top of page
379208.jpg

ความพยายามขึ้นต่อ เป็นความเสี่ยง....ตลาดหุ้นโลกเริ่มเข้าสู่การพักตัวในช่วงสั้นๆ



ตลาดหุ้นโลกเริ่มเข้าสู่การพักตัวในช่วงสั้นๆ แล้วนะครับ โดยมีปัจจัยจากการเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอด้วย ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง โดยหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงรุนแรงที่สุด ขณะที่ในฝั่งของตัวเลขเศรษฐกิจ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐรายงานตัวเลขอัตราการว่างงาน หรือ Unemployment Rate ในเดือน เม.ย. 2563 ออกมาเพิ่มขึ้นแตะระดับ 14.7% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ The Great Depression ในปี 2473 สอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร หรือ Non-Farm Payrolls ที่ถูกรายงานออกมาที่ 20.5 ล้านคน แย่ที่สุดในรอบ 80 กว่าปี

สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 6.93% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 23.67% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 8.66% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 52.66%

อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” มองว่าการพักตัวคงเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากตลาดหุ้นโลกยังคงมีปัจจัยหนุนจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศจะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะจีน

ทั้งนี้การทยอยเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้ยอดส่งออกเดือน เม.ย. 2563 ของจีนปรับตัวขึ้น 3.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าที่คาดว่าจะร่วงลง 11% โดยข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนมีความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ขณะที่สหรัฐเองมีปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดเตรียมอัดฉีดเงินเพิ่มเติมสำหรับอุ้มหนี้และกองทุน ETF กว่า 7.5 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐจำเป็นต้องกู้ยืมเงินกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสนี้ โดยที่กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศขายตราสารหนี้เพิ่มเพื่อระดมเงินทุนให้รัฐบาลอีก 96 พันล้านเหรียญ ถือเป็นการระดมทุนครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐ ทั้งนี้ในส่วนของสถาบันวิจัยอย่าง Goldman Sachs และ Morgan Stanley มีความเห็นพ้องต้องกันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 และข้อจำกัดต่างๆ ที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สอดคล้องกับรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิต (Non-PMI) ของสหรัฐล่าสุดออกมาที่ 41.8 ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 36.8 แต่ต่ำกว่าเดือนที่แล้ว ที่ 52.5

ตลาดหุ้นไทยไปต่อได้น่าขายออกมาก่อน ! ปัจจัยที่อาจเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นไทยยังคงยืนอยู่ในกรอบของการแกว่งตัวขึ้นระยะสั้นได้ น่าจะเป็นในส่วนของ Valuation เนื่องจากปัจจุบันระดับ Earnings Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 5.47% หรือ +2.6 SD เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตสะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับ Undervalued เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต สอดคล้องกับระดับ P/E ratio ของตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 15.09 เท่า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ระดับ 16.89 เท่า หรือคิดเป็น Discount ที่ราว 10.66%

ประกอบกับตลาดหุ้นไทยจะมีปัจจัยหนุนระยะสั้นจากการที่รัฐบาลพร้อมคลายล็อกดาวน์ เฟส 2 สำหรับกิจการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า, ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านขายสินค้าวัสดุก่อสร้าง โดยที่เบื้องต้นคาดจะเริ่มคลายเฟส 2 ได้วันที่ 17 พ.ค. 2563

อย่างไรก็ดีสำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าการปรับตัวขึ้นต่อของตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทยเริ่มมีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมองว่าการปรับตัวขึ้นต่อในระยะสั้นเป็นโอกาสในการขายทำกำไร หรือ Take Profit ออกมาก่อน โดยมีปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นไทย โดยที่มุมมองดังกล่าวสะท้อนออกมาจากประเด็นของ Earnings Revision ที่ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงอีก 0.91% ลงมาอยู่ที่ -16.4% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2563 ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงมาแล้วถึง 29.2% มากกว่าเทียบกับการที่ตั้งแต่ต้นปี 2563 Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นโลก สหรัฐ ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ลง 28.2%, 28.9%, 16.8% และ 17.0% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นไทยที่ -16.4% ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นโลก สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ที่ -8.9%, -8.8%, -12.3%, -0.4% และ -2.1% ตามลำดับ


ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ยังคงยืนเหนือ 1,250 จุด (+/-) ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


Source: Wealth Hunters Club

15 views

Комментарии


bottom of page