top of page
379208.jpg

โรงเรียนเปิดเทอม ช่วยธุรกิจนม 1.4 หมื่นล้าน


Commentary : คุณณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช

รองประธาน ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย

กรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จังหวัดมหาสารคาม


พิษโควิดทำโรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม กระทบวงจรนมโรงเรียนมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี น้ำนมดิบจากเกษตรกรทั่วประเทศรวมถึงนมกล่องเริ่มล้นสต็อก มีโอกาสบูดเน่าก่อนเปิดเทอม 1 ก.ค. หนำซ้ำสิทธิ์เด็กจัดสรรดื่มนมกล่องโรงเรียนฟรี ลดจาก 7.9 ล้านคนต่อวัน เหลือ 7 ล้านคนต่อวัน กระทบวงจรการผลิตตั้งแต่การผลิตน้ำนมดิบไปจนถึงโรงงานนมกล่อง ‘สหกรณ์โคนม’ ร้องขอทางรอด ให้แจกนมโรงเรียนปีละ 365 วัน ขยายแจกนมโรงเรียนจากจันทร์-ศุกร์ เพิ่มเป็นเสาร์-อาทิตย์ด้วย พร้อมแนะรัฐบาลควรมองและพัฒนาอุตฯ นมให้เป็นระบบ เพราะโยงใยหลายภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกรโคนม กระบวนการแปรรูปนม โรงงานกล่องนม หลอด ตลอดจนระบบขนส่ง ต้องเร่งพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและทุนเพื่อให้อุตฯ นมสดไทยแข็งแกร่ง รับมือนมผงต่างประเทศที่จะนำเข้าเสรีในปี 2568 ที่สำคัญคือการต่อลมหายใจเกษตรกรที่ทำฟาร์มโคนมรายย่อยทั่วประเทศให้สามารถยืนหยัดทำอาชีพต่อไปได้อย่างยั่งยืน


สถานการณ์ผู้เลี้ยงโคนมเวลานี้เป็นอย่างไร

สถานการณ์ภาพรวมตอนนี้คงหนักกันทั้งประเทศ เกษตรกรมีการรีดนมวัวทุกวัน ขณะเดียวกัน มีปัญหา 2 ประเด็น คือภาวะเศรษฐกิจกับเรื่องโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง โรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม ดังนั้น การรีดนมต่อวันเริ่มมีปัญหา วงการโคนมเราโชคดีหน่อย เรายังมีอาชีพพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงเมตตาอาชีพโคนม ทำให้สามารถสื่อสารต่ออาชีพ เรามีการขายนมระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกร และก็มีราคาซื้อประกัน มีพ.ร.บ.โคนม นี่คือโอกาสของเกษตรกร

แต่กลไกจริงต้องยอมรับว่า น้ำนมดิบส่วนหนึ่งอยู่ในโครงการอาหารเสริมกับโรงเรียนเป็นหลัก และมีผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการประมาณ 85 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นมโรงเรียนก็จะประมาณ 14,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกระจายสู่ท้องถิ่น ดังนั้น ปัจจุบันก็มีประเด็น 2 ประเด็นหลักๆ ก็คือโรงเรียนเลื่อนเปิดเทอมและปิดเทอมก่อนกำหนดด้วย จริงๆ ปิดเทอมวันที่ 31 มีนาคม แต่ก็มีการปิดเทอมก่อน กลไกปกติของระบบ จะมีส่วนหนึ่ง ที่ต้องใส่กล่องไปเป็นนมโรงเรียนและเป็นนมพาณิชย์ ในส่วนค่านมดิบ ทางเกษตรกรก็ต้องหามาจ่ายตามปกติ เมื่อเลื่อนเปิดโรงเรียนนานๆ ไป นมกล่องที่ค้างสต็อกอยู่ก็หมดอายุเพราะอายุมันมีจำกัด ปัญหาที่ 2 คือสิทธิ์ของเด็กนักเรียนมันลดลง ปกติที่ผ่านมาเด็กจัดสรรอยู่ประมาณ 7.9 ล้านคนต่อวัน ตั้งแต่อนุบาล ถึงชั้น ป.6 ปัจจุบันนี้ คณะกรรมการจัดสรรที่ 7 ล้านกว่าคน แปลว่าหายไป 9 แสนกว่าคนต่อวัน ขณะที่งบประมาณยังคงเท่าเดิม คือ 1.4 หมื่นล้านบาท ในส่วนการจัดซื้อลดลง

