top of page
379208.jpg

ระวัง! เงินหมดหน้าตักก่อน หาก COVID-19 ยืดเยื้อ...แนะภาครัฐใช้เงินให้คุ้มค่าและตรงเป้า



Interview: ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์มหภาค


หลังโควิด-19 หยุดระบาด เศรษฐกิจของประเทศที่ใช้เงินสู้โควิด-19 ไม่มากจะฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศที่ทุ่มหมดหน้าตัก ของไทยเข้าข่ายใช้เงินมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกคือ 10% ของ GDP หวั่น...หากโควิด-19 ยังระบาดต่อเนื่องยาวนาน ไทยอาจร่อแร่ เงินหมดหน้าตัก พร้อมแนะภาครัฐใช้เงินให้คุ้มค่า ตรงเป้า ไม่รั่วไหล เพื่อจะไม่เป็นภาระรัฐบาลใหม่และประชาชน


ถึงตอนนี้ มองสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยอย่างไร

ในส่วนเศรษฐกิจโลก ทุกคนก็ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจโลกถูกกระทบด้วยโควิด-19 ต้นเหตุคือการโจมตีด้วยโรคระบาด ซึ่งได้กระทบสุขภาพของประชาชนเป็นอันดับแรก ตัวแปรที่ตามมาก็คือเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจไม่ใช่ตัวแปรต้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกันว่า เวลาที่เราจะออกแบบวิธีแก้ปัญหา ควรจะออกแบบในลักษณะไหน คงจะต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ แต่เนื่องจากการกระทบต่อเศรษฐกิจมันรุนแรงมาก โดยโรคระบาดเข้ามาโจมตีแบบไม่รู้ตัว ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว และประชาชนก็แตกตื่นมาก ไม่สามารถออกไปทำงานได้ ตรงนี้จึงกระทบเศรษฐกิจมาก ซึ่งเข้าไปสู่ประเด็นที่ว่ารัฐบาลก็คงต้องประเมินพอสมควรว่ารัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาให้ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของแต่ละรัฐบาลและการเมืองของประเทศนั้นๆ ด้วยว่าจะใช้เงินมากน้อยแค่ไหน ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ก็ออกมาช่วยเหมือนๆ กันในเรื่องสภาพคล่อง

ยกแรกก็ถือว่ามีปัญหามากเหมือนกัน คือทุกคนพยายามเก็บเงินสดไว้ หรือฝากแบงก์ไว้ก็ยังดี อะไรที่เป็นตราสารหนี้ก็ขายทิ้ง ขณะที่รัฐบาล กระทรวงการคลังก็พยายามจะเข้ามาดูแลเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็พยายามดูแลในเชิงของที่เกี่ยวกับสุขภาพอันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เนื่องจากมีหลายประเทศใกล้เลือกตั้ง ฉะนั้นประธานาธิบดีก็อยากที่จะไม่ให้ตัวเองแพ้เลือกตั้ง ก็ต้องเทเงินออกมาเยอะหน่อย จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาใช้เงินมากทีเดียว คือ 20% ของจีดีพี

ที่เฟดและหลายๆ ชาติทำกัน ถ้าโควิด-19 ยังระบาดไม่หยุด ยังจะพอมีกระสุนเหลืออยู่สำหรับระยะยาวไหม

ก็บักโกรก เพราะที่สำคัญก็คือเรายังไม่รู้จักไวรัสตัวนี้ดีพอ และการกลายพันธุ์มันรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เหล่านี้คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังมองไม่ออกเท่าไหร่ ถ้ามองเฉพาะเฟดแรกก็หมายถึงว่าอาจจะมีวัคซีนป้องกันประมาณมีนาคม 2564 ซึ่งหากเป็นราคาคุยก็ธันวาคมปีนี้มีวัคซีน ดังนั้นช่วงแรกจะเป็นช่วงปิดประเทศ ปิดเมืองบ้าง แต่ถ้าสถานการณ์มันเอาไม่อยู่ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกันว่าจะมีกระสุนพอหรือไม่ ดังนั้น ที่มีการเทหมดหน้าตักในตอนแรก พวกนี้จะมีปัญหา มีความเสี่ยงมาก คือถ้าโชคดีมันจบมิถุนายนหรือในเดือนสิงหาคมก็สบายใจไป แต่ถ้าไม่จบหรือมันมาใหม่ มาใหม่ต้นปีหน้า วัคซีนตัวใหม่ออกมา ตัวใหม่ก็ตามมาด้วยก็จะทำให้ทุกประเทศลำบากแน่ เพราะฉะนั้นในภาพรวมก็หมายถึงว่าการประเมินเศรษฐกิจระยะยาวขณะนี้ เป็นการประเมินที่ยากมาก ก็ขึ้นอยู่กับตัวโควิด-19 จะมาอีกกี่สายพันธุ์ และยังมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกไหม ตัวนี้คือตัวที่มีปัญหามาก

