Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
นักเศรษฐศาสตร์มหภาค
การจัดหา ‘วัคซีน’ ของไทยกระท่อนกระแท่น เหตุรัฐตั้งธง วางระบบไว้ว่าจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 พอมีการระบาดหนักจึงรับมือไม่อยู่ แต่หลังกลับลำให้หน่วยงาน องค์กรอื่นนำเข้าวัคซีนได้ทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายบ้าง ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทยในภาวะการระบาดของโควิด-19 ชัดเจนว่าเงินเฟ้อจะพุ่งสูงไปอย่างน้อย 1 ปี ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น เหตุจากต้นทุนการผลิตเพิ่มสูง เศรษฐกิจ-การเงินจะมีปัญหา คนจะมีหนี้สินมากขึ้น คนไทยต้องรัดเข็มขัดประหยัด ระมัดระวังการใช้จ่ายกันต่อไป ส่วนฟากภาครัฐยังคงจับทิศทางไม่ถูก กำหนดนโยบายผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า บริหารเศรษฐกิจแบบขายผ้าเอาหน้ารอด นโยบายกู้แหลก แจกดะ จะสร้างภาระให้คนไทยในระยะยาว
ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์คิดอย่างไรที่ตอนแรกรัฐบาลไม่ให้เอกชนหรือหน่วยงานอื่นนำเข้าวัคซีน แต่ภายหลังเปิดให้นำเข้าเสรีได้แล้ว
คือสับสน จริงๆ ในทางเศรษฐศาสตร์จะมองว่าสุขภาพกับเศรษฐกิจคือสิ่งที่ต้องเลือก มีหลายเป้าหมาย คิดว่ารัฐบาลก็มีความคิดนี้ในแรกๆ คือมองว่าถ้าจะเอาเศรษฐกิจก็จะต้องยอมให้เปิดประเทศมากหน่อย ถ้าจะเอาเรื่องสุขภาพก็จะต้องล็อกดาวน์มากหน่อย ก็เลยติดหลุมความคิดนี้ ฉะนั้นการเตรียมวัคซีนต่างๆ ก็เลยน้อย จริงๆ หลักๆ แล้วคือตัววัคซีน เพราะเมื่อมีการฉีดวัคซีนจะทำให้คนเริ่มมีภูมิคุ้มกันระดับหมู่ขึ้นมา แต่ตอนนี้เรายังไม่ถึงจุดนั้น พอเราเริ่มก็จะทำให้คนมีกิจกรรมปกติมากขึ้น เริ่มมาทำงานมากขึ้น
อย่างที่จีน ของเขามาเร็วสุด ฉีดเร็วสุด เศรษฐกิจเขาก็จะเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ส่วนที่สหรัฐอเมริกาเขาฉีดไปประมาณ 50% ของประชากร ของเขาก็มาได้เร็ว แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังมาไม่ได้ เนื่องจากบางส่วนยังต้องดูแลครอบครัว เนื่องจากลางานแล้วต้องมาทำงาน ครอบครัวยังไม่เปิดเรียน เพราะยังฉีดไม่ครบ ดังนั้น ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง
ขณะที่ไทย ค่อนข้างช้ามาก เพราะฉะนั้นในเรื่องการมองวัคซีนกับเศรษฐกิจต้องมองว่าตัวแปรทั้ง 2 ตัวนี้มันสัมพันธ์กัน ตัวแปรต้นคือวัคซีน ตัวแปรตามคือเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าเราพยายามเลือกครึ่งไม่เลือกครึ่ง มันจะไม่ถูกต้อง จึงต้องทำอย่างไรที่จะปูพรมฉีดวัคซีนให้มากที่สุด จัดการวัคซีนมาให้มากที่สุด ให้คล่องตัวที่สุด