สิ่งที่มองอยู่และเป็นห่วงก็คือนมที่ใส่กล่องไว้ ถ้ายังเปิดเทอมช้า และถ้ายังไม่มีนโยบายเอาส่วนต่างที่มันลดลงไป 9 แสนหน่วยต่อวัน มาช่วยระบาย หรือให้เด็กกินเสาร์อาทิตย์เพิ่มขึ้น โดยงบประมาณอาจจะไม่เพิ่มเท่าไหร่ พูดง่ายๆ คือเดิมจัดสรร 7.9 ล้านหน่วยต่อวัน แต่วันนี้จัดสรรแค่ 7 ล้านกว่าหน่วยต่อวัน ยังมีช่องว่างอยู่ สิ่งที่เรามองตรงนี้คือเราห่วงว่ากลไกตรงนี้อาจจะมีปัญหาในเรื่องน้ำนมดิบกับอายุของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นเรื่องนมโรงเรียน ทางท่านประธานชุมนุมสหกรณ์และคณะกรรมการของพวกเราก็ขอให้เป็นจัดสรร 365 วัน ตอนนี้เด็กทานนมจันทร์ถึงศุกร์ ก็อยากให้เพิ่มเป็นเสาร์อาทิตย์ด้วย

ในแต่ละวัน จากดื่มคนละ 1 กล่อง ก็เป็น 2 กล่องต่อวันดีไหม


ไม่ต้องกินวันละ 2 กล่อง เอาแค่วันละกล่อง ปกติกินจันทร์ถึงศุกร์ ก็เพิ่มเป็นเสาร์อาทิตย์ด้วย เพราะปิดเทอมเด็กก็ทานจันทร์ถึงศุกร์ปกติ ก็ขอเพิ่มเสาร์อาทิตย์ อย่างน้อยในปัจจุบันนมดิบเรา มี 3.5 พันตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ว่าอาชีพนี้ก็เป็นอาชีพที่มั่นคง สำหรับกลไกนมดิบนั้น ถ้าให้บอกตรงๆ เรายังสามารถแบ่งเป็นงบประมาณกระจายสู่ท้องถิ่น รวมไปถึงนักเรียน ถ้าเกษตรกรเลี้ยงนมอยู่ในท้องถิ่น ส่วนตัวอยู่จังหวัดมหาสารคาม ก็ได้ค่านมดิบ นมโรงเรียน เราก็ไปหมุนจ่ายค่าการเกษตร เรายังได้เงินไปซื้อมันสำปะหลัง ซื้อข้าวโพด ซื้อฟางข้าว ไปซื้ออาหารสัตว์ต่างๆ มาเลี้ยงโคนม

ธุรกิจนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างอาชีพต่อเนื่อง แม้กระทั่งนมโรงเรียนยังสามารถจ้างรถขนส่ง โรงงานน้ำแข็ง โรงงานผลิตหลอด โรงงานผลิตถุง เป็นการเชื่อมต่อธุรกิจต่างๆ อีก ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้น จริงๆ ส่วนตัวอยากให้ภาครัฐมองเรื่องนี้เป็นโอกาส เพราะบ้านเราเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เราก็ไม่ใช่อุตสาหกรรมเต็มตัว เราควรจะมาพัฒนา ทำอย่างไรให้กลุ่มปลูกข้าว กลุ่มปลูกมันสำปะหลัง พวกปาล์มพวกอ้อย พวกอะไรเหล่านี้ สามารถมาเชื่อมโยงกันทั้งหมด ให้สร้างเงินหมุนเวียนกันเอง แล้วเป็นกลุ่มที่ดูแลซึ่งกันและกัน ดังนั้นอยากให้ช่วยเหลือตรงนี้

แต่ถ้าเรื่องด่วน เรื่องนมโรงเรียน อันดับแรกอยากให้เด็กมาดื่มนมเสาร์อาทิตย์ ส่วนที่สองอยากให้งบประมาณมาอยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง แล้วให้เด็กให้คนในท้องถิ่นกินนมจากชุมชนตัวเอง สร้างเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นตัวเอง