สำหรับประเทศที่ใช้เงินมากๆ จะมีอยู่ประมาณ 10 กว่าประเทศ แต่ว่าก็ยังไม่ได้แยกว่ามาจากสภาพคล่องหรือกระทรวงการคลัง คือคร่าวๆ ค่อนข้างจะมาก ส่วนไทยถือเป็นประเทศกำลังจะพัฒนาที่ใช้งบสำหรับเรื่องนี้มากที่สุด อันนี้น่ากลัว คือใช้งบ 10% ของจีดีพี พูดง่ายๆ ว่าติดอันดับท็อปๆ ของโลกเหมือนกันที่ใช้เงินเยอะ ซึ่งเราถูกกระทบจากโควิด-19 แรงจริงๆ หรือก็ไม่ใช่ คือไม่แรงเท่าอิตาลี สหรัฐอเมริกา ที่เขาเสียชีวิตมากและระบาดมาก แต่ก็มีบางประเทศที่ใช้งบไม่มากนัก คือ 5% ของจีดีพี พวกนี้ก็จะเป็นไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งสิงคโปร์อาจจะสูงหน่อย ส่วนอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์จะไม่มากนัก อินเดียน้อยที่สุด เพราะฉะนั้น ในระยะยาวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 กล่าวคือปีหน้าหรือสองสามปีข้างหน้า ประเทศกลุ่มที่ใช้น้อย เทหน้าตักลงไปน้อย จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศที่เทลงไปเยอะๆ ในตอนนี้

ถ้าเทียบ The Great Depression 1930 กับเหตุการณ์ครั้งนี้ ภาพจะเป็นอย่างไร

ก็มันจะยาว มีความแตกต่าง Great Depression เกิดจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลง และรัฐบาลก็มีกำลังไม่มากพอ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็เลยมีปัญหา แล้วก็เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และเกิดยาวนานมาก ขณะนั้นนักเศรษฐศาสตร์หรือรัฐบาลยังมีประสบการณ์น้อยมากในการดูแลเศรษฐกิจ เวลามีปัญหาทุกคนก็บอกตัวใครตัวมันแล้วกัน รัฐบาลไม่ควรเข้ามายุ่ง ไม่ควรเข้าไปดูแลอะไรทั้งสิ้น ปล่อยไปตามยถากรรม ฉะนั้นยุคนั้นเป็นยุคที่ไม่ได้ใช้แนวทางทางเศรษฐศาสตร์เอามาใช้จริงๆ ก็สงครามโลกที่สองแล้ว ฉะนั้น Depression ช่วงนั้น จะเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ไม่ได้ถูกโจมตีโดยเชื้อโรค แต่ถูกโจมตีโดยฝีมือของรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาเอง ก็คือหนึ่งไปรบกัน สองเข้าไปวุ่นวายเศรษฐกิจมากจนเศรษฐกิจบอบช้ำ เข้าไปกีดกันทางการค้าบ้าง ตัวนี้มันทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาขึ้นมา พอถอนพวกนี้มาทุกอย่างก็ดีขึ้น และกรณีที่เข้ามาฟื้นฟูบูรณะภายหลังสงครามก็หมายถึงว่าหลายๆ ประเทศพอมีกำลังที่จะฟื้นฟู ก็เลยทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาดีขึ้นมา หลังจากเกิด Depression มา 3-4 ปี ก็เริ่มดีขึ้น