ภาคเอกชนก็ควรจะมีระบบที่สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลสับสนตั้งแต่แรกๆ คือเขาวางระบบไว้ว่าไม่มีการระบาด ฉะนั้นเขาจึงคิดว่าระบบที่ทำอยู่ของรัฐเพียงพอที่จะรองรับได้ แต่พอระบาดมากๆ ก็เลยรองรับไม่อยู่ ฉะนั้นระบบที่จะรองรับได้ต้องมีของใหม่เข้ามาเสริม ที่เรียกว่าวัคซีนทางเลือกก็คือระบบที่มารองรับทีหลัง คือหลังจากระบาดแล้วถึงค่อยมาหาวิธีกัน เพราะมันเริ่มมั่ว เริ่มคอนโทรลไม่อยู่ เริ่มทำให้ระบบเดิมที่วางไว้ทำงานไม่ได้ ระบบใหม่ก็เข้ามาไม่ได้ กลไกรัฐก็ไม่เอื้ออำนวยในการให้ภาคเอกชนนำวัคซีนเข้ามา ก็เข้ามาสู่บทบาทของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่มีความสามารถในการนำวัคซีนมาจากจีนได้เร็ว ตรงนี้ก็เลยทำให้ผ่อนคลายลงได้บ้าง
ตรงนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจเยอะ คือถ้ามีการฉีดวัคซีนกันมากถึงในระดับ 50-60% และมีการเปิดเทอมได้ สามารถฉีดไปถึงเยาวชนได้ ฉีดไปถึงแรงงานต่างด้าวได้ ก็จะให้ระบบทำงานได้ตามปกติมากขึ้น แต่ถ้ายังไม่ปกติ จะเริ่มมีปัญหาอย่างที่เราคุยกัน ก็คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนความผิดปกติของระบบที่มันเปิดพร้อมกัน เปิดไม่เท่ากัน ทำให้ซัพพลายกับดีมานด์ ไม่ทำงานไปด้วยกัน ไม่ได้ทำให้เกิดเงินเฟ้อแรงมากๆ ซึ่งตรงนี้เฟดเขามองถูก คือมองว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นระยะชั่วคราว เพราะระยะนี้เป็นระยะที่การผลิตยังเปิดไม่ได้ อย่างเช่นการผลิตเพิ่มไม่ได้ ในขณะที่ดีมานด์มันไปเยอะมาก
ดังนั้น เราเร่งพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลก เร่งพัฒนาการลงทุนจนกระทั่งน้ำมันไม่มี แล้วไม่รู้จะไปเพิ่มซัพพลายของน้ำมันได้อย่างไร แต่ครั้งนี้เป็นลักษณะชั่วคราวก็คือบ่อน้ำมันต่างๆ มีแล้ว แต่เขาปิดไป บ่อที่ต้นทุนสูง เขาก็ปิดไป หรือบ่อที่ต้นทุนถูกก็เอาออกมา พอดีมานด์มากขึ้น วัตถุดิบต่างๆ ที่ต้องมาใช้ในด้านไฟฟ้าที่เป็นพวกทองแดงอะไรทั้งหลายมันไม่สามารถที่จะเปิดได้เร็ว ต้องใช้เวลาเป็นปี แม้แต่ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ก็เหมือนกัน ไม่ใช่อยู่ๆ จะเอามาใช้ก็เอามาใช้ได้เลย ก็ต้องใช้จาก Inventory ก่อน แต่พอ Inventory มา คนที่ถือ Inventory ก็ต้องพยายามดูแล Inventory ไม่ให้หายไป ฉะนั้นก็เป็นลักษณะตรงข้ามที่เกิดโควิด-19 ใหม่ๆ คือ Inventory มันเหลือจนไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน ตอนนี้มีปัญหาจะรักษา Inventory ให้มันมีเพียงพอได้อย่างไร เพราะการผลิตมันยังมาไม่ได้ โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบจะขึ้นแรงมากๆ
ถ้าดูตัวเลขเงินเฟ้อมันมีสองตัว ทั้งด้านผู้บริโภคและด้านผู้ผลิต ด้านผู้บริโภคจะมีสองตัว ตัวหนึ่งเรียกว่าพื้นฐาน ราคาสินค้าพื้นฐาน ตัวนี้ก็ขึ้นเหมือนกัน แต่ว่าไม่กระฉูดเท่าตัวอื่นที่เป็นเรื่องอาหาร เรื่องพลังงาน มันจะขึ้น คิดว่าเงินเฟ้อตัวนี้คงจะวิ่งไปประมาณสักอย่างน้อยเกือบปี เพราะคนยังไม่สามารถออกมาทำงานได้จริง คือมีคนส่วนหนึ่งมาทำงานได้ แต่ก็มาทำงานได้ไม่เหมือนสมัยก่อน ขณะที่การเดินทาง การบริโภค มันยังวิ่งต่อไปเรื่อยๆ
