top of page
379208.jpg

ปลดแอกหนี้ THAI อีกนาน...ตลท.ให้ซื้อขายเงินสด

ศาลไต่สวนแผนฟื้นฟูฯ สายการบินแห่งชาติ THAI ตามนัด 17 สิงหาคมไม่เสร็จ สั่งต่อยก 2 และ 3 วันที่ 20-25 สิงหา ขณะเจ้าหนี้ 16 รายคัดค้านแผนฟื้นฟูฯ แต่เจ้าหนี้รายใหญ่มากกว่า 50% รวมถึงกระทรวงการคลังยกมือผ่าน ... ในเวลาไร่เรี่ยกับการไต่สวน THAI รายงานผลประกอบการขาดทุนยับเยินจนผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2563 และ 30 มิ.ย. 2563 แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใจดีแขวน SP แค่ครึ่งวันเช้า 14 สิงหา แล้วตามด้วยการแขวนป้าย C ให้นักลงทุนต้องซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance ตั้งแต่ 18 สิงหาคมเพราะส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว

กรณี การบินไทย (THAI) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการครั้งแรก วันนี้ 17 สิงหาคม 2563 เป็นเรื่องที่นักลงทุนตามติดกันไม่น้อย เนื่องจากกระเตงถือหุ้น THAI กันอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะนักลงทุนที่เข้ามาเสี่ยงลงทุนกันตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมาทั้งที่เห็นปัญหาเนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปล่อยให้มีการซื้อขายมาตลอดไม่ได้แขวนป้าย SP ห้ามซื้อขายหุ้นเพื่อเซฟนักลงทุน

รายงานจากศาลล้มละลายกลางระบุ ในการไต่สวนของศาลล้มละลายกลางวันแรก ปรากฏว่า ในการนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยครั้งแรก มีผู้ขึ้นเบิกความ 3 ปาก ประกอบด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการการบินไทย และ นางสาวชุติมา ปัญจโภคากิจ ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

ปรากฏว่าต้องต่อเวลาเนื่องจากยังต้องสืบพยานเพิ่มเติม โดยกำหนดวันนัดไต่สวนเพิ่มเติมอีก 2 วัน คือวันที่ 20 สิงหาคม และวันที่ 25 สิงหาคม ก่อนจะกำหนดวันอ่านคำพิพากษาอีกครั้งว่าจะมีคำสั่งให้ บริษัทการบินไทย เริ่มกระบวนการฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามการบินไทยเสนอมาหรือไม่ ส่วนการนัดวันอ่านคำพิพากษาจะมีขึ้นหลังการไต่สวนแล้วเสร็จ

“เนื่องจากต้องสืบพยานเพิ่มเติมทั้งฝั่งทนายเจ้าหนี้ ผู้คัดค้านแผนฟื้นฟูฯ และ ฝั่งลูกหนี้ โดยเฉพาะประเด็น”การเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว” ซึ่งในวันที่ 20 สิงหาคม จะเรียกผู้บริหาร การบินไทยมาอธิบายมาชี้แจงงบการเงิน ที่เพิ่งจัดทำแล้วเสร็จและแจ้งตลาดหลักทรัพย์ไปก่อนหน้าไม่กี่วัน และทนายความฝ่ายเจ้าหนี้ที่คัดค้านสามารถเบิกความได้ ส่วนในวันที่ 25 สิงหาคมจะเรียกพยานฝ่ายคัดค้านที่เหลือมาเบิกความอีกครั้ง”

ทั้งนี้มีเจ้าหนี้ 16 ราย ประกอบด้วย เจ้าหนี้รายย่อยอย่างน้อย 10 ราย สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล และ บริษัท ทิพยประกันชีวิต ได้ร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการเนื่องจากไม่เชื่อมั่นในบริษัทผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว ขณะที่เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่คัดค้าน

รายงานจากศาลล้มละลายกลางระบุ ประเด็นที่ทนายฝ่ายเจ้าหนี้ผู้ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยซักถามผู้บริหารการบินไทย และบริษัทผู้ทำแผนฯ ประกอบด้วย ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของกรรมการบริหาร 4 คน ของบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท ทั้งยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการการบินและธุรกิจที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทและบริษัทที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน

ประเด็นถัดมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เด็ดขาด หลังจากแผนฟื้นฟูฯ ผ่านการเห็นชอบจากศาล แล้ว จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารการบินไทยและ บริษัท อีวาย หรือไม่ เพราะทั้งสองบริษัทต้องลงนามในเอกสารร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีการสอบถามเรื่องการกำหนดค่าจ้างทำแผนฟื้นฟูกิจการ แผนธุรกิจการบินในอนาคต รวมทั้งการปรับลดเงินปันผลค้างจ่าย

