top of page
379208.jpg

'ดร.ศุภวุฒิ' เตือนมิถุนายน เฮือกสุดท้ายธุรกิจเอกชน



Interview : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


ดร.ศุภวุฒิชี้...เงินไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-การเงินจากพิษโควิด-19 เม็ดเงินที่ภาครัฐ-แบงก์ชาติทุ่มเพื่ออุดหนุน ช่วยเหลือประชาชน ภาคธุรกิจ หรือนำไปซื้อบอนด์ครบอายุไถ่ถอน เป็นได้เพียงการซื้อเวลาแค่ชั่วครู่ชั่วยาม ตราบใดที่หยุดการแพร่ระบาดของโควิดไม่ได้ ภาคการผลิตจริง ภาคท่องเที่ยว บริการ ฯลฯ ยังหยุดนิ่งจากการ Lockdown ประเทศ เท่ากับเศรษฐกิจ-การเงินใกล้หมดลมเข้าสู่ Dead Zone ภาคเอกชนทั้งเล็กใหญ่เป็นตายเท่ากัน ชี้...สายป่านภาคเอกชนส่วนใหญ่อยู่ได้แค่เดือนมิถุนายน จากนั้นมีสิทธิ์ปลิดปลิวแบบใบไม้ร่วง แนะ...ควรทยอยปลดล็อก ผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศเดินเครื่องจักรการผลิต การค้า บริการ ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย ในกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ ควบคู่มาตรการทางการแพทย์ที่เคร่งครัด คุมเข้ม เพื่อให้เศรษฐกิจ-การเงินกระเตื้องแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่สะดุดหยุดนิ่งแบบที่เป็นอยู่ ส่วนการลงทุนในหุ้น ดูยากและสุ่มเสี่ยงเกินคาดเดา ที่แน่ๆ คือหุ้นหมวดบริการ ท่องเที่ยว การบิน หดตัวชัดเจนอย่างน้อย 1-2 ปี

เมื่อเทียบระหว่างวิกฤตต้มยำกุ้งกับโควิด ในมุมมองของอาจารย์อันไหนหนักกว่ากัน


อันนี้หนักกว่า....ถ้าจำได้อันนั้นเราขาดทุนสำรองระหว่างประเทศ ในตอนนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ แบงก์ชาติเตรียมปกป้องค่าเงินบาทและใช้ทุนสำรองจนหมด ต้องไปกู้ IMF เพราะเราขาดทุนสำรองระหว่างประเทศ ปัญหามันชัดว่าขาดเงินดอลลาร์ ซึ่งถ้า IMF เติมเงินให้ แน่นอนมีเงื่อนไข แต่ก็หาทางฟื้นเศรษฐกิจได้เพราะขาดเงินตรงนั้น

แต่ตอนนี้ปัญหาไม่ใช่เงิน ปัญหาตอนนี้คือเราปิดเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ไม่ได้ปิดหมดแต่เกือบหมดเพราะเราจะต่อสู้กับโรคโควิด-19 ตัวที่จะเป็นตัวชี้ว่าเปิดเศรษฐกิจได้หรือไม่คือการควบคุมการระบาดโควิด-19 ในเชิงนี้จะใช้เงินเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้ายังไม่ทำให้การระบาดของโรคนี้มันจบลง กลายเป็นว่าเรื่องโรคเป็นเรื่องหลักก่อน ถ้าชะลอการแพร่ขยายการติดเชื้อใหม่ไม่ได้ก็ไม่สามารถเปิดเศรษฐกิจได้ ในกรณีนั้นจะใช้เงินเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติหรือรัฐบาล ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหลัก

คนส่วนใหญ่จะถามผมว่ารัฐบาลใส่เงินไปเท่านี้เอาอยู่หรือยัง แบงก์ชาติใส่เงินเท่านี้พอหรือยัง พอไหมหมายถึงทำให้ GDP ไม่หยุดตกหรือยัง ซึ่งผมบอกเลยว่าใส่ยังไงก็ไม่มีทางพอ เพราะ GDP คือผลผลิตของเศรษฐกิจในเวลา 1 ปีหรือ 1 ไตรมาส พอคุณบอกว่าไม่ให้เศรษฐกิจผลิตอะไรหรือผลิตน้อยมาก GDP ก็ไม่โต คำถามเวลาแบงก์ชาติพิมพ์เงินเข้าไปแล้วทำไมไม่ช่วย ยกตัวอย่างง่ายๆ เราจะบอกว่าแบงก์ชาติใส่สภาพคล่องไปให้บริษัทกู้เงินไม่ว่าจะผ่านแบงก์ชาติ ซื้อบอนด์เพื่อให้บริษัทขายบอนด์เขาได้ เขาจะได้ไม่ค้างชำระหนี้ ซึ่งอันนั้นช่วยให้บริษัทอยู่รอด ช่วยให้บริษัทมีเงินจ่ายพนักงาน แต่ไม่ช่วยให้บริษัทผลิตสินค้าได้ โรงแรมที่ปิดก็ยังปิดอยู่ โรงงานก็ปิดอยู่ ภัตตาคารก็ปิดอยู่ เพราะฉะนั้นเงินที่ใส่เข้าไปเป็นการรักษาความเป็นอยู่ รักษาสถานะของบริษัท แต่ไม่ได้ทำให้บริษัทผลิต GDP คือเขาไม่ได้ผลิตสินค้าหรือบริการอย่างที่เคยทำ มันก็ไม่ช่วยอะไร

หรือมองอีกด้านสมมุติแบงก์ชาติพิมพ์เงินออกมาเยอะมากจนซื้อทุกทรัพย์สินในเศรษฐกิจไทย ก็ยังไม่ได้ทำให้ GDP โต เพราะ GDP จะโตหรือไม่ขึ้นอยู่กับเปิดโรงหนังได้หรือเปล่า คนตัดผมได้หรือเปล่า หมอฟันทำฟันได้หรือเปล่า เราบอกยังไม่ให้ทำ จึงไม่มีประโยชน์ ทำนองเดียวกันอย่างรัฐบาล เช่น ที่เห็นข่าวว่าทางสายการบินนำเสนอขอ Soft Loan จากรัฐบาลประมาณ 25,000 ล้านบาทรวมกันทั้งหมด ถ้ารัฐบาลไม่ให้เงินเขา ดีไม่ดีอยู่ไม่ได้หรือติดลบ พนักงานเขาตกงาน แต่ถ้ารัฐบาลให้เงินกู้เขาไป Soft Loan 2%ต่อปีแล้วใช้คืนภายใน 5 ปีอย่างที่เขาขอ ถามว่าบริษัทพวกนี้บริหารจัดการบินได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับโควิด-19 อยู่ดี ใส่เงินไปเท่าไหร่ถ้าไม่ให้เขาบินก็เหมือนเขาไม่ได้ทำอะไรเพราะเครื่องบินก็จอดอยู่อย่างนั้น พนักงานไม่ได้ทำอะไรเพราะไม่มีผู้โดยสาร ในกรณีแบบนี้รัฐบาลจะใส่เงินเท่าไหร่ บริษัทไหนขอ แล้วรัฐบาลให้เงิน ก็ไม่ช่วยอะไรเพราะสายการบิน บินไม่ได้

จะแก้ไขอะไรไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับโควิดอย่างเดียว

ใช่ จะต้องแก้โควิดอย่างเดียว ใส่เงินเท่าไหร่ จะกู้ จะพิมพ์เงินเท่าไหร่ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะตราบใดที่ให้ทุกคนอยู่บ้าน ลองนึกภาพ ใครจะผลิตสินค้าและบริการ


