top of page
312345.jpg

วิกฤตินี้ รายเล็กเจ็บหนัก! สายป่านสั้น..Cash Flow สะดุด



มาตรการล็อกดาวน์มีสิทธิ์ยืดเยื้อเพื่อรอวัคซีนที่ยังไม่มาตามนัด เชื่อ...คนติดเชื้อที่ยังไม่ตรวจมีอีกมาก การแพร่กระจายของโควิด-19 จึงยังอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกพักใหญ่ กลุ่มที่น่าห่วงคือเจ้าของธุรกิจ SME และคนที่อยู่นอกระบบสาธารณสุข-นอกระบบประกันสังคม ภาคส่งออกที่ดูเหมือนจะเริ่มฟื้นตัวกำลังเจอปัญหาการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในโรงงานขนาดใหญ่ อาจกระทบสายพานการผลิตและการส่งออกในที่สุด ย้ำ...วิกฤตครั้งนี้ ไม่ใช่ความผิดของประชาชน แต่ผิดที่ระบบสาธารณสุข และความหละหลวมของภาครัฐ ทั้งแผนนำเข้า-ฉีดวัคซีน การปล่อยคนลักลอบเข้าเมืองและนำเชื้อมาแพร่ แนะ...เวลานี้รัฐบาลกู้ได้ต้องกู้เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชนที่เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ส่วนสถาบันการเงินแม้ตอนนี้จะแข็งแกร่ง แต่ถ้าไม่เข้ามาช่วยผู้ประกอบการ ในที่สุดจะเอวังร่วมกันทั้งประเทศ

Interview : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเศรษฐกิจ

และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


ล็อกดาวน์จะเข้มข้นมากขึ้น การติดเชื้อข้ามไปหลักหมื่นและเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

ถ้าดูอย่างนี้ก็ใช่ เพราะที่เราเห็นการติดเชื้อวันละเกือบหมื่นจนถึงหมื่นกว่าคนนั้น จริงๆ แล้วเรา testing ไม่พอ ประเทศไทยมีประชากรเท่ากับอังกฤษ จริงๆ มากกว่าอังกฤษนิดหน่อย แต่ประเทศไทยทำ test วันละประมาณ 80,000 ราย อังกฤษทำ 1 ล้านต่อวัน พูดง่ายๆ คือตอนนี้คนติดเชื้อยังมี และคนติดเชื้อที่ไม่ได้ตรวจมีเยอะแยะเต็มไปหมด ถึงแพร่ไปได้อีกไกล


ถ้าเป็นแบบนี้คนไทยควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรถึงจะรอดจากวิกฤตนี้ได้ทั้งคนและตัวธุรกิจด้วย

แต่ละคนคงต้องดูแลตัวเอง อย่างที่เราอยากได้วัคซีนเร็วที่สุด แต่หลายคนถูกเท อันนี้ก็ต้องระวังตัวอย่างมาก ส่วนภาคธุรกิจเราก็รู้ว่าธุรกิจที่ลำบากที่สุดเป็น SME และบุคคลที่ลำบากที่สุดคือ คนที่ทำงานอยู่นอกระบบสาธารณสุข นอกระบบประกันสังคม รัฐบาลน่าจะต้องช่วย 2 กลุ่มนี้ให้ทั่วถึง ไม่อย่างนั้นไม่รอด ก็น่าเป็นห่วงมากในสถานการณ์อีก 1-2 เดือนข้างหน้า


ดูแล้วอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยดีไม่ดีจะติดลบไหม

อันนี้ไม่แน่ใจ เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ที่โตได้เพราะการส่งออกเท่านั้น แต่คำถามคือข่าวล่าสุดที่เห็นมีการติดเชื้อหลายร้อยคนที่โรงงานเบทาโกรที่ส่งออกไก่แช่แข็ง ถ้ามีการระบาดไปโรงงานต่างๆ จนกระทั่งบริษัทที่เขาผลิตเพื่อส่งออกเขาต้องปิดโรงงานและส่งออกไม่ได้ GDP อาจจะติดลบก็ได้ ต้องคอยดูเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่าไม่รู้ และก่อนหน้านี้จำได้ไหมว่าบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็ติดเชื้อเยอะแยะ ก็มีผลต่อปริมาณการผลิตเพื่อส่งออกของเขาแน่นอน


ท่องเที่ยวไทยตอนนี้ไม่ดีแน่นอน ต่อให้เปิดแซนด์บอกซ์ จะไปหวังพึ่งส่งออกว่าน่าจะดีเพราะเห็นตัวเลข 2-3 เดือนที่ผ่านมาเมืองนอกพลิกฟื้นแล้ว แต่มองแล้วความต้องการซื้อจากเมืองนอกยังไม่ดี หรือแค่ซื้อเวลา

ตัวเลขส่งออกที่ดูดีคือในเดือนพฤษภาคม แต่เราก็รู้กันว่าการระบาดที่มันหนักจริงๆ มันหนักตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่หนักที่สุดก็เดือนกรกฎาคม ตัวเลขจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม เชื่อไหมว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจากวันที่ 30 มิถุนายนที่มีอยู่ประมาณ 49,799 คน เวลาผ่านไป 11 วัน กลายเป็น 85,000 เพิ่มขึ้น 35,000 ในเวลาอันสั้น แปลว่าระบาดเร็วมาก เพราะปีที่แล้วทั้งปีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อวันที่ 10 เมษายนปีที่แล้ว 1,427 วันนี้เรามี 85,000 ผมไม่แน่ใจว่าถ้าคุมไม่อยู่ การติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกแค่ไหน ซึ่งก็ยังมีข่าวว่าที่แม่สอดประกาศเคอร์ฟิว ก็เป็นพื้นที่ทำการค้าชายแดนซึ่งก็ส่งออกเหมือนกัน ก็ส่งผลกระทบ


