top of page
379208.jpg

สัญญาณลบชัดเจน...ส่งออกไทยแผ่ว


ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย แจงผู้ส่งออกไทยหลังชนฝา ปัญหา-อุปสรรคมากมายเป็นเครื่องพันธนาการที่ฉุดให้กระดิกกระเดี้ยลำบาก คาดส่งออกปี 66 อย่างเก่งโตแค่ 1-2% สัญญาณลบชัดเจนมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 65 ข้ามมาปี 66 ทุกปัญหายังคืบคลานต่อเนื่อง ทั้งเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างยุโรป อเมริกา จีน ที่ยังไม่ดีขึ้น ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ทำให้ต้นทุนพลังงานน้ำมัน ค่าไฟ เพิ่มพรวด ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 14-15% ซึ่งยากในการแข่งขันด้านราคา ล่าสุด กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นทันทีในภาวะที่กู้ยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนค่าแรงก็ปรับสูงขึ้น แนะ...คาถาสำคัญของผู้ส่งออกในวันนี้คือรักษาตัวรอดเป็นยอดดี ต้องลดต้นทุน ลดสต็อก และให้มองว่าคู่ค้าทุกรายล้วนมีความเสี่ยง ทุกครั้งที่รับออร์เดอร์ต้องขอเงินดาวน์อย่างน้อย 30% ติดปลายนวมกันเหนียว พร้อมส่งสัญญาณ SOS ให้ภาครัฐเร่งดูแลเรื่องค่าเงินบาท ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน เร่งแก้หนี้ควบคู่กับการเติมเงินให้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ในภาวะน่าชื่นอกตรมเช่นทุกวันนี้


สรุปการส่งออกปี 2565 แผ่วลงตอนท้ายปี ส่งผลต่อจีดีพีเหลือ 3%

จะมี 3 ประเด็นหลัก ซึ่งปีที่แล้วตั้งต้นด้วยดี แต่ช่วงหลังแผ่ว ซึ่งส่งออกไตรมาสสี่ปีที่แล้วก็ติดลบ โดยเฉพาะเดือนธันวาคมติดลบไป 14.6% และการค้าปลีกก็ติดลบไป 8.5% ซึ่งจะมี 3 ปัจจัย คือ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป และคำสั่งซื้อในอเมริกาเรื่องของการผลิตก็เริ่มชะลอตัวลงช่วงไตรมาสสี่อย่างเห็นได้ชัด 2. ช่วงไตรมาสสี่ หรือปีที่แล้วทั้งปี จีนที่เป็นคู่ค้าของพวกเราในการส่งออก ยังอยู่ในช่วงล็อกดาวน์จากมาตรการซีโร่โควิด ส่งผลให้สินค้าต่างๆ ที่ไปจีนติดลบเลย แล้วก็ทำให้การส่งออกไปจีนของเราในปี 2565 น้อยกว่าปี 2564 โดยติดลบไป 7.7% ส่วนเรื่องที่ 3 เราก็เห็นแล้วว่าในแง่การส่งออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ ถึงแม้ว่าปี 2564 คือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีการส่งออกในเดือนธันวาคมเยอะ และในปี 2565 อย่าลืมว่าเมื่อช่วงต้นปีเราขาดแคลนชิป และถึงแม้จะคลี่คลายลงช่วงปลายปี แต่ก็ไม่ทันกาล ประกอบกับเรื่องของเศรษฐกิจก็ยังไม่ดี เรื่องระบบ เรื่องการจัดส่งโลจิสติกส์ก็ยังไม่ค่อยดี ฉะนั้นเลยทำให้ การส่งออกรถยนต์ในปี 2565 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีการติดลบถึง 2.7% ทั้งหมด ทำให้ตัวเลขต่ำกว่าการคาดการณ์ไปเยอะ จากเดิมที่ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาดว่าจะอยู่ประมาณ 6-6.5% แต่ในความจริงมีการเติบโต 5.5% ถือว่าดีสุดในรอบหลายปี นำเงินตราเข้าไทย 9.9 ล้านล้านบาท ยังถือว่าสอบผ่านอยู่


คาดการณ์ปี 2566 อย่างไร

ต้องเล่าความจริงก่อนว่า ถ้าถามว่าเรื่องของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จีดีพี เรื่องของการใช้จ่ายในต่างประเทศดีขึ้นหรือไม่ ก็ตอบว่าเรื่องของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง เรื่องต่อมาถ้าดูเรื่องสงครามรัสเซียยูเครน พวกปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน เหล่านี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิม นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่าเกมนี้คงยาว และคิดว่าเป็นตัวผลักดันทำให้พวกค่าพลังงานแพงขึ้น และมีผลต่อค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการไทยที่สูงขึ้นมาก