ไม่เห็นด้วยกับการล็อกประเทศอย่างนี้ใช่ไหม

ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย คือเข้าใจความจำเป็นที่จะต้องล็อกประเทศ แต่การล็อกประเทศมันมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงมากที่ไม่มีมาตรการอื่นมาเยียวยาได้ เวลาที่ล็อกประเทศต้องทำให้สั้นที่สุด เวลาล็อกประเทศที่ต้องใช้เวลาแก้ปัญหาต้องปลดล็อกให้เร็วที่สุด พูดง่ายๆ คือต้องชะลอการติดเชื้อของคนติดเชื้อให้น้อยที่สุด แล้วมีระบบควบคุมให้มั่นใจว่าเมื่อเปิดเศรษฐกิจบ้างแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่เพิ่มขึ้น เช่น ปัจจุบันเรามีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 30 ราย ภายใต้มาตรการปัจจุบัน สิ่งที่ท้าทายนโยบายคือ ทำอย่างไรเมื่อเปิดเศรษฐกิจบ้าง ร้านหลายๆ ร้านเปิดได้ บริการหลายๆ บริการเริ่มให้บริการได้แล้ว ยังสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละแค่ 30 คนเหมือนตอนนี้ คือเราต้องมีกระบวนการ มาตรการ มีแนวนโยบายอย่างไรที่จะสามารถตรวจสอบว่าใครติดเชื้ออย่างรวดเร็ว เมื่อตรวจสอบได้แล้วว่าคนที่เป็นคนนี้ใกล้ชิดกับใครบ้าง แล้วจับคนที่ใกล้ชิดทั้งหมดมาแยกตัวไป แล้วดูแลกลุ่มนี้ให้เขามีอาการดีขึ้น อาจจะมีประมาณ 20% ที่มีอาการไม่ดีต้องเข้าโรงพยาบาล ก็ต้องมีที่โรงพยาบาลที่เพียงพอ

ในความเห็นของผมสิ่งที่สำคัญที่สุดอันแรก คือระบบการคัดกรองการตรวจว่าใครเป็นโรคที่มีประสิทธิภาพสูงมาก หมายความว่าตรวจได้กว้างขวางและให้ผลค่อนข้างรวดเร็วเพื่อที่สามารถแยกผู้ป่วยผู้ติดเชื้อออกมาได้โดยเร็ว และต้องมีระบบสืบสวนติดตามที่ดีมาก บางคนเมื่อติดเชื้อแล้วเขาใกล้ชิดกับใครบ้าง แล้วรีบรวบคนทั้งกลุ่มนั้นแยกออกมา ถ้าทำตรงนั้นได้ในที่สุดจะสามารถคุมผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแต่ละวันให้มีน้อยที่สุด และให้แน่ใจว่ามีผู้ป่วยมีจำนวนไม่มากจนกระทั่งระบบสาธารณสุขรับไม่ได้ อย่างนั้นจะไม่ทำให้สามารถเปิดเศรษฐกิจต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ทุกอย่างจะกลับมาที่ตรงนี้

ในมุมที่สมมุติถ้ายังไม่ปลดล็อก ยังต้องอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ประเทศไทยจะมีสภาพแบบไหน การถดถอยจะมากอย่างที่เคยพูดว่าถดถอยหดมากกว่าใครเขาหรือเปล่า

ต้องถามว่าที่จะให้ Lockdown ต่อไปคือทำไม วัตถุประสงค์ของการ Lockdown คืออะไรที่จะบอกว่าให้ Lockdown แบบนี้ คือควรต้องรู้ว่าทำไปถึงจุดไหนถึงจะพอใจ

เขาบอกว่าถ้าไม่ล็อกก็กลัวเชื้อระบาด


ตอนนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่วันละ 30 คน ส่วนใหญ่ 30 คน ตามที่ผมเห็นตัวเลขคนที่ติดเชื้ออยู่ใน 9 จังหวัด ส่วนในอีกประมาณ 60-70 จังหวัดมีคนติดเชื้อประปรายมาก บางจังหวัดไม่มีติดเชื้อใหม่มา 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมาคือ Lockdown เขาทั้งหมด ทั้งที่จริงๆ มีแค่ 9 จังหวัดเท่านั้นเองที่มีการติดเชื้อ