แต่ว่าครั้งนี้มันไม่เหมือนกัน ครั้งนี้มันเกิดจากการที่มาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เหมือนเป็นสงครามไม่ได้ประกาศ คืออยู่ๆ เชื้อโรคก็มาโจมตีเลย แล้วก็ไม่บอกด้วย โจมตีไปแล้วเป็นเดือนถึงรู้ว่ามันมีอยู่แล้ว ตัวนี้เอง หลายคนบอกว่าปล่อยไปตามยถากรรมอัตราการตายแค่ 2% เอง บางรัฐบาลที่คล้ายๆ ว่าไม่สนใจก็จะมาแนวว่าปล่อยไปก่อนไม่เป็นไรหรอก ยังซื้อเวลาได้ ฉะนั้นจะเห็นหลายๆ ประเทศไม่ทำอะไรเลย ทำน้อยมาก ปล่อยไป แล้วคิดว่าคงไม่มีอะไรหรอก เดี๋ยวก็เป็นโรคประจำท้องถิ่นไป เดี๋ยวก็มีคนที่มีภูมิคุ้มกัน แต่พอไปสักระยะหนึ่ง กลับกลายมาถึงตัว เช่นโป๊ปที่เจอปัญหา คนสงสัยว่าติดโควิด-19 รึเปล่า ไม่นานก็เจอติดในผู้นำอะไรต่างๆ เหล่านี้ คนที่เป็นชั้นสูง เป็นผู้ปกครอง เริ่มอยู่ใกล้ตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้เริ่มรู้สึกว่าแนวคิดที่บอกว่าไม่เป็นไร ปล่อยไปตามยถากรรม ตามสภาพเดี๋ยวมันก็ดีเอง แต่ก็มาถึงตัวแล้ว ก็เลยทำให้หลายๆ ประเทศต้องล็อกประเทศ


ประเด็นก็คือ พอเริ่มจะล็อกโดยไม่ได้เตรียมการมาก่อน ไม่ได้วางแผนแต่ต้น ไม่ได้กระตุ้นให้ประชาชนระวังแต่ต้น ไม่ได้บอกประชาชนให้สวมใส่หน้ากากตั้งแต่ต้น ไม่ได้วางแผนเรื่องเครื่องมือทางการแพทย์ที่เพียงพอ และไม่ได้ฟังคนที่อยู่ในวงการจริงๆ มากพอ ตอนหลังนี่ดีขึ้น เราจึงเห็นว่าเอกชนเขาปรับตัวเร็วที่สุด คือเริ่มให้ทำงานที่บ้าน เขาเริ่มมาก่อนที่รัฐบาลประเทศต่างๆ จะเริ่มดำเนินการ เพราะฉะนั้นตัวเลขก็เริ่มดีขึ้น แต่ขณะนี้ที่เริ่มดีขึ้นไม่รู้ว่าจะดีจริงหรือเปล่า

เรื่องของต่างประเทศที่ใช้เงินกันเยอะๆ จะมากระทบไทยหรือไม่ ในฐานะที่เคยเกิดกับแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ลดดอกเบี้ย

คือใช้เยอะ ช่วยเยอะ ช่วยทุกประเทศ หลายๆ ประเทศช่วยกันลงทุน ช่วยกันทำการกระตุ้นให้มีกำลังซื้อก็จะช่วย แต่ว่ามันช่วยได้ไม่มากหรอก เพราะขณะนี้การซื้อขายระหว่างประเทศไม่ได้เยอะ แต่ก็ถือว่าไปในทางที่ช่วยมากกว่าไม่ช่วย อันที่สองคือการใช้มาตรการพยุงโดยผ่านนโยบายทางการเงิน มันมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนบ้าง แต่เนื่องจากหลายๆ ประเทศทำ มันก็คงจะทำให้สภาพคล่องเพียงพอในการที่จะดูแลธุรกิจและการใช้จ่ายของประชาชน ก็ถือว่าทำดีกว่าไม่ทำ หากไม่ทำอะไรเลย จะเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือไม่ป้องกันการระบาด ตรงนี้จะเลวร้ายที่สุด และเลวร้ายลงมาก็คือไม่ดูสภาพคล่องให้เพียงพอ

ล่าสุดของไทย ที่ออกมาตรการใส่เงินเข้าไปอีก เตรียมไว้อีก 2 ล้านล้านบาท ตรงนี้ถึงขั้นมีคนไปว่าแบงก์ชาติเข้ามายุ่งทำไม

