EXIM BANK เน้น ซ่อม สร้าง เสริม ช่วยธุรกิจที่ป่วยให้กลับมาแข็งแรง เพิ่มฐานลูกค้า SME พร้อมสินเชื่อที่หลากหลาย เสริมความรู้ด้านการบริหารการจัดการให้ผู้ประกอบการ SME เป็นนักรบเศรษฐกิจที่ทันยุคสมัย ในทุกก้าวย่างให้ความสำคัญกับ People มากกว่า Profit แต่ท้ายที่สุดออกดอกออกผลทำให้ EXIM BANK เติบโตแบบก้าวกระโดด กำไรสุทธิโดดเด่นสุดในรอบ 5 ปี การเติบโตเพิ่ม 13% มากกว่าการเติบโตทั้งระบบถึง 3 เท่า ลั่น...พร้อมเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อน Thailand Game Changer เชื่อมไทย เชื่อมโลก เพิ่มศักยภาพอุตฯ ไทยให้มีที่ยืนที่ชัดเจนบนเวทีการค้าโลก เน้นความเป็นอุตฯ สีเขียว ไฮเทค และสุขภาพที่ยั่งยืน
Interview : ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
มาบริหารงานไม่ถึงปี แต่ EXIM BANK เปลี่ยนแปลงมากมาย และผลงานดี กำไรดี เติบโตดี
ทุกคนทำงานหนักเพื่อที่สร้างบ้านให้มั่นคง ในตรรกะของเรา people มาก่อน profit เสมอ จริงๆ แล้วกำไรสุทธิที่เด่นสุดในรอบ 5 ปีที่ 1,500 ล้านบาทมาจากความตั้งใจที่ต้องซ่อมบ้านก่อน เพราะฉะนั้นกำไรเป็นสิ่งที่เป็นปลายน้ำ ประเด็นแรกเราตั้งใจที่จะหนีจากการเป็นแบงก์ขนาดเล็ก เราพยายามสร้างตัว Outstanding Growth 135,000 ให้เติบโต 153,000 ล้าน ซึ่งเป็นการเติบโตประมาณ 13% ขณะที่ระบบโต 4% แต่เราโตกว่าระบบ 3 เท่า จากนั้นเราแก้หนี้และมีการบริหารจัดการ NPL เราปรับลด NPL 3 กลางๆ ลงไปเหลือ 2.7 เป็นที่มาว่าในส่วนของ Good Bank ทำได้ดีแล้ว และเรายังพยายามบริหารจัดการที่เป็น Bad Bank ขณะเดียวกันเราพยายามเพิ่มสัดส่วนลูกค้า SME ให้สูงขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่เราทำได้ประมาณ 700 คน เราพยายามสร้างลูกค้า SME โตให้ได้ 1,500 รายเมื่อปีที่แล้ว และลูกค้าสะสมตอนนี้น่าจะประมาณ 7,000 ราย ตัวสินเชื่อประมาณ 150,000 ตัว การรับประกันธุรกิจก็อยู่ในจำนวนใกล้เคียงกันกับที่สิ้นปี 153,500 ล้านบาทเป็นการขยายขึ้นประมาณ 14% จากปี 63
EXIM BANK ครบรอบ 28 ปีด้วย จะมีการฉลองไหม
จริงๆ ที่เป็นตัวเลขที่ดูสวยงาม แต่มีสิ่งที่เราซ่อนใต้ความสวยงามเหล่านั้น อันแรกคือเราเข้าไปซ่อมธุรกิจที่ป่วย หลายๆ คนคงทราบว่าปีที่แล้วเราหยุดธุรกรรมสายการบินไป 7,000 กว่าล้าน เราปล่อยสินเชื่อพาณิชยนาวีซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เราสามารถบริหารราคาของค่าระวางเรือไม่ให้สูงไปกว่านี้ จริงๆ ต้องสูงกว่านี้มาก เราปล่อยสินเชื่อพาณิชยนาวีทั้งหมด 112 ลำ เทียบกับการเป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่อยู่ในตลาดตอนนี้กว่า 50,000 ตู้ สิ่งที่ EXIM BANK ทำไม่ใช่เป็นการทำเพื่อตัวตนอย่างเดียว เราทำเพื่อโครงสร้างของประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว คือเขากำลังป่วยอยู่เราก็เข้าไปซ่อม อุตสาหกรรมที่เป็นทางรอดของอนาคตในเรื่องต้นทุนโลจิสติกส์ คือ พาณิชยนาวี เราก็เข้าไปดูแล ภาพพวกนี้เป็นตัวตนใหม่ เราสร้างตัวตนใหม่ให้ EXIM BANK ให้ดูแลมากกว่าสิ่งที่มันอยู่หน้า เราต้องคิดถึงภาพอนาคตของประเทศไทย
เรื่องแบบนี้นำไปสู่การยกเครื่องประเทศไทยในการบุกตลาดโลกที่ดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก
เราต้องไปดูภาพก่อน เมื่อ 30 ปีที่แล้วเราคือเสือตัวที่ 5 ทุกๆ คนฝากความหวังไว้ที่ประเทศไทย แต่วันนี้สิ่งที่เคยเป็นภาพของประเทศถูกบิดเบือนไปเยอะ หมายถึงเรายังเล่นเกมเดิม เรายังทำเกมเดิม ในที่สุดสิ่งที่เราเคยเติบโตไม่ว่าจะเป็น GDP 10% ส่งออก 25% วันนี้เราเหลือ GDP 2.3% ส่วนการเติบโตของการส่งออกที่เราเห็นปีที่แล้วเติบโตประมาณเกือบ 17% จริงๆ แล้วโดยค่าเฉลี่ย 10 ปีโตแค่ 2.2% เท่านั้นเอง หมายความว่าสิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่เราใส่ input เข้าไปมันไม่ตอบโจทย์โลกแล้ว
แล้วมาดูนอกเหนือจากตัวเราเอง เรามาดูคนที่เป็นคู่แข่งของเราอย่างเวียดนาม เฉลี่ย GDP 10 ปี อยู่ที่ 6% มาเลเซียอยู่ที่ 10% เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่อยู่ที่ประมาณ 10.5% ส่วนการส่งออกเวียดนามเติบโตเฉลี่ย 10 ปี 14% มาเลเซียประมาณ 3% อินโดนีเซีย 2.3% ยังมากกว่าเราอยู่
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องมาดูแล้วว่าโครงสร้างการส่งออกของเรามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมมันต่างจากคู่แข่งอย่างสิ้นเชิง โครงสร้างการส่งออกของเรา 90% มาจากคนตัวใหญ่ เวลามีวิกฤตหรือพายุ คนตัวใหญ่จะได้รับผลกระทบมากกว่าตัวเล็กๆ ตัวอุตสาหกรรมค่อนข้างกระจุกตัว เราจึงไม่สามารถเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขได้เลย จำนวนผู้ประกอบการ SME ไทยที่เป็นผู้ส่งออกในประเทศมีกว่า 6 ล้านราย แต่ส่งออกจริงๆ ได้เพียงไม่ถึง 30,000 ราย เรามีจำนวนผู้ส่งออก 0.5% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ส่งออกของเวียดนามที่เขามีอยู่ 10% คือเขามีมากกว่าเราเกือบ 20 เท่า
นี่เป็นที่มาว่าเราหวังพึ่งรายใหญ่อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องดูแลที่เป็นพี่น้อง SME และต้องมาดูช่วง 5 ปีที่เราพยายามบริหารจัดการให้ความรู้กับพี่น้อง SME จริงๆ เราควรโฟกัสกับคนที่มีศักยภาพที่จะส่งออก การยกเครื่องหรือการเปลี่ยนเกมการทำเกมของ EXIM ในยุคนี้คือเราจะโฟกัสที่ SME 300,000 ราย ที่สินค้าของพวกเขา จริงๆ เขาเป็น OEM มีคนตัวใหญ่มาจ้างเขาให้ทำของ ซื้อของจากเขา แล้วส่งออก ภาพนี้ทำให้เห็นว่าคนเหล่านี้เขามีศักยภาพในการส่งออก เพียงแต่เขาขาดองค์ความรู้บางอย่าง หรือขาดความกล้า จึงเป็นที่มาว่าผมไปใส่วัคซีนความกล้าให้เขา แล้ว Converse จาก SME 300,000 ราย ปีที่แล้วเราดึงออกมา 500 ราย ใส่เข้าไปในแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Alibaba ที่เราทำข้อตกลงกันไว้ เรามีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Thai Pavilion ปีที่แล้วใส่เข้าไป 500 คน ปีนี้ใส่อีก 1,500 คน ปีหน้าจะใส่เข้าไป 2,500 คน หมายความว่าภายใน 3 ปีจะเราสร้างผู้ส่งออกได้เท่ากับที่ EXIM เคยสร้างมา 28 ปี
อันนี้เราเรียกว่าการเติบโตแบบที่เราพลิกเกม แล้วเราเปลี่ยน My Set ในการบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นอนาคตของประเทศที่เราอยากจะได้นักรบเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นรูปเกมต้องเปลี่ยน เมื่อก่อนเราทำคนเดียวทำไม่ไหว ทำได้ปีละ 500-700 ราย ปีนี้เราทำกับเพื่อน ทำกับ สวทช. ทำกับพี่น้องร่วมกระทรวงที่ส่งลูกค้าของเขาที่เป็น Indirect Exporter ที่อยู่ใน Supply Chain ของ Exporter ให้ EXIM มาฟูมฟัก ต่อยอด ป้องกันความเสี่ยง แล้วเอาเข้าแพลตฟอร์มที่เป็น e-Commerce นั่นคือ Quick Win ของประเทศ