กลับมาที่คำถามว่าการค่อยๆ เปิดเศรษฐกิจไม่ต้องเปิดพร้อมกันได้ไหม บางจังหวัดที่เขาควบคุมอยู่แล้วก็เปิดให้เขาได้ คือเปิดให้มาใช้ชีวิตปกติหน่อย เศรษฐกิจเขาจะได้ผลิต GDP ผลิตสินค้าบริการได้ ไม่อย่างนั้นเขาจะเอารายได้มาจากไหน แล้วถ้ายัง Lockdown ต่อไปเศรษฐกิจจะเป็นยังไง อันนี้ถ้าจำได้ทั้ง 3 สมาคม สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคาร เขาบอกแล้วถ้าล็อกไปถึงมิถุนายนจะมีผู้ว่างงานประมาณ 7 ล้านคน และถ้าเลยไปกว่านั้นก็จะมีมากกว่านั้นอีก แล้วถึงตอนนั้นดีไม่ดีบริษัทใหญ่ๆ ก็อาจเอาไม่อยู่ ก็ต้องปิดตัวไปด้วย

เห็นแล้วว่าเริ่มมีบริษัทใหญ่ๆ ทยอยปิดกิจการไป

ใช่ เพราะฉะนั้นมันเป็นคำตอบว่าภาคเอกชนเขาบอกแล้วเศรษฐกิจไทยมีสายป่านได้อย่างมากสุดแค่เดือนมิถุนายน

มาตรการต่างๆ ของทั้งภาครัฐและแบงก์ชาติออกมาเยียวยาเป็นชุดๆ ชุดที่ 3 บอกว่าให้กู้เงินแล้วให้แบงก์ชาติอุ้มตราสารหนี้นอกจาก Soft Loan อันนี้ไม่ช่วยใช่ไหม

ลองนึกภาพว่าแบงก์ชาติตั้งกองทุนเพื่อที่จะร่วมกันไปซื้อพันธบัตรที่เขาไปขายกับคนอื่นได้ไม่ครบ ตามข่าวที่บอกมาสมมุติว่าผมจะขายพันธบัตร ผมเป็นบริษัทและหลายบริษัทออกพันธบัตร คือ เขากู้เงินโดยออกพันธบัตร พอพันธบัตรจะครบอายุก็ต้องคืน แต่สภาวะแบบนี้คืนเงินไม่ได้เพราะบริษัทถูกปิด เพราะทำธุรกิจไม่มีรายได้ พอเป็นแบบนี้ พอมีบอนด์ที่ครบอายุ 1,000 ล้านบาท ซึ่งปกติแต่ก่อนบอนด์ของบริษัทใครๆ ก็ซื้อเพราะบริษัททำธุรกิจได้ แต่ตอนนี้เขารู้กันว่าไม่มีใครซื้อบ้าน ไม่ซื้อคอนโดฯ ก็เลยไม่ซื้อบอนด์ของเขา แบงก์ชาติเลยตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเผื่อหาคนมาซื้อบอนด์ได้ 500 ล้าน และขาดอีกครึ่งแบงก์ชาติหาเงินมาให้ส่วนที่เหลืออีก 500 ล้านบาท ความตั้งใจเป็นอย่างนั้น

สมมุติเมื่อซื้อบอนด์ไปเขาออกบอนด์ได้ 6 เดือน แปลว่าเขารอดจากการเป็นบริษัทที่ไม่จ่ายคืนหนี้ เขาก็ไม่ถูกเจ้าหนี้ฟ้อง ไม่ถูกเจ้าหนี้ยึด ยังเป็นธุรกิจได้ มีเงินจ่ายพนักงาน นั่นคือความตั้งใจ แต่ถามว่าบริษัทที่ออกบอนด์นั้นขายบ้านได้ไหม จะขายก็ขายไม่ได้ สร้างบ้านใหม่ก็ไม่ได้เพราะโควิด-19 เพราะฉะนั้นต่อให้ใส่เงินอันนี้เท่าไหร่ ตราบใดที่ไม่สามารถให้เขาทำธุรกิจได้ มันก็แค่รักษาความเป็นเจ้าของสถานะเดิมเขาเท่านั้น ดีไม่ดีรักษาได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ขึ้นอยู่กับความยาวของการปิดเศรษฐกิจ ถ้าปิดเศรษฐกิจยาวมากๆ แบงก์อาจจะเรียกเงินคืนก็ได้เพราะไม่ได้กู้บอนด์อย่างเดียว เขาอาจกู้ผ่านแบงก์ด้วยก็ได้ เงินก็ร่อยหรอไปเรื่อยๆ ก็ต้องปิดบริษัทอยู่ดี


แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าที่เขามีปัญหาเพราะเศรษฐกิจปิด มันขายของขายบริการไม่ได้ รัฐบาลจะใส่เท่าไหร่มันก็แค่รักษาความเป็นเจ้าของ แค่ให้เขาพอจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์หลัก เพราะเศรษฐกิจของคุณ บริษัทของคุณ ธุรกิจถูกกระทบอย่างรุนแรงเพราะโควิด-19

แล้วการกู้เงินในส่วนของกระทรวงการคลังสำหรับรองรับมาตรการเยียวยาโควิด 1 ล้านล้านบาท


หลักการเหมือนกัน แล้วแต่คลังจะเอาเงินไปใช้อะไร ยกตัวอย่างอย่างสายการบินที่เข้าใจว่าทำจดหมายไปถึงกระทรวงการคลัง ขอให้คลังปล่อยกู้ให้เขา 25,000 ล้านบาท ไม่อย่างนั้นเขาไม่ไหวแล้ว สมมุติคลังทำตาม จะช่วย 25,000 ล้านบาท สิ่งที่คลังจะทำก็คือต้องออกพันธบัตรให้ประชาชนซื้อ 25,000 ล้านบาท แล้วเอาเงินนี้ไปปล่อยกู้ตรงให้สายการบิน เพราะรับรองว่าไม่มีใครปล่อยกู้ให้สายการบิน ไม่มีธนาคารไหนปล่อยกู้ให้ สายการบินออกบอนด์ไปก็ไม่มีใครซื้อ ฉะนั้น คลังก็ต้องเป็นคนปล่อยกู้ โดยคลังต้องไปหาเงินมาจากผู้ที่พร้อมซื้อพันธบัตรรัฐบาล แล้วเอาเงินนี้ไปให้สายการบิน แต่ก็ไม่ตอบโจทย์ปัญหาหลักอย่างที่ผมบอก ปัญหาหลักคือสายการบินพวกนี้ร่อแร่ๆ ตราบใดที่บินไม่ได้เพราะเรื่องโควิด-19 กู้ไปก็อยู่ไปเหมือนไร้ซัพพอร์ต

การแก้ปัญหานโยบายการคลัง นโยบายการเงินทั้งหมด อาจมาไม่ถูกทาง

มันแก้ไม่ได้ ปัญหาเพราะโควิด-19 ปัญหาอยู่ที่คุณผลิตสินค้าและบริการไม่ได้ สมมุติผมเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ ตอนนี้ผมเปิดไม่ได้ ใครจะให้ผมกู้ ให้กู้มากเท่าไหร่ผมก็เปิดโรงภาพยนตร์ไม่ได้ แล้วจะให้ผมทำยังไง สมมุติถ้าไม่มีใครปล่อยกู้ สักวันผมก็ต้องปิดโรงภาพยนตร์ ก็ต้องให้พนักงานออกไป แล้วขายโรงหนังไปทำอย่างอื่น


รัฐพยายามเข้าไปช่วยเหลือกิจการและประชาชนที่เดือดร้อนโดยการอุดหนุนเงิน เช่นให้ Soft Loan หรือให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ระยะเวลาผ่อนยาว มีการพักดอกเบี้ยเงินต้น อันนี้จะช่วยได้ไหม

ช่วยได้ในระดับนึง ปัญหาหลักคือเราไม่ยอมให้บริษัทเขาเปิดทำตามปกติ ที่เราให้ Soft Loan หรือผ่อนผันเกณฑ์ต่างๆ ก็เพื่อให้บริษัทนั้นคงสถานะเอาไว้ ถ้าสมมุติว่าไม่ช่วยเขา ผ่อนปรนเขา บริษัทก็ถูกเจ้าหนี้ยึด เมื่อเจ้าหนี้ยึดไปแล้วเจ้าของเดิมก็ไม่อยู่ ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจเปิดเจ้าหนี้ก็บริหารไม่เป็นหรอก การฟื้นเศรษฐกิจก็จะช้ามาก

