่าปัจจุบันตลาดแรงงานเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่จำนวนคนว่างงานยังอยู่สูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 อย่างมาก โดยอัตราการว่างงาน ณ เดือนเม.ย.2564 อยู่ที่ 6.1% ปรับลดลงอย่างมากจากระดับสูงสุดในปีก่อนที่ 14.8% อย่างไรก็ดี ยังคงสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ที่ 3.5% ค่อนข้างมาก ขณะที่จำนวนคนว่างงาน ณ เดือนเม.ย. 2564 อยู่ที่ 9.8 ล้านคน สูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ประมาณ 4 ล้านคน ดังนั้น คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกยาวนานกว่าตลาดแรงงานจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ตามเป้าหมายของเฟด
เฟดน่าจะต้องยืนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี จากการที่เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดคาดว่าเฟดอาจจำเป็นต้องถอนมาตรการการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ปรับสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าเฟดอาจเข้ามาแทรกแซงตลาดพันธบัตร โดยมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจใช้มาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield curve control) ในระยะข้างหน้า เพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเฟดจะสามารถกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและระยะยาวลงมาได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากการจ้างงานกลับมาสู่ระดับใกล้เคียงปกติ (Near full employment) เฟดคงจำเป็นต้องถอนมาตรการการเงินแบบผ่อนคลายอยู่ดี ซึ่งทำให้คาดว่าในรอบนี้ เฟดอาจแทรกแซงตลาดได้ไม่นานมากนัก โดยอาจทำได้เพียงในระยะเวลาไม่กี่เดือน ต่างจากในรอบปี 2554-2555 ที่เฟดทำ Operation Twist เป็นปีๆ
Comments