วันนี้ EXIM ได้ตื่นขึ้นมาแล้ว เราทำหน้าที่ที่ควรจะทำ หลายๆ คนบอกผมเข้ามาเปลี่ยนบทบาทใหม่ จริงๆ ไม่ได้เปลี่ยนบทบาทใหม่ แต่เอาบทบาทเดิมที่เคยทำ มาทำให้ตัวแบงก์เข้มแข็ง แล้วความเข้มแข็งของเราไม่ใช่อยู่ด้วยตัวเราเอง แล้วชื่นชมตัวเราเองว่าเราเข้มแข็ง แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งของพี่น้องเรา เพราะฉะนั้นการเป็นสถาบันการเงินของรัฐต้องไม่คิดแต่ตัวเอง เราต้องคิดว่าวันนี้ประเทศมีปัญหา มีคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราและเราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
EXIM BANK กลายเป็นหัวขบวนในการเป็น Thailand Game Changer อย่างที่ต้องการ
ยังไม่อยากใช้คำว่าหัวขบวน ผมคิดว่าทำงานกันเป็นทีมมากกว่า เพราะจะไม่เป็นการทำงานคนเดียว เรายังมีความอุ่นใจของพี่ๆ เพื่อนๆ พันธมิตร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราต้องช่วยกัน คือประเทศเป็นของทุกคนและเราต้องการเปลี่ยนให้เป็นภาพที่มีอนาคตให้ตรงกับจริตของความเป็นไทยด้วย คือไม่ใช่เป็นภาพอนาคตที่เราต้องฝืนตัวเอง แต่เป็นภาพอนาคตที่มาจาก DNA ของพวกเรา จริงแล้วต้องบอกว่าความงดงาม ความแข็งแกร่งของประเทศไทย คือ System integrator เราพูดถึงการส่งออกและ GDP อีกหนึ่งตัวที่เป็นตัวชี้วัดคือ Foreign Direct Investment
วันนี้หลายคนบอกว่าบริษัทข้ามชาติบ๊ายบายประเทศไทยแล้วไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านเกือบหมด แล้วเราจะเหลืออะไร จริงๆ หน้าที่ของเราหรือความเข้มแข็งของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเราเป็น System Integrator เป็นผู้ต่อจิ๊กซอว์ คุณจะแคร์ทำไมกับ FDI ที่เน้นเรื่อง Labor Intensive หรือเน้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นเขาต้องไปในประเทศที่ค่าแรงถูกตามกลยุทธ์ของเขา แต่เราต้องเหลือสิ่งที่เป็นความเข้มแข็งของประเทศไทย คือ 1. เราสามารถทำเป็นโลจิสติกส์ฮับได้ เราพูดถึงโพรเจกต์ที่นายกฯ หรือรองนายกฯ พูดถึง EEC การเชื่อมไทยเชื่อมโลก โดยเฉพาะเชื่อม CLMV ก่อน 2. การสร้างศักยภาพ เนื่องจากเราไม่ได้พูดถึง Unskill Labor เราพูดถึง Highskill Labor คนที่ทำงานในมุม IT ได้ เรากำลังพูดถึง Digital Hub ของเอเชีย พูดถึง Entertainment ของเอเชีย เราพูดถึงโลจิสติกส์ ฮับ ของเอเชีย ถามว่าค่าแรงของฮับเหล่านี้มี Cheap Labor ไหม คำตอบคือไม่ เราต้องเร่งฉีดวัคซีนแรงงานไทยให้มีสกิลที่เหมาะกับโลกอนาคต ซึ่งผมคิดว่าหน่วยงานภาครัฐหลายๆ หน่วยงานกำลังทำหน้าที่นี้อยู่ไม่ว่าจะเป็น DEPA หรือ สวทช. สสว. สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องช่วยกันคิดใหม่ทำใหม่ เราต้องทำสิ่งที่การันตีที่ยืนในอนาคตให้กับพวกเรา
จะขยับเขยื้อนยากไหม
ผมว่าถ้าเราไม่ได้มองว่าเราจะต้องเอาเป้าหมายที่ท้าทายมาเป็นเครื่องบั่นทอนจิตใจ ผมว่าวันนี้ทุกคนรัฐวิสาหกิจไทยกว่า 50 แห่งทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพียงแต่ว่าทุกครั้งที่มีการทำแผนให้เอาภาพอนาคตเป็นตัวตั้งแล้วทำหน้าที่ของตัวเอง ผมว่าด้วยพลังของทุกๆ คนค่อยๆ ทำก็ไปถึงเอง