สิ่งที่ต้องถามคือจะปิดเศรษฐกิจนานเท่าไหร่ ถ้าปิดสั้นๆ เราจะได้สร้างมาตรการกำหนดได้ถูกต้อง พอให้ธุรกิจรักษาสถานะเขาไว้ ถึงเวลาเปิดก็จะได้กลับมาเปิดใหม่ อันที่ 2 ประเด็นอยู่ที่ว่าเราต้องยอมรับว่าเราต้องอยู่กับโรคนี้ไปสัก 1 ปี หลังจาก 1 ปีโลกเราถึงสามารถผลิตวัคซีนมาป้องกันสร้างภูมิคุ้มกันได้ สมมุติว่าสักมิถุนายนปีหน้า คำถามคือช่วง 1 ปีนี้จะทำยังไง ถ้าจะเปิดเศรษฐกิจทั้งๆ ที่ไม่มียารักษาโรคโควิด-19 จะทำยังไง อย่างที่ทราบเราใช้มาตรการทุกอย่างที่ชะลอการติดเชื้อให้เพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ในการดูแต่ละจังหวัด อันนี้ผมเห็นเอกสารที่ทำอย่างไม่เป็นทางการโดยคุณหมอนักวิชาการ 7 คน คุณหมอที่เป็นอดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขอีก 7 คนรวม 14 ท่าน ท่านทำเอกสารมีสาระสำคัญมากในภาคผนวก 2 ที่พูดถึงความสามารถด้านสาธารณสุขแต่ละจังหวัดที่คุมโควิดได้ว่าหน้าตาเป็นยังไงบ้าง เช่น บอกว่าต้องมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อในจังหวัดเอง ต้องมีการตรวจแบบ antibody ด้วย และให้รู้ผลในวันเดียวกัน นี่คือลักษณะที่ถ้ามีพวกนี้แล้วจะสามารถเปิดเศรษฐกิจได้ แน่นอนต้องมีระบบการเฝ้าระวัง มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยเป็นรายวัน สุ่มตรวจเชื้อโควิดในประชากรกลุ่มที่เปราะบาง เช่น เรือนจำ กลุ่มแรงงานอพยพ และมีทีมสอบสวนอำเภอว่าเมื่อเจอคนติดโรคแล้วเขาเคยว่าไปสัมผัสกับใครบ้าง มีการแยกทีม มีหอพักเฝ้าสังเกต ควรจะมีที่กักกันได้ 200 คน การรักษาต้องมีหอพักผู้ป่วยโควิดที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 100 คน มีคนคิดหมดแล้ว ผมไม่ได้คิดเอง ถ้าแต่ละจังหวัดมีแบบนี้แล้วควบคุมจำนวนคนติดเชื้อไม่ให้เพิ่มมาก ก็จะสามารถผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ได้

ในกรณีที่ผ่อนคลายต้องไปไล่ดูว่าบริษัทต่างๆ มีลักษณะไหนบ้าง เช่น มี 4 ลักษณะ 1. ความหนาแน่นที่มาร่วมมีเยอะไหม 2. ระยะเวลาที่มาทำงานใช้นานไหม 3. กิจกรรมคนที่ทำ ร้อง เชียร์ อันนี้อันตรายสูง น้ำลายออกมาเยอะแยะ 4. ระบบระบายอากาศเป็นอย่างไร เป็นที่คับแคบหรือเปล่า เช่น รถเมล์ หรือเป็นที่โล่งอากาศจะได้ถ่ายเทได้ดี เขาให้เปรียบเทียบดูเงื่อนไขว่าลักษณะความเสี่ยงของธุรกิจมีมาก ปานกลาง หรือ น้อย ใน 4 ประเด็นนี้ยังไง สมมุติธุรกิจมีความเสี่ยงต่ำกว่า 4 ข้อก็เปิดให้เขาทำงาน ใช้เวลาไม่มาก กิจกรรมที่ทำก็ไม่ต้องมา ระบายอากาศก็ระบายภายนอก ก็ให้เปิดได้ เช่น สวนสาธารณะ ขอให้คนวิ่งห่างกัน 2 เมตร ก็จะเข้าเงื่อนไขหมด ก็มีแนวคิดของผู้ที่คิดอยู่ว่าจะมีแนวทางในการเปิดแต่ละจังหวัดอย่างไร เปิดธุรกิจแบบไหน พวกเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร มีระบบรายงานต่างๆ

