top of page
312345.jpg

สยองโอไมครอน เขย่าประกันทั้งวงการ


ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน” สร้างความหวั่นวิตกให้กับบริษัทประกันที่ยังให้ความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบ ต่อเนื่องข้ามปีมาจากปลายปี 2564 สู่ปี 2565 หวั่นการติดเชื้อที่ลุกลามระบาดรวดเร็วจะส่งผลต่อยอดการเคลมประกัน สถานะการดำเนินงานขาดทุน และขาดสภาพคล่อง มีความเสี่ยงที่ธุรกิจยืนไม่อยู่จากที่ต้องปิดกิจการเซ่นโควิดไปแล้ว 2 บริษัท

ปี 2565 ยังคงเป็นปีที่ผู้บริหารธุรกิจประกันภัยยังคงต้องกุมขมับต่อไป ทั้งนี้จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่องมาหลายปีก่อนหน้ากระทบโดยตรงต่อธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะในรอบปี 2564 ที่ผ่านมาธุรกิจที่เป็นขารับเติมเข้าน้อยแต่ขาจ่ายมีสูง เป็นเหตุให้บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญปัญหาสภาพคล่อง จากการเคลมหนักๆ เช่น กรณีการเกิดเหตุไฟไหม้บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเคลมประกันจากกรณีประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ ทำให้บริษัทประกันเกิดปัญหาสภาพคล่องและถึงขั้นต้องปิดกิจการตามที่รายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้

สิ่งที่สร้างความกังวลให้ธุรกิจข้ามปีมาที่ปี 2565 ก็คือ การระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่ติดเชื้อง่าย แพร่กระจายเร็ว โดยจากการคาดการณ์คือ หลังการเดินทางกลับบ้าน/เที่ยวเฉลิมฉลองปีใหม่ จะเห็นการระบาดของโควิดเพิ่มมากขึ้นเป็นวงกว้างอีกครั้ง นั่นหมายถึงยอดเคลมจะยิ่งเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งยังเหลือกรมธรรม์ประกันโควิด-19 ทุกประเภทที่ยังรอเคลมอีก 8 ล้านกรมธรรม์ กว่าจะถึงวันที่อายุกรมธรรม์ประกันโควิดโดยเฉพาะแบบเจอจ่ายจบจะครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2565

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมธุรกิจประกนภัยไทย กล่าวว่าโอไมครอน อาจทำให้ธุรกิจประกันภัยมีความเสี่ยง และอาจถึงขั้นปิดตัวได้ และส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจประกันในปี 2565 ซึ่งประเมินว่า ปี2565 ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยจะไปไหนไม่ได้ไกล ธุรกิจอาจเติบโตขึ้นได้เพียง 1.5-2.5% เท่านั้น

“ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาดูคือ สถานการณ์โอไมครอน ว่าจะสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจและธุรกิจมากน้อยแค่ไหน

ภาพรวมธุรกิจประกันภัย ยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการรับประกันโควิดเจอจ่ายจบ โดยช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาพบว่าขาดทุนจากการรับประกันภัยแล้ว 37,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยมียอดเคลมประกัน 3,000 คนต่อวัน และประเมินเบื้องต้นสิ้นปีน่าจะขาดทุนจากการรับประกันภัยสูงถึง 40,000 ล้านบาท

ทางสมาคมประมาณการว่าหากโอไมครอนระบาดหนัก มีผู้ติดเชื้อกลับไปสูงระดับหลายหมื่นคนต่อวันอีก ค่าสินไหมทดแทนอาจพุ่งสูงถึง 110,000-180,000 ล้านบาท และอาจได้เห็นบริษัทประกันวินาศภัย ปิดตัวลงอีก”

วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัยอย่างรุนแรง หลังยอดเคลมประกันโควิด ประเภท เจอจ่ายจบพุ่งสูงขึ้นตามสถานการณ์การระบาดของโรค จนทำให้บริษัทประกัน 2 แห่ง ต้องปิดตัวลง โดย คปภ.ได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาต ปิดบริษัทประกันไปแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัทเอเชีย ประกันภัย และบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย การปิด 1 บริษัท จะกระทบผู้เอาประกันมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งยังไม่นับรวมธุรกิจอื่น

“ยังมีความกังวลอยู่มาก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทุกระลอกส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัยอย่างมาก หากสถานการณ์โอไมครอนในปี 2565 รุนแรงขึ้นเหมือนสายพันธุ์เดลตา อาจทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยฟื้นยาก”

นายอานนท์ กล่าวเสริมว่าทางรอดเดียวคือ คปภ.จะต้องทบทวนยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน เพื่อให้สามารถบอกเลิกความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบได้ เพราะหากให้บริษัทล้มจะยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยประเภทอื่นด้วย และจากภาพรวมธุรกิจพบว่าประกันวินาศภัยในปี 2564 ขาดทุนจากการรับประกันภัย ประมาณ 25,000 ล้านบาท เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 หากเทียบกับปี 2563 ที่มีกำไร 12,370 ล้านบาท ส่วนปี 2562 กำไร 2,290 ล้านบาท

ทั้งนี้จากยอดเคลมประกันโควิดเจอจ่ายจบพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ปี 2565 จะไม่มีการต่ออายุหรือขายประกันโควิดประเภทเจอจ่ายจบอีกต่อไป คงเหลือเพียงประกันโควิดแบบคุ้มครองภาวะโคม่าเท่านั้น

24 views
bottom of page