แต่ว่าพอผ่านตรงนี้ไป 2-3 ไตรมาส หรือ 3-4 ไตรมาส ราคาสินค้าจะเริ่มซอฟต์ลง แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตของโลก ไม่เหมือนเมื่อสมัยก่อนโควิด-19 ซึ่งสมัยก่อนโควิด-19 การส่งออก การนำเข้า เรามาจากทั่วโลกได้เลย ที่ไหนถูกเราก็สั่งได้ แต่ตอนนี้ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อนแล้ว ต้นทุนก็แพงขึ้น บริษัทที่ขนส่งก็มีน้อยลง การผูกขาดมีมากขึ้น สิ่งที่เราเคยพูดสมัยก่อนการค้าเสรี การค้าที่เป็นโลกาภิวัตน์ก็ไม่โลกาภิวัตน์เหมือนสมัยก่อนแล้ว ดังนั้น ต้นทุนการผลิตสินค้าทั่วโลก จะไม่ถูกเหมือนสมัยก่อน เราต้องยอมรับว่าเงินเฟ้อใน 4-5 ปีข้างหน้าจะสูงกว่าช่วงที่ผ่านมาคือก่อนโควิด-19 แต่ว่าการที่โลกไม่มีรายได้ คือคนเป็นหนี้ ไม่ได้ใช้จ่ายมากเหมือนสมัยก่อน เช่นก่อนปี 1970 คนเห็นว่าเรากำลังจะรวยกัน มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเต็มไปหมดเลย ทุกคนเจริญทางวัตถุมาก ก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังจะรวยกัน แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ คนมีหนี้สินมากกว่าสมัยปี 1970 เยอะมาก ดังนั้น จะไม่รุ่งเรืองเหมือนอย่างที่คิดกัน แต่ว่าเราก็จะเห็นว่าเงินเฟ้อช่วง 2-3 ไตรมาสนี้ก็จะสูงหน่อย
คนไทยต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร
ยังต้องประหยัดอยู่ คิดว่าในอนาคตคนไทยต้องระวังเรื่องการทำงาน เพราะโควิด-19 ยังไม่หายไปในช่วง 2-3 ปีนี้ ดังนั้น การเลือกงานต้องเลือกมากขึ้น ว่าจะเลือกที่ไหน เลือกสถานที่ใกล้บ้านหรือไม่ สถานที่โอ่โถง หรือที่เป็นคอนโดมิเนียม หรือเป็นอาคารสูง ต้องตัดสินใจมากกว่าแต่ก่อน ถ้าสามารถหาที่ทำงานใกล้บ้าน รายได้น้อยลงมานิดนึง แต่คุ้ม ก็อาจจะดีกว่า ตอนนี้ควรคิดเรื่องพวกนี้ไว้ว่างานแบบไหน ที่ไหน อะไรต่างๆ ควรจะเป็นอย่างไร ลูกหลานอยู่คอนโดมิเนียมหมด ควรมาอยู่ที่ราบดีกว่าไหม ตรงนี้เป็นโจทย์ใหม่ ที่ทุกคนต้องคิดถึงยุค New Normal อนาคตเราจะอยู่กันอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัย เพื่อไม่ให้ไปเสี่ยงมากจนเกินไป
รัฐบาลจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ผลจากเงินเฟ้อของโลกมากระทบเศรษฐกิจ-การเงิน
เชื่อว่ารัฐบาลเขาใช้นโยบายที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ คือเขาเทเงินอย่างเดียวเลย เขาไม่คิดเรื่องอื่นเลย คิดว่าประชาชนลำบากก็แจกเงิน โดยไม่คิดว่าสร้างการผลิตหรือไม่ มันเหมือนกับว่าขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน คิดว่านโยบายแบบนี้ จะสร้างภาระให้กับประชาชนระยะยาว ซึ่งรัฐบาลควรเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ ต้องเปลี่ยนอย่างมากๆ วิธีคิดในการพัฒนาก็ต้องเปลี่ยน การกำหนดโครงสร้างเศรษฐกิจไทยกำลังจะเป็นโจทย์ใหญ่ เราอาจจะไม่ใช่โจทย์เศรษฐกิจแบบว่า มุ่งไปพัฒนาเมือง รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อให้คนต่างประเทศมาเที่ยว ให้คนฮ่องกง คนจีนมาเที่ยว อันนี้ไม่ใช่โจทย์อนาคตแล้ว เป็นโจทย์ที่ผิด ที่เราคิดมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สร้างอินฟราสตักเจอร์มาเพื่อให้คนจีนมาเที่ยว สร้างอีอีซีเพื่อให้นักลงทุนจากฮ่องกงมาทำธุรกิจ โจทย์ต่อไปต้องไม่ใช่แบบนี้
Opmerkingen