อีกเรื่องคือปัจจัยสอดแทรกและเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก คือเรื่องค่าเงินบาท จากเดิมที่เรายังยิ้มออกหรือเป็นแรงบวกในช่วงไตรมาสสาม จากเดิมที่ 38 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ที่เคยให้สัมภาษณ์ตอนนั้นยังบอกว่าจะถึง 40 บาท แต่ในความจริงหลังจากนั้นค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าที่เคยคาดการณ์ ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 32.5 บาท ก็ต้องบอกว่าพวกเราชาวส่งออกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับค่าเงินบาท ซึ่ง 32.5 บาท ทำให้เราแพ้คู่แข่งถึงประมาณ 7-10% แล้ว และต่ำกว่า 38 มา 32.5 มาประมาณ 14-15% แล้ว ตรงนี้ต้องแก้ไขแล้ว

ส่วนเรื่องสุดท้าย คือเราเห็นแล้วว่าถึงแม้เราจะพบสภาพในเรื่องของที่เราเรียกว่าปัจจัยลบเยอะแยะไปหมด แต่เราก็มีปัจจัยบวกบ้างคือเราพยายามหวังว่าหลังจากตรุษจีน ทางจีนน่าจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะเดียวกัน เราก็ส่งออกไปหาเขาเยอะ หลายสินค้า ก็น่าจะได้อานิสงส์อะไรบ้างในช่วงไตรมาสสองหรือช่วงครึ่งปีหลัง คือว่าก็ยังเห็นเศรษฐกิจบางประเทศอย่างตะวันออกกลางก็ยังมีการเติบโตด้วยดี ปีที่แล้วเราก็ส่งออกไปตะวันออกกลางซึ่งมีการเติบโตถึง 23%

ส่วนตัวยังมองอีกเรื่องหนึ่งคิดว่าน่าจะพอยิ้มได้ คือเรื่องของอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตรของเรา ก็น่าจะไปกันต่อได้ในปีนี้ แต่ก็ยังเป็นห่วงอุตสาหกรรมด้านอาหารและเกษตรบ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งค่าเงินบาทแข็งอย่างนี้เขาเรียกว่าในโอกาสก็มีอุปสรรคเยอะ


เคยฟังคุณชัยชาญให้สัมภาษณ์ ร้องขอไปยังแบงก์ชาติกับ กนง.ว่าอย่าเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยได้หรือไม่ ขณะที่ตอนนี้ก็ขึ้นมาเรียบร้อยจาก 1.25% เป็น 1.50%

ตอนนี้ต้องบอกว่าครบทุกองค์ประกอบของเครื่องพันธนาการ เพราะเครื่องพันธนาการต่างๆ ที่ฉุดพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงาน ค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงการชะลอตัวของลูกค้ารายใหญ่ของเราที่อยู่ในอเมริกา ยุโรป และในเรื่องของค่าเงินด้วย เราก็เข้าใจ แต่ละฝ่ายก็พยายามอย่างเต็มที่ แต่ในท้ายที่สุดก็มีการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น ก็ต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายทางด้านการเงินกันให้ดี ซึ่งผู้ประกอบการต้องรับภาระตรงนี้ด้วย และก็อย่าลืมว่าเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วค่าแรงก็ขึ้นมาแล้ว ฉะนั้น ต้นทุนในกระดานของพวกเราครบทุกคำตอบแล้ว

ถามว่าเราจะต้องแข่งกับใคร แข่งกับลูกค้าในต่างประเทศ ตอนนี้เขาก็ถือค่าเงินเหนือกว่าเรา ดังนั้น ที่สำคัญที่สุดคือผู้ประกอบการไทยต้องลดต้นทุน ถือว่าเป็นคาถาที่ต้องท่องทุกวันก็แล้วกัน

ส่วนเรื่องต่อมายังมองเห็นว่าตลาดใหม่ก็น่าจะยังพอเรียกราคาได้ สามารถสร้างตราสินค้าอะไรของพวกเราได้ เช่นตลาดตะวันออกกลาง แต่ก็ไม่ใช่บอกว่าทุกอย่างจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ก็มีคู่แข่ง แต่เราคิดว่าถ้าเราเข้าไปก่อน แล้วรีบบุก เพราะช่วงรอมฎอนปีนี้มาเร็วคือวันที่ 22 มีนาคม ดังนั้น ช่วงนี้ต้องรีบวิ่งแล้ว รีบขายไปที่ตะวันออกกลาง เพราะเดี๋ยวเขาจะหยุดรับแล้ว