นมที่ผลิตไว้แล้ว จะหมดอายุเมื่อไหร่

นมยูเอชที ถ้าพูดง่ายๆ ตามหลักเกณฑ์มันยังไม่หมด แต่เราเป็นห่วง ห่วงว่าถ้ายังเปิดเรียนช้า และนมก็ยังมีค้างเก่าอีก ตรงนี้ถ้าระบายนมกล่องออกไปไม่หมด อาจจะมีนมเสีย เราก็เป็นห่วง ส่วนที่สอง โรงงานพาสเจอร์ไรซ์ เรามี 50 โรงทั่วประเทศ ตอนนี้ผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ จะมาซื้อนมดิบวันต่อวัน ซื้อมาแล้วก็ แปรรูป แล้วพรุ่งนี้ก็ส่งให้เด็กกิน กลไกนมพาสเจอร์ไรซ์จะดีหน่อย ก็คือจะช่วยระบายนมดิบวันต่อวันได้ดี แต่ว่าตอนนี้กลไกไม่สามารถเดินเครื่องได้เลย ตอนนี้ก็ถือว่าหยุดกันทั่วประเทศ เพราะว่าการขนส่งอะไรก็ลำบาก และเด็กก็ยังหยุดเรียนอยู่

อย่างไรก็ตามในส่วนรัฐบาล อย่ามองที่นมโรงเรียนอย่างเดียว เพราะกลไกของนมนั้นมันจะมี 3,500 ตัน และเอฟทีเอมันจะมาในปี 2568 แล้ว ถ้ารัฐจะช่วยวันนี้ เราก็อยากให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าอันไหนเป็นนมสด อันไหนเป็นนมผง ผลิตภัณฑ์ที่วางอยู่ตามท้องตลาดนั้นทางผู้บริโภคบางคนยังไม่รู้เลยว่านี่คือนมสด และนี่คือนมผง และฉลาก อย. หรือว่าฉลากอะไร อยากให้มีการตรวจสอบย้อนกลับด้วย ที่เขียนว่าใช้นมสด เป็นนมสดจริงหรือไม่ หรือเอานมผงมาละลายน้ำ อย่างน้อยตรงนี้มันก็จะเป็นโอกาส ไม่ใช่มามองตรงที่นมโรงเรียนอย่างเดียว เพราะวันนี้ส่วนตัวเชื่อว่าเด็กเริ่มติดนมจืดแล้ว เด็กจบ ป. 6 ไปแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าเด็กก็จะชินกับนมสดแล้ว อยู่ที่เราจะทำโอกาสกับเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องตลาดนมพาณิชย์ ผู้ใหญ่บางคนจะได้รู้ว่า ดูสัญลักษณ์นี้ รับรองเป็นนมสดแท้ ส่วนตัวเชื่อว่าคนไทยไม่ทิ้งกันแต่เพียงให้ได้รู้หน่อย ไม่ใช่ว่า นมวัวแดงอันนี้ใช่ โครงการสวนจิตรลดาของในหลวงใช่ หนองโพใช่ แต่ยี่ห้ออื่นที่เขาซื้อนมดิบเหมือนกัน ตรงนี้ผู้บริโภคจะไม่รู้แล้วก็ว่ามีผู้ประกอบการบางคนเอานมผงมาละลายน้ำ แล้วก็แจ้งฉลากว่าใช้นมสด กลไกนี้เราต้องตรวจสอบ ให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดูหน่อย ต้องช่วยกัน

ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์โคนม ต้องออกมา บูรณาการหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วน จะต้องเอายุทธศาสตร์มาเป็นแผนพัฒนา เรามีแผนพัฒนาแห่งชาติได้ ทำไมเราไม่มีแผนพัฒนาโคนมที่จะรองรับเอฟทีเอ อย่างน้อยเราคุยเสมอว่า เราเป็น Number One ในส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีการพัฒนาพันธุกรรมจากกรมปศุสัตว์ได้ดี วันนี้ทำไมเราไม่ชูจุดแข็งของเราตรงจุดนี้เพื่อยกระดับพี่น้องเกษตรกรของเรา รองรับเอฟทีเอในปี 2568 เพราะต่อไปนมผงต้องเปิดเสรีแล้ว แต่ถ้าวันนี้เกษตรกรของเราไม่ปรับตัว และกรมปศุสัตว์รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ไม่ช่วยกัน ตรงนี้เราก็เป็นห่วงอยู่ว่าพี่น้องเกษตรกรโคนมอาจจะเจอปัญหา โดยที่ปัจจุบันเกษตรกรโคนม เหลือแค่ 1.7 หมื่นครอบครัว วัวเหลือ 6 แสนกว่าตัว และมีปัญหาเรื่องของโควิด-19 เรื่องของเศรษฐกิจ และเรื่องเอฟทีเอที่จะเข้ามา ซึ่งจะทำให้สถานการณ์โคนมตกอยู่ในฐานะที่หนักขึ้นไปอีก