อย่างไรก็ตาม นายปิยสวัสดิ์ ซึ่งขึ้นเบิกความเป็นรายที่สองตอบตอบข้อซักถามเกี่ยวกับบริษัทอีวายฯ ว่า เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายในต่างประเทศ ส่วนเรื่องประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการสายการบินนั้น เขาอธิบายว่าการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยถือเป็นกรณีแรกในประเทศไทย จึงไม่มีบริษัทรายใดมีประสบการณ์ในลักษณะนี้ และยังไม่มีการจ่ายค่าทำแผนแก่บริษัทอีวายฯ

"ค่าตอบแทนดังกล่าวเหมาะสม ได้กำหนดค่าทำแผนเบื้องต้นไว้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ อัตราค่าตอบแทนตามสัญญา 22 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรายเดือน ๆ ละ 15 ล้านบาทตลอดระยะเวลาทำแผน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนฯ จนกระทั่งเห็นชอบ"

ขณะที่นางสาวชุติมา ที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทอีวายฯ กล่าวต่อศาลว่า ไม่เคยทำงานในบริษัทจำกัดมหาชน และธุรกิจที่มีมูลค่าแสนล้านบาท และการฟื้นฟูการบินไทยถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการบินของไทย

อย่างไรก็ตามมีเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างน้อย 100 ราย รวมทั้งกระทรวงการคลัง รวมเป็นกว่า 50% ของเจ้าหนี้ ให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการการบินไทยและไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ

ทั้งนี้ประเด็นที่ศาลนัดไต่สวนเพิ่มเติม โดยยกประเด็น ”การเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว” และจะเรียกผู้บริหารการบินไทย มาให้ข้อมูลเพิ่มในวันที่ 20 สิงหาคม นั้นเนื่องจาก การบินไทยเพิ่งส่งงบการเงินไตรมาส 1 และ 2 ให้ตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา แล้วมีผลขาดทุนสรุปครึ่งปีแรกกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท หรือ ขาดทุนเพิ่มกว่า 336% จนผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินของบริษัทสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 และ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้ แต่สิ่งที่สร้างความงงงันให้ตลาดหุ้นก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับแขวนป้ายพักการซื้อขายหุ้น SP เพียงแค่ครึ่งวันเช้าของวันที่ 14 สิงหาคม และเปิดให้ซื้อขายอีกครั้งในวันจันทร์ ที่ 17 สิงหาคม ทั้งที่เป้นวันที่ศาลนัดไต่สวนแผนฯ

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มเติมว่า ในวันที่ 18 สิงหาคม ตลาดได้ขึ้นเครื่องหมาย Cเพิ่มเติมเพราะ ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบการเงิน ไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 (หุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C จะต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance โดยวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับโบรกเกอร์เต็มจำนวนก่อนซื้อหุ้น ส่วนทุนชำระแล้ว หมายถึง ทุนชำระแล้วที่หักส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นและ/หรือส่วนต่ำจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ)

บล.เอเซียพลัส ให้ความเห็นว่ากว่าที่ การบินไทยจะกลับมาให้บริการได้หลังผลกระทบโควิดใน่วงครึ่งปีหลังอาจจะช้ากว่าที่คาดการณ์ได้ จึงปรับประมาณการขาดทุนของการบินไทยในปี 2563-2564 เพิ่มขึ้นเป็น 5.2 และ 4.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่สถานะของบริษัทการบินไทยมีหนี้สินสูงกว่าสินทรัพย์ ทำให้ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้จนกว่าจะมีความชัดเจนหลังผ่านกระบวนการฟื้นฟู

ดังนั้น ด้วยสภาพที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้แขวนป้ายเพื่อป้องกันนักลงทุนเลยนับจากเดินเมษายน 2563 ที่การบินไทยกำลังเข้าสู่การตัดสินพิจารณาจากรัฐบาลว่าจะให้อยู่หรือไปอย่างไร จนมาถึงวันนี้ที่ให้ซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance ขณะที่ยังต้องรอกระบวนการฟื้นฟูฯ ที่กว่าจะเสร็จเคลียร์หนี้สินได้อีกยาวไกล นักลงทุนจึงยิ่งควรมีความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจลงทุน

15 views

Comments


bottom of page