เพื่อขจัดข้อจำกัดต่างๆ ทางออกของไทยขาดเรื่องยุทธศาสตร์ ความสามารถในการแข่งขัน นักรบเศรษฐกิจที่จะบุกต่างประเทศ เกิดเป็นกลยุทธ์ซ่อม สร้าง เสริม ตรงนี้ขยายภาพให้เข้าใจนิดนึงได้ไหม
การซ่อม เราค่อนข้างชัดเจนที่สุดใน 3 คำ อุตสาหกรรมที่มีปัญหาเราจะเข้าไปซ่อม เราเลือกซ่อม ไม่ได้ซ่อมทุกอัน ต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมที่ไปต่อไม่ได้และไม่มีศักยภาพในการแข่งขันเหลืออยู่แล้วก็อย่าไปฝืนชะตากรรม ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าไม่ควรฝืนชะตา อะไรที่มันวางไว้แล้วว่าต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็อย่าฝืนธรรมชาติ เราควรซ่อมอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมพาณิชยนาวี
การสร้างคือสร้างอุตสาหกรรมสำหรับโลกอนาคต มีอยู่ 3 ตัวเท่านั้น คือ G D H Green อุตสาหกรรมที่ Concern สิ่งแวดล้อม ภาพนี้เป็นภาพที่พูดถึงอุตสาหกรรมที่เป็นพลังงานทางเลือกเป็น Pioneer ที่ดูแลเรื่องของ Solar Wind สิ่งเหล่านี้คนไทยเก่งหมดเลยและผมคิดว่าพอร์ตของ EXIM BANK กว่า 60% อยู่ในพลังงานทางเลือก ตัวที่ Digital Content เราพูดถึงอุตสาหกรรมกึ่ง Start up ทำในมุม Digital ทำสินค้าไฮเทค
ตัวสุดท้าย Health ดูแลในอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ถุงมืออนามัย เราปล่อยไปเยอะมากในช่วงระหว่างเกิดโควิด สิ่งเหล่านี้เรากำลังจะบอกว่าเขามีที่ยืน หลายๆ คนอาจจะบอกว่าเรื่อง Digital กับ Green ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเขาเลย จริงๆ ผมบอกว่าอยู่ใกล้ตัวทุกคน Digital Content ไม่จำเป็นต้องขายไอทีแต่เป็นเรื่องของการปรับใช้ไอทีให้เข้ากับอุตสาหกรรมของคุณ ส่วนในเรื่องของ Green เป็นการทำแพ็กเกจจิ้งให้รักษ์โลกให้ได้มากที่สุด เพราะคนบนโลกนี้กำลัง Concern เรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นคุณจะทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวตนของคุณมันถูกจริตผู้บริโภคในยุคที่เขา Concern สิ่งแวดล้อมและอนาคตของโลก
ผู้ประกอบการฟังแล้วอยากร่วมขบวนกับ Game Changer กับ EXIM BANK เขาจะทำอย่างไรถึงจะอยู่ในขบวนนี้ได้
คือวันนี้เราเปลี่ยนตัวเอง เราไม่ใช่นายธนาคาร เราเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน อยากให้ผู้ประกอบการเห็น EXIM BANK เหมือนเป็นเพื่อน คนที่ถนัดในการคุยก็โทร.มาได้ที่ Hotline 02-690-9999 คนที่ถนัดในเรื่องของการ chat สามารถแอดไลน์ที่ Thailand EXIM หรือคนที่ชอบดูข่าวหรือดูวิดีโอเพื่อเสริมความรู้ของตัวเองก็เข้าไปในเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของ EXIM ได้ เราพยายามบริหารจริตของเราให้ตรงจริตกับลูกค้าและผู้ประกอบการ และทุกๆ เดือนเราจะมีคอร์สในการอบรมผู้ประกอบการ นอกจากนี้ในเวลาอันใกล้คือไตรมาสที่ 2 เราจะมี Export Studio มาติดกระดุมเม็ดแรก ที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าหน้าผม การเขียนคอนเทนต์ การแปลความ การดูเรื่องของแพ็กเกจจิ้ง การดีไซน์ เดินมาที่ EXIM เราสามารถจะเริ่มต้นไปพร้อมๆ กัน
Comments