ตอนนี้คนก็ไม่อยากเลี้ยงโคนมกันแล้ว

ส่วนตัวห่วง เพราะตอนนี้เกษตรกรที่เลี้ยงโคนมมีอายุเฉลี่ย 60 กว่าปีแล้ว และที่สำคัญถ้าลูกหลานไม่มาต่อหรือสืบทายาท หรือไม่มีรุ่นใหม่เข้ามา อาจจะลำบาก สิ่งสำคัญเราต้องมีเทคโนโลยี มีวิชาการ และมีอะไรต่างๆ ที่สำคัญคือทุน เข้ามายกระดับพัฒนา ไม่ใช่มาเลี้ยงในคอกไม่กี่ตัว ตอนนี้ต้องเอาเครื่องมือเครื่องจักร เอา Application เรื่องของการลงบันทึกประวัติวัว เรื่องของการตรวจสอบต้นทุน การวิเคราะห์ การผลิตสูตรอาหาร เราต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว ต่อไปอาจจะเหลือไม่กี่ฟาร์ม และจะเป็นฟาร์มใหญ่ทั้งนั้น มันจะเหมือนนิวซีแลนด์และออสเตรเลียไปแล้วตอนนี้

ไม่เห็นด้วยใช่หรือไม่ ที่ฟาร์มเล็กๆ ต้องล้มหายตายจาก เหลือแต่ฟาร์มใหญ่ เพราะอยากให้เป็นแบบเอสเอ็มอี แบบให้ชาวบ้านได้เลี้ยง เป็นงานอดิเรกก็ได้เป็นงานเสริมก็ได้

ก็อยากให้มันเป็นแบบนั้น เพราะคำว่าสหกรณ์จริงๆ แล้วพวกเราก็อยู่กับสหกรณ์ สหกรณ์คือการรวมตัวกันของสมาชิก และกิจกรรมที่เราทำก็เหมือนกึ่งประชาธิปไตย สร้างจิตสำนึกในการทำคุณภาพให้ดี ทุกคนต้องรวมกัน คนนึงเลี้ยง 10 กิโลกรัม คนนึงเลี้ยง 100 กิโลกรัม ซึ่งสหกรณ์ผมมี 20 กว่าตัน ก็มาจากทั้งหมด 100 ครอบครัว ดังนั้น ถ้ามีใครคนนึง มียาผสมในน้ำนมดิบคนเดียว ก็จะทำให้สมาชิกทั้งหมดเสีย ดังนั้น ความรับผิดชอบ จิตสำนึก และความตั้งใจ ที่จะประกอบอาชีพร่วมกันคือหัวใจสำคัญของหลักการการรวมตัวเป็นสหกรณ์

ก็อยากจะฝากผู้บริโภค และภาครัฐ ส่วนตัวการันตีได้เลยว่า โครงการนมโรงเรียนปัจจุบัน เป็นนมสดแท้ของเกษตรกร แล้วการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเริ่มดีขึ้น แต่ว่าสิ่งหนึ่งคือการแก้ปัญหายังขาดการกระจายสู่ท้องถิ่น แล้วคณะกรรมการยังมี 2 ชุด จริงๆ ต้องมี 1 ชุด ที่สำคัญ ถ้าจะให้ดีที่สุด เราต้องยึดนมพาณิชย์ให้คนไทยได้ดื่มนมไทยแท้ ถ้านมผงก็คือมาจากต่างประเทศ เราต้องทำสัญลักษณ์ หรือส่วนกลาง ต้องมาแยกสัญลักษณ์ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าอันไหนนมสด อันไหนเป็นนมผงต่างประเทศ

80 views

Comments


bottom of page