ในเชิงเศรษฐกิจผลกระทบที่จะทำให้คนเราปรับตัว นักลงทุนในตลาดหุ้นก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน คิดว่านักลงทุนต้องปรับตัวอย่างไร ทางรอดของนักลงทุนควรทำอย่างไร

อันนี้คิดยากกว่าเยอะ ต้องถามตัวเองว่าโรคนี้อีก 1 ปีจะมียารักษาจริงๆ หรือเปล่า สมมุติท่านมั่นใจว่าเดี๋ยวจะมียาวัคซีนภายใน 1 ปี ทุกอย่างกลับมา 100% เหมือนเดิม อย่างนั้นท่านก็ไปไล่ซื้อหุ้นของบริษัทที่ตกไปเยอะๆ ที่คนคิดว่าจะไม่ฟื้น แต่สมมุติว่าไม่เป็นอย่างนั้นสมมุติคนกลัวโรคโควิดไปอีกนาน อีก 2-3 ปี สมมุติวัคซีนมีหรือไม่มีก็ไม่รู้ แล้ววัคซีนมีผลข้างเคียงสูง บางคนยอมฉีดบางคนไม่ยอม

ยกตัวอย่างเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก่อนโควิดเรามีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาไทย 40 ล้านคนใน 1 ปี เราคาดการณ์เราจะโตปีละ 5% คือ ปีละ 2 ล้านคน มาปีนี้ดีไม่ดี 15 ล้านคนยังไม่ได้เลย แล้วคำถามถ้าปีหน้าฐานใหม่อยู่ที่ 20 ล้านคนแล้วโตปีละแค่ 2% ก็ไม่กี่หมื่นคน ตอนนั้นเราต้องบอกว่าอุตสาหกรรมนี้ซึ่งเดิมมีสายการบินเยอะแยะ มีโรงแรมเยอะแยะ จะต้องล้มหายตายจากไปประมาณ 30% ก็ต้องมองธุรกิจนี้อีกด้านนึงว่าต้องดูหุ้นใครอยู่ได้หรือไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมนี้จะเล็กลงไปเยอะเลยจากเดิมที่มีนักท่องเที่ยว 40 ล้าน เหลืออยู่แค่ 20 ล้าน อุตสาหกรรมนี้จะต้องหดตัวลงไป

อยู่โดยถือเงินสดไว้ดีที่สุด

ต้องติดตามข้อมูลและในใจสามารถฟันธงได้ว่าโรคโควิด-19 จะหายเป็นปลิดทิ้งภายใน 12 เดือนหรือจะลากไปอีก 2-3 ปี ประเด็นแนวคิดการตัดสินใจลงทุนเรื่องหุ้นจะต่างกันมากเลย เช่น คุณคิดว่าจะออกมาเป็นหัวหรือก้อย หัวคืออีก 1 ปีจบทุกอย่าง ถ้าไม่จบก็ต้องคิดอีกแบบนึงว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ 12% GDP ต่อไปจะกลับมาเหลือ 6%ของ GDP

มีเขียนหนังสือทางรอดวิกฤตโควิดด้วย

อันนั้นเป็นทางรอดของตัวเราเอง ส่วนใหญ่เขียนในตัวเราเองเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นโควิด-19 อันนั้นเขียนในเชิงปฏิบัติของตัวเราเองมากกว่า เช่น ความเสี่ยงถ้าอายุเกิน 70 โอกาสที่คุณจะเสียชีวิตจากโควิด 14% แต่คนอายุน้อยอย่านึกว่าตัวเองปลอดภัยเพราะถ้าอายุน้อยแต่มีโรคประจำตัว เช่น ความดัน หัวใจ เบาหวาน ปอด ความเสี่ยงก็สูงเหมือนกัน

ติดตามได้ทางไหนได้บ้าง

เข้าไปในเว็บไซต์เกียรตินาคินภัทร เราให้ดาวน์โหลดฟรี หรือจะไปเอาหนังสือก็แจกฟรีเช่นกันครับ

73 views

Comments


bottom of page