top of page
379208.jpg

เมื่อตลาดหุ้นโลก...ติดเชื้อ COVID-19



สถานการณ์ของตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงน่ากังวลต่อไป บนความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีน หลังจากที่ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้ อิหร่าน และอิตาลี ออกมารายงานว่าพบผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ล่าสุดเริ่มพบผู้ติดเชื้อในหลายๆประเทศเป็นครั้งแรกทั้งแถบอเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ และตะวันออกกลาง ส่งผลให้ WHO หรือองค์กรอนามัยโลกกล่าวว่าการระบาดของไวรัสเข้าใกล้ขั้น “Pandemic” หรือภัยพิบัติทั่วโลก


ประกอบกับสิ่งที่คาดการณ์ได้ยากคือระยะฟักตัวของเชื้อที่นานขึ้นจาก 14 วันเป็น 28 วัน ทำให้การกักตัวหรือตรวจสอบผู้ติดเชื้อทำได้ยากขึ้น การที่โรคนี้กระจายเข้าสู่ทวีปแอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นที่น่ากังวล ต้องดูว่าทวีปเหล่านี้จะรับมือกับการกระจายของเชื้อได้แค่ไหน


ขณะที่สถานการณ์ที่นักลงทุนกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เกิดขึ้นแล้ว คือการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ หลังจากที่ล่าสุดสหรัฐพบผู้ติดเชื้อแล้ว 53 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อในประเทศ 14 ราย และส่วนที่เหลือเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ


ทั้งนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) ได้ออกมาประกาศเตือนประชาชนรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการแถลงมุมมองจาก CDC ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน และลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมาจากความวิตกที่เพิ่มขึ้นว่าการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัส COVID-19 อาจฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอาจจะเข้าสู่ไวรัสระบาดเฟส 3 หลังจากสหรัฐพบผู้ติดเชื้อไวรัสโดยไม่ทราบต้นทางเป็นเคสที่ 2 แล้ว


ความกังวลของนักลงทุนต่อผลกระทบทางธุรกิจ สะท้อนออกมาจากการที่ Goldman Sachs ออกมาประมาณการว่ารายได้ของบริษัทต่างๆ ในสหรัฐอาจไม่เติบโตเลยในปี 2563 นี้ สอดคล้องกับที่ Microsoft, Apple และ HP แถลงสะท้อนมุมมองในทิศทางเดียวกันหลังเตือนว่าบริษัทอยู่ในภาวะอ่อนแอ อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทั้งหมดชัดเจนว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากทิศทางที่ชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจกิจจีน หลังจากที่ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของจีน อย่าง Manufacturing PMI ถูกประกาศออกมาระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์เดือน ก.พ. 2563 ที่ระดับ 35.7 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 45 ถึงแม้ตลาดจะคำนวณถึงผลกระทบของโคโรนาไวรัสเข้าไปแล้วก็ตาม รวมทั้งต่ำกว่าครั้งวิกฤตปี 2551 เสียอีก


ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าวของนักลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 151.67%, 146.27% และ 30.01% ตามลำดับ เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางดัชนี MSCI ACWI โดยดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกง เคลื่อนไหวอยู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) แล้ว


ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงชัดเจน ในทิศทางเดียวกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 10.13% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 30.43%


ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 10.46% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 39.13% อาจลงได้ลึกถึง 1,260 จุด !


ชัดเจนแล้วว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลก และไทยจะยังคงถูกกกดันจากประเด็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป โดยเฉพาะถ้าพิจารณาจากมุมองของนักลงทุนต่อการเคลื่อนไหวในระยะต่อไปของธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลก โดยเฉพาะสหรัฐ เมื่อพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของ Fed Funds Future ปรากฏว่าล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.5% ก่อนการประชุมจริง 17-18 มี.ค. 2563 นี้เลย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาอยู่ที่ 1.00-1.25% ซึ่งก่อนหน้านี้นักลงทุนในตลาดมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปี 2563


จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เวลานี้ทิศทางของเงินทุนยังคงไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนออกมาผ่านทางระดับ Credit Default Swap หรือ CDS ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงชัดเจนอย่างเกาหลีใต้ รวมถึงไทยด้วย


ขณะที่ในทางเทคนิคตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับมาปิดเหนือบริเวณ 1,450 จุด ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นแนวรับของรูปแบบ Head-and-Shoulder Top และรูปแบบ Descending Triangle ได้ ตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อไป โดยมีแนวรับในเชิงพื้นฐานอยู่ที่บริเวณค่าเฉลี่ย P/E 10 ปี-3SD ของ SET ที่ 12.7 เท่า หรือ 1,260 จุดครับ


ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,450 จุด (+/-) ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

37 views

댓글


bottom of page