คราวนี้อีกเรื่องหนึ่ง เราต้องเตรียมในเรื่องของสภาพคล่องดีๆ เพราะเราไม่รู้ว่าลูกค้าอาจจะมีการยืดชำระหนี้หรือไม่ และค่าต้นทุนอะไรต่างๆ ก็สูงขึ้น ฉะนั้นเราก็ต้องเร่งปรับมือ

ส่วนข้อสุดท้าย ในเรื่องการคำนวณราคาสินค้า เพราะตอนนี้ค่าเงินบาทแข็ง ต้องระวังดีๆ และกว่าจะรับเงินเข้ามามันไม่ใช่ส่งแล้วได้เงิน กว่าจะได้เงินต้อง 60 วัน ก็ต้องประกันความเสี่ยงตรงนี้กับสถาบันการเงินด้วย ก็ต้องลองไปศึกษาดู ไม่ว่าจะเป็นเอ็กซิมแบงก์หรือธนาคารทั่วไป


ตลาดในต่างประเทศที่คิดว่ามีความเสี่ยงมากมีที่ไหนบ้าง

ส่วนตัวมองว่าทุกตลาดในตอนนี้ ส่วนตัวไม่เคยเลือกปฏิบัติ วินาทีนี้ตอบยาก เพราะทุกคนต้องเอาตัวรอด ทุกคนก็ต้องดูเรื่องสภาพคล่องของตัวเขาเอง ฉะนั้น คือถ้าสต็อกเขาเต็ม อย่างเช่นเมื่อปลายปีที่แล้วที่มีการลดคำสั่งซื้อคือสต็อกมันเยอะ เยอะกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น เขาอาจชะลอการส่งมอบ พอชะลอ จะเกิดอะไร เขาอาจลดปริมาณ เขาอาจจะเลื่อนการส่งมอบจากเดือนมกราคมไปอีกสองเดือน ก็ต้องระวัง ฉะนั้นเวลารับออร์เดอร์คือ 1. เอาเงินไว้ชัวร์ก่อนดีไหมบางส่วน เขาเรียกว่า Down Payment คือรับเงินลูกค้ามาก่อนสักนิดสัก 30% เผื่อเขาเปลี่ยนใจ ซึ่งช่วงนี้เขาอาจเปลี่ยนใจง่าย เพราะไม่มีใครตอบได้เรื่องสถานการณ์ 2. สมมติเราผลิตสินค้าครบแล้ว และเราส่งมอบไป ก็ต้องมั่นใจว่าเราจะได้รับเงินแน่นอน ไม่ว่าจะส่งไปยังลูกค้าประจำหรือลูกค้าอะไรก็ตาม ณ วินาทีนี้ ทุกคนต้องระมัดระวังดีๆ


กลุ่มทำธุรกิจแพ็กเกจจิ้งเขาบอกว่ามีรองเท้ากีฬายี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง สต็อกล้นเพราะขายไม่ออก คิดเป็นมูลค่า 1 แสนล้านเหรียญ ซึ่งจะเอามาโละสต็อกขายราคาถูกก็ไม่ได้ ดังนั้น มองกลับมาบ้านเรา แนะนำหน่อยว่า สินค้าอะไรไม่ควรไปสต็อกเยอะ

เพราะอะไรรู้หรือไม่ เพราะสินค้าของพวกเราผู้ส่งออกนั้น เราเป็นสินค้ารับจ้างสั่งทำ หมายความว่าเราไม่มีตราสินค้าของเรา ดังนั้น ถ้าเราซื้อวัตถุดิบมา แล้วเรามาผลิต ลูกค้าไม่เอา จะทำอย่างไร ขายไม่ได้เลย ติดลิขสิทธิ์ เขาให้ทำลายอย่างเดียวเลย และหากเราเตรียมกำลังการผลิตไว้แล้ว และเขาไม่เอา เราก็เจ๊ง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องระวัง ซึ่งจะมีสินค้าพวกชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ พวกเสื้อผ้ากีฬา

ถามว่าทำไมถึงสต็อกเยอะ ต้องบอกว่าใครจะไปรู้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นแบบนี้ ดังนั้น ต้องระมัดระวังไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ารับจ้างสั่งทำหรือที่เรียกว่า OEM แต่ถ้าอันไหนเป็นตราสินค้าของเรา พอลูกค้าต่างประเทศไม่เอา เราก็ส่งขายในภูมิภาคนี้ได้ ตรงนี้ก็ปรับได้ แต่ส่วนใหญ่เท่าที่ทราบก็คือว่ามากกว่า 70% ของเราเป็นพวกรับจ้างสั่งทำ ขณะที่สินค้าอาหารบางตัว ก็รับจ้างสั่งทำให้กับตราสินค้าของคู่ค้าในต่างประเทศ ตรงนี้ถามว่า ถ้าผลิตแล้วเก็บไว้ในโกดัง แล้วจะทำอย่างไรต่อ ก็ต้องทำลายอย่างเดียว เพราะอาหารมีอายุการเก็บด้วย และค่าเก็บแพง ขณะที่ภาคผู้ประกอบการก็ต้องท่องคาถารักษาตัวรอดเป็นยอดดี