ถ้าเป็นแบบนี้ไทยจะเจอวิกฤตด้านเศรษฐกิจ การเงิน ขนานใหญ่อีกครั้งไหม

จะไม่เหมือนต้มยำกุ้งเพราะต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตคนรวย ถ้าจำได้คนรวยไปกู้เงินดอลลาร์มาแล้วค่าเงินบาทลงแบบทันด่วนภายใน 1-2 วัน จาก 25 บาทเป็น 50 บาท ตอนนั้นเกิดวิกฤตสถาบันการเงินล้ม แต่รอบนี้สถาบันการเงินและบริษัทใหญ่เขามีสายป่านค่อนข้างยาว ดอกเบี้ยไม่สูง ที่มีปัญหาคือรายย่อยรายเล็กที่ต้องพึ่ง cash flow ต้องจ่ายเงินลูกจ้างทุกวัน และกลุ่มลูกจ้างที่อยู่นอกประกันสังคมซึ่งไม่มีอะไรมารองรับเขาเลย จึงมีปัญหาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ตอนนี้มันกระทบคนที่เดิมทีสถานการณ์ก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้วก็อยากให้รัฐบาลรับรู้จริงๆ ว่าอันนี้ไม่ใช่ความผิดของประชาชนและประชาชนก็ต่อสู้มาทั้งปีแล้ว ถ้าจะต้องปิดล็อกดาวน์จากสาธารณสุขมีปัญหา รัฐบาลต้องเยียวยาให้ทันท่วงทีและทั่วถึงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ ผมคิดว่าควรรีบเร่งตรงนี้


ถ้าคนไม่ได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว เขาจะอยู่ในสภาวะที่รายได้ไม่มี หนี้บาน ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ทั่วประเทศ ระบบสถาบันการเงินจะเอาอยู่ไหม

สถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบและมีปัญหาในที่สุดถ้ายังปล่อยยืดเยื้อไปเรื่อยๆ แต่ที่สำคัญกว่าคือความยากลำบากของคนตัวเล็กๆ เยอะแยะไปหมด อันนี้เป็นปัญหาสำคัญกว่า เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่รุนแรงกว่าปัญหาสถาบันการเงิน ถ้าจะถามให้สถาบันการเงินช่วยอย่างที่พูดกันหรือยัง ก็ช่วยไม่ได้เพราะอย่างมากช่วยแค่ลดดอกเบี้ยได้นิดหน่อย แต่ปัญหาคือคนตกงาน คนไม่มีเงินเดือน แค่ลดดอกเบี้ยจะช่วยอะไรได้


ถ้าช่วยแบบรัฐบาลเคยช่วย แจกเงินเข้ากระเป๋าเดือนละ 5,000 บาทพอไหม

นึกภาพคนละครึ่งเวลาเราไปซื้อของสักอย่าง เราจ่าย 100 บาท รัฐบาลจ่าย 100 บาท ที่บอกเป็นที่นิยมมากมีคนลงทะเบียน 30 ล้านคน ปัญหาคือตอนนี้คุณไม่ให้ออกจากบ้านเพราะถ้าจะทำอย่างนั้นคุณต้องออกไปนอกบ้าน ผมไม่แน่ใจว่าใช้ผ่าน grab ได้หรือไม่ คนละครึ่งแบบนั้นผมอยากให้คนละครึ่งแบบรัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างกับนายจ้างดีกว่าไหม หรือจ่ายค่าเช่าเป็นฝ่ายผู้ให้เช่าพื้นที่รับครึ่งนึงจากผู้เช่า แล้วให้รัฐบาลจ่ายอีกครึ่งนึงได้ไหม หรือบริษัทเล็กๆ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าได้ไหม อย่างนั้นจะตรงเป้ากว่า


ปัญหาคือรัฐบาลจะมีเงินมาช่วยไหม เพราะติดเพดานหนี้ถ้าจะกู้เพิ่ม

ผมไม่กลัวอันนั้นเลย คือตอนนี้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะ GDP จะขึ้นไปเป็น 5.9% แล้ว ผมมี 2 ประเด็น อันที่ 1 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP 90% ถามว่าใครลำบากกว่ากัน 2. ถ้าเอาสัดส่วนของหนี้ที่เราต้อง record ว่าเป็นหนี้สาธารณะของรัฐบาลซึ่งจริงๆ รัฐบาลไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย รัฐบาลแค่ค้ำประกันให้หนี้รัฐวิสาหกิจ ตรงที่ค้ำไม่ได้เป็นภาระของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ เช่น ปตท. กำไรเยอะแยะ ไม่มีทางที่จะมีปัญหา ถ้าตัดเอาส่วนหนี้รัฐบาลค้ำออกไป หนี้สาธารณะต่อ GDP เหลือ 40% กว่า รัฐบาลยังมีศักยภาพในการกู้ได้อีกเยอะแต่ประเด็นที่สำคัญ คือ 1 ปีที่ผ่านมาประชาชนทำอะไรผิด ที่เราเดินมาถึงจุดนี้ได้ต้องยอมรับว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่พาประเทศไทยมาถึงจุดนี้ ที่มีคนติดเชื้อวันละเกิน 10,000 คน ในช่วงที่ผ่านมาที่มีการระบาดเพิ่มเพราะมีคนลักลอบเข้าเพราะมีกระบวนการคนของรัฐช่วยให้ลักลอบเข้ามาได้ มีเรื่องการติดเชื้อที่ทองหล่อ สังเกตดูว่าเป็นความผิดของประชาชนไหม ถ้าล็อกดาวน์รัฐบาลก็ต้องเยียวยาประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่


237 views
bottom of page