top of page
312345.jpg

ถึงลงหนักแต่ยังไม่มีสัญญาณกลับตัว...ปัจจัยบวกในประเทศไม่มี !



ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลงแรงต่อเนื่องตามคาดนะครับ บนวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดนอกประเทศจีนที่จะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ หลังจากที่องค์การการค้าโลก (WTO) ออกมาเตือนไวรัสโคโรนาอาจส่งผลร้ายกว่าที่คิด ขณะที่การค้าทั่วโลกยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้มีเรื่องภาษีเข้ามาฉุดการค้าทั่วโลก ซ้ำร้ายยังถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอีกที ทั้งนี้ดัชนีวัดการค้าสินค้าโลกนั้นแตะที่ระดับ 95.5 ในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2563 ที่ระดับ 96.6


การที่ดัชนีดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนให้เห็นว่าการขยายตัวของการค้าทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ IMF ระบุว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ถือเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจีนได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานจนทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว


ดังนั้นแน่นอนว่าตัวเลขเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปจะเป็นปัจจัยที่สำคัญของตลาดการเงินทั่วโลก เนื่องจากจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่าได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนามากน้อยเพียงใด รวมถึงธนาคารกลางและการคลังทั่วโลกจะต้องมีมาตรการออกมาช่วยพยุงเศรษฐกิจอีกมากน้อยเพียงใด


ขณะที่ในส่วนของปัจจัยในประเทศดูเหมือนจะยิ่งซ้ำเติมตลาดหุ้นไทย แถมล่าสุดสภาพัฒน์เผยตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเพียง 1.6% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2.1% ส่งผลให้ตัวเลข GDP ของทั้งปี 2562 ขยายตัวที่ 2.4% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2.6%


นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า GDP ปี 2563 จะขยายตัวที่ 1.5-2.5% ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 2.7-3.7% โดยจะพบว่า GDP ในไตรมาสที่ 4 จะโตจากการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนเท่านั้น ส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นมีสัดส่วนมากถึง 28% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดของไทย ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายรายเริ่มมีการคาดการณ์ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ อีกทั้งยังรวมถึง GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มีโอกาสที่จะหดตัวได้


สอดคล้องกับที่สำนักวิจัยของ Goldman Sachs ได้ปรับลดการขยายตัวของ GDP ไทยในปี 2563 ลงมาเหลือเพียงแค่ 2.1% เท่านั้น จากเดิมที่คาดไว้ 2.3% โดยเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลจากนักท่องเที่ยวลดลงจากไวรัสโคโรนามากกว่าที่คาดไว้ โดยในตอนแรกคาดว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยในปีนี้จะลดลง 16% ในไตรมาส 1 คิดเป็น 4% ของทั้งปี แต่หลังจากที่ทีมนักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ได้พบกับตัวแทนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนั้นได้ประมาณว่านักท่องเที่ยวที่หายไปของไทยในปีนี้อาจถึง 5 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 13% ผลกระทบดังกล่าว Goldman Sachs มองว่ากระทบกับ GDP ถึง 0.5% ในปีนี้


ขณะที่เรื่องภัยแล้งยังส่งผลทำให้ตัวเลข GDP ของไตรมาส 1 อาจย่ำแย่ได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ดีภาคการเกษตรของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% แต่ปัญหาใหญ่ของไทยคือภาคแรงงานคิดเป็น 40% กลับอยู่ในภาคการเกษตร ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก อย่างไรก็ดีถ้าหากฝนตกตามช่วงเวลาในเดือน พ.ค. 2563 จะส่งผลบรรเทาให้ภาคเกษตรลงไปได้

สำหรับเรื่องงบประมาณล่าช้า Goldman Sachs คาดว่าในไตรมาส 2 นี้จะได้เห็นผลจากงบประมาณที่ออกมา ซึ่ง Goldman Sachs ได้กล่าวถึงมุมมองธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ หลังจากที่ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเหลือ 1% และ Goldman Sachs คาดว่าอาจปรับลดลงมาเหลือแค่ 0.5% ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ขณะที่ในทางเทคนิคตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับมาปิดเหนือบริเวณ 1,450 จุด ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นแนวรับของรูปแบบ Head-and-Shoulder Top และรูปแบบ Descending Triangle ได้ ตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อไป


นักลงทุนไม่เชื่อว่ามีปัจจัยบวก ! ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศนั้น ถึงแม้ว่าธนาคารกลางจีน หรือ PBOC จะพยายามเรียกความเชื่อมั่น โดยการประกาศจัดหาเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ให้กับธนาคารพาณิชย์ พร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว โดยมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยที่ PBOC ได้จัดหาเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ในวงเงิน 2 แสนล้านหยวน (2.9 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะกลางประเภทอายุ 1 ปี และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวลง 0.10% สู่ระดับ 3.15%


นอกจากนี้ PBOC ยังได้อัดฉีดเงิน 1 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.43 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่ระบบการเงิน ผ่านทางข้อตกลง Reverse Repo ประเภทอายุ 7 วัน ที่อัตราดอกเบี้ย 2.4% นอกจากนี้จีนยังประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) อีกครั้ง แบ่งเป็น LPR ระยะ 1 ปี ปรับลดลง 0.10% ที่ระดับ 4.05% สำหรับเดือน ก.พ. 2563 และลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีลง 0.05% ที่ระดับ 4.75% โดยมีจุดประสงค์เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาที่ฉุดเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณมากมากขึ้นว่าประธานาธบดี Xi Jinping ของจีนพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2563 ให้ขยายตัวได้ที่ระดับ 6%


อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกกลับขึ้นมาได้ หลังจากการเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนในยุโรป รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีที่ลดลงสู่ระดับ 8.7 ในเดือน ก.พ. 2563 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 21.0 จากระดับ 26.7 ในเดือน ม.ค. 2563 ขณะที่ญี่ปุ่นประกาศอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 หดตัว 6.3% YoY จากกำลังการบริโภค, การส่งออก และการลงทุนที่ชะลอตัว สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นับเป็นการหดตัวแรงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ดังนั้นทิศทางของตลาดหุ้นโลกจะยังคงกดดันทิศทางของตลาดหุ้นไทยต่อไปในระยะสั้น


ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,450 จุด (+/-) ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

15 views
bottom of page