อยากให้ทางการเข้ามาช่วยอะไรบ้าง

เรื่องค่าเงินนั้น ส่วนตัวจะไม่พูด เพราะเดี๋ยวเป็นการแทรกแซง ซึ่งทุกฝ่ายเขาก็ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว แต่ตรงนี้ถ้าเป็นฝันที่เป็นจริงได้ก็ต้องช่วยกันดูหน่อยว่าค่าเงินบาทของเรามันแข็งค่าเกินไปแล้ว และเป็นห่วงเรื่องสินค้าเกษตรที่จะออกมาช่วงไตรมาสหนึ่งและสองจำนวนมาก ซึ่งก็ทราบว่ากำลังแก้ไขกันอยู่ แต่หลายเรื่องเราถือว่าไม่ใช่เป็นข้อเสนอ เขาเรียกว่าขอความร่วมมือ

เรื่องที่สองคือเรื่องพวกค่าไฟที่กำลังจะมีการประชุมเพื่อกำหนดในช่วงไตรมาสที่สอง ส่วนตัวมองว่าถ้าคงที่ได้จะดีที่สุด หรือไม่ถ้าจะให้ดีกว่านั้นคือลดลงเลย เพราะตอนนี้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น ดังนั้นเวลาค่าใช้จ่ายในการนำเข้าก็น่าจะลดลง

ส่วนเรื่องที่สามคือเน้นของค่าพลังงาน ค่าน้ำมันที่ดีเซลตรึงราคากันไว้ ถ้าตรึงต่อไปได้ หรือว่าลดลงได้ ตรงนี้สุดยอด

ถัดมาคือตอนนี้ทางเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์ทำอยู่แล้ว เราจับมือกันอย่างเข้มแข็งมาก อย่างการไปบุกตลาดที่ตะวันออกกลางเพิ่มเติมแล้ว ตรงนี้มองว่าต้องหาตลาดที่ยังมีศักยภาพอยู่ เช่นตะวันออกกลาง หรือในภูมิภาคเราเอง หากินใกล้หน่อย CLMV

ส่วนเรื่องต่อมาที่จะขอรัฐบาลคือตอนนี้ทางกระทรวงการคลังกับเอกชนเขาทำงานร่วมกันอยู่ในเรื่องโครงการแก้หนี้ ตรงนี้สำคัญมากกับลูกค้าเอสเอ็มอี เพราะดอกเบี้ยก็สูง หาเงินก็ยาก ส่วนตัวมองว่ารัฐเอกชนตอนนี้ทำงานใกล้ชิดกันมาก ถือว่าเราจะต้องข้ามอุปสรรคนี้ไปให้ได้ เพราะไตรมาสที่หนึ่ง ยังอยู่ในภาวะหน้าชื่นอกตรมอยู่อย่างนี้ ซึ่งก็ต้องไปให้ได้ เราก็ต้องรอลุ้นในไตรมาสสอง


สงครามรัสเซียยูเครน มาถึงขณะนี้มองอย่างไร

มองความจริงอย่างหนึ่ง ตอนนี้ก็ผ่านมาเกือบหนึ่งปี เราก็อยู่กับความกดดันมาเยอะ ทั้งราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน ซึ่งผู้ประกอบการก็พอจัดการได้ แต่ขออย่างเดียวคืออย่าให้รุนแรงไปมากกว่านี้ ถ้าใช้ความรุนแรงที่หนักหน่วงขึ้น ขยายวง อย่างนี้น่ากลัว เพราะจะมีผลทำให้ตัวเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะยุโรปยิ่งน่าเป็นห่วง

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง มีความโชคดีอย่าง ได้ข่าวดีก็คือว่าเอฟทีเอไทยอียูเริ่มตกผลึกแล้ว ตรงนี้จะช่วยผู้ประกอบการ คือในอุปสรรคก็จะมีโอกาสบ้าง ถ้าเราผ่านไตรมาสหนึ่งไปได้ เราก็น่าจะเห็นโอกาสที่ดีขึ้นในไตรมาสสอง หากไม่มีความรุนแรงมากขึ้นจากสงคราม พวกเราก็ยังพอบริหารจัดการเรื่องส่งออกได้ คิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ แล้วไม่มีปัจจัยใดเพิ่มเติม ปีนี้เราก็ยังคาดการณ์จะเติบโตได้ 1-2% เพราะเราก็รอความหวังในช่วงไตรมาสสองและครึ่งปีหลัง

80 views

Comments


bottom of page