เราก็ต้องมองเป็น 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินกับตลาดพันธบัตรของแบงก์ชาติ กับส่วนที่เป็นภาคเศรษฐกิจจริงที่รัฐบาลเข้าไปเยียวยา จะเห็นว่ารัฐบาลไม่ค่อยไปเน้นเรื่องการดูแลจัดระบบภาคเศรษฐกิจเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะไปดูว่าจะเยียวยาประชาชนอย่างไร ความรู้สึกเราจะเหมือนกับหลายคนไหมว่ารัฐบาลไทยก็ค่อนข้างจะพอมีเงิน อยู่ๆ สามารถกู้เงินได้หลายๆ ล้านบาท ก็ต้องดูว่ามีเงิน ถ้าไม่มีเงินจะไปกู้ได้หรือ สรุปก็คือว่ารัฐบาลยังมั่นใจว่า รัฐบาลยังมีสถานะการเงินดี พร้อมที่จะเยียวยา แต่เยียวยาจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ถูกทางหรือไม่ถูกทางก็อีกประเด็นหนึ่ง

ส่วนตัวคิดว่าตรงนี้มันก็มีข้อดีข้อเสีย ถ้าคุณใช้มาตรการประเภทสุรุ่ยสุร่าย ไม่เข้าเป้า ก็หมายความว่าต้นทุนของคุณมันไม่คุ้มกับผลที่ได้ กับสิ่งที่เกิดขึ้น กระสุนที่คุณใช้ไปถ้ามันหมดก่อนเมื่อไหร่ แล้วถ้าเกิดมาอีก 2-3 ปีข้างหน้า สมมุติว่าโควิด-19 มันไม่จบภายในปีนี้ มันลากไป 3-5 ปี คุณก็ต้องเตรียมตัวไว้ แต่ขณะนั้นรัฐบาลนี้คงไม่อยู่แล้ว ส่วนตัวมองอย่างนั้น มองว่าไม่อยู่ถึง 20 ปี ซึ่งเราเป็นหนี้จากที่รัฐบาลคิดแทนเรา เขาบอกเขาดูแลผู้เสียภาษี ตรงนี้ก็เป็นประเด็นนึง ก็ทิ้งไว้ให้เป็นโจทย์ ไม่อยากออกความเห็นเยอะ เรื่องทางภาคการคลัง ส่วนตัวมองว่า ตอนนี้ประชาชนก็พอประเมินได้ว่ารัฐบาลท่าทางจะพอมีเงิน ไม่ยากจน ไม่แพ้สหรัฐอเมริกา คือไทยไม่จนกว่าสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาใช้ 20% กว่า เราใช้ 10% ของจีดีพี

ส่วนทางภาคการเงินมันมีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ที่มีปัญหากองทุนที่คนออกมาเทขาย ตลาดเงิน หุ้นกู้ กองทุนตลาดเงิน หลังๆ คนไม่ได้ฝากแบงก์อย่างเดียว เขาไปลงทุนในกองทุนตลาดเงิน ทีนี้กองทุนตลาดเงินมี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งคือไส้ในเป็นพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักเกือบทั้งหมดเลย หรือทั้งหมดเลยก็มี อันนี้มันจะเซฟ แต่มันก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นพันธบัตรของเอกชน พวกนี้จะให้อัตราตอบแทนค่อนข้างสูง ดังนั้นก็จะมีกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาลงทุน ไปฝากกองทุนตลาดเงินที่มีหุ้นกู้เอกชน ซึ่งพอเหตุการณ์มันไม่ดีคนที่ถือตรงนี้เริ่มกังวล เริ่มขายทิ้งเอาเงินไปฝากแบงก์ดีกว่า ดังนั้นเลยเกิดปัญหาขึ้นมา เข้าใจว่าแบงก์ชาติก็คงจะตกใจเหมือนกันว่าอยู่ๆ มันเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นก็เลยออกมาตรการลดดอกเบี้ยทันที และหาทางเอาสภาพคล่องออกมาเพื่อให้สถาบันการเงินสามารถเข้าไปซื้อได้ และเอาเงินที่จะซื้อไปกู้จากแบงก์ชาติอีกทีได้

สรุปแล้ว วิธีการดูแลสภาพคล่องที่มันติดขัด เป็นเรื่องถูกแล้ว ที่เหลือจะเป็นเรื่องของรายละเอียดว่า จะทำอย่างไรให้กระบวนการเข้าไปดูแลหนี้ภาคเอกชนมันโปร่งใส ก็เป็นเรื่องของแบงก์ชาติที่จะต้องดูแลต่อไป

25 views

コメント


bottom of page