นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ว่า มาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่เป็นเศรษฐกิจระดับฐานรากและส่งเสริมการอ่านอันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. สาระสำคัญของมาตรการ
กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในประเทศที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยไม่รวมถึง 1) ค่าสุรา เบียร์ และไวน์ 2) ค่ายาสูบ 3) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 4) ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 5) ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 6) ค่าบริการจัดนำเที่ยว และ 7) ค่าที่พักในโรงแรม ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้ต้องไม่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการคนละครึ่งหรือโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
กระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 111,000 ล้านบาท และจะส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.30 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาว
รองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการ/มาตรการ ได้แก่ “โครงการคนละครึ่ง” จะช่วยเหลือดูแลพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดา “โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จะช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการเพิ่มวงเงินพิเศษ สำหรับซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน และ “มาตรการช้อปดีมีคืน” จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและส่งเสริมการอ่าน ทั้งนี้ โครงการ/มาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 28 ล้านคน โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 192,000 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.54
Commentaires