top of page
312345.jpg

คาดตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาฯ เอเชียแปซิฟิกฟื้นตัวปี 64


ผลการสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกที่จัดทำขึ้น บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เผยให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า มูลค่าการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นอกจากนี้  ความไม่แน่นอนที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การลงทุนมีความท้าทายมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต้องจินตาการใหม่ถึงกลยุทธ์การลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเน้นการลงทุนในตลาดหลัก และเร่งการปรับเปลี่ยนต่างๆ ที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดให้เร็วยิ่งขึ้น

ราว 84% ของผู้ตอบแบบสำรวจประเมินว่า ตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของเอเชียแปซิฟิกน่าจะเริ่มส่งสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป โดย 32% เชื่อว่าจะมูลค่าการลงทุนจะปรับตัวสูงขึ้นในครึ่งหลังของปี 2563 และ 52% เชื่อว่าจะฟื้นตัวในครึ่งแรกปี 2564

อย่างไรก็ดี ในขณะที่นักลงทุนคาดว่าการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า แต่สำหรับประเทศที่เป็นตลาดการลงทุนหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และออสเตรเลีย คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในปี 2564

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 5.29 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงจากครึ่งแรกของปี 2562 มากถึง 4.03 หมื่นล้านดอลลาร์

นายสจ๊วต โครว์ ซีอีโอหน่วยธุรกิจบริการด้านการลงทุนภาคพื้นที่เอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า “จากการพูดคุยกับลูกค้า ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า นักลงทุนจะยังคงเลือกลงทุนในทำเลและอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่สามารถต้านแรงกระทบจากวิกฤติการณ์ได้ ซึ่งหมายถึงอสังหาริมทรัพย์ที่ยังสามารถสร้างรายได้จากค่าเช่าในแดนบวกให้ได้ ดังนั้น ลูกค้าของเรายังคงสนใจการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโลจิสติกส์ (โกดังและศูนย์จัดเก็บ-กระจายสินค้า) และศูนย์การค้าที่เน้นขายสินค้าบริการที่จำเป็น นอกจากนี้ คาดว่า นักลงทุนจะกล้ารับความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนในจังหวะนี้ มีโอกาสให้ผลตอบแทนการลงทุนสูง”

สำหรับไตรมาส 3 ของปีนี้ ความไม่แน่นอนสูงยังคงเป็นความท้าทายมากที่สุดตามความเห็นของนักลงทุน โดย 60% ของนักลงทุนที่เข้าร่วมการสำรวจระบุว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้องระงับการลงทุน ตัวอย่างประเด็นความไม่แน่นอนที่นักลงทุนกังวล ได้แก่ เมื่อซื้ออาคารไปแล้ว จะมีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่ผู้เช่าจะย้ายออก หรือค่าเช่าลด รวมถึงความไม่แน่นอนว่าสินทรัพย์ที่ซื้อมาจะมีมูลค่าปรับลดลงอีกหรือไม่

สำหรับปี 2564 เจแอลแอลประเมินแนวโน้มสำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นดังนี้

  • สถานการณ์โควิด-19 จะเร่งให้แนวโน้มหลายอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ขยายตัวเร็วขึ้น อาทิ ประเภทของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ซึ่ง 81% ของนักลงทุนวางแผนที่จะลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์ในช่วงที่เหลือของปีนี้และตลอดปีหน้า


  • นักลงทุน 82% วางแผนที่จะรักษาหรือเพิ่มระดับการลงทุนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กลุ่มหลัก (อาทิ อาคารสำนักงาน) ต่อไปในช่วง 18 เดือนข้างหน้า โดยมีเพียง 6% เท่านั้นที่คาดว่าจะปรับลดการลงทุนลง

  • นักลงทุนส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนจากรายได้ต่อเนื่อง (ค่าเช่า) และมีบางส่วนที่จะลงทุนซื้อเพื่อหวังการปรับขึ้นของมูลค่าในอนาคตด้วย โดย 42% วางแผนที่จะลงทุนแบบผสม คือทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ระยะยาวและอสังหาริมทรัพย์ที่มีโอกาสมูลค่าปรับสูงขึ้น และ 49% เลือกลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วยวัตถุประสงค์อย่างหลัง

  • นักลงทุนจะเลือกรูปแบบการลงทุนมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ แม้การลงทุนส่วนใหญ่จะยังคงเป็นการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่มีนักลงทุนจำนวนมากขึ้นที่มีแผนลงทุนรูปแบบอื่นๆ โดย 32% มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มผ่านการซื้อหุ้นของบริษัทเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และ 29% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนผ่านตลาดตราสารหนี้

นายร็อดดี อลัน ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอลกล่าวว่า “การเกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 ทำให้นักลงทุนเปลี่ยนกลยุทธ์การเข้าถึงโอกาสการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แม้จะเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจะเน้นให้ความสำคัญกับโอกาสการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงในขณะนี้ แต่มีนักลงทุนในเอเชียแปซิฟิกจำนวนมากขึ้นที่ไม่เพียงใช้กลยุทธ์กระจายการลงทุนในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจินตนาการใหม่ถึงวิธีที่จะลงทุนในภูมิภาคนี้”

เจแอลแอลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนระดับโลก 38 รายที่มีพอร์ตการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์รวมมูลค่าเกือบสองล้านๆ ดอลลาร์

